‘วัยแรงงาน’ ป่วยโรคปวดหลังมากสุด

/data/content/25262/cms/e_dgimtuw13689.jpg


        สถิติเผยคนทำงานปวดหลังมากสุด-แนะนายจ้างปรับสภาพการทำงานให้ถูกต้อง เลือกใช้เครื่องจักรแทนกำลังคนในงานที่ต้องใช้แรงยก


        นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในฐานะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจากสถิติของกองทุนเงินทดแทนเมื่อในปี 2555 ผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อจำนวน 3,234 คนโดยคลินิกโรคจากการทำงานของกองทุนเงินทดแทนมีผู้เข้ามารับการรักษาในโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ จำนวนปีละเป็นหมื่นราย


        นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า โรคปวดหลังจากการทำงานนั้นมี 2 สาเหตุ คือ 1. สาเหตุแรกจากตัวพนักงานเอง เช่น จากอายุที่มากขึ้นมีความเสื่อมของร่างกายทำให้ปวดหลังได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว โรคประจำตัว เช่น โรคกระดูกสันหลัง หรือน้ำหนักตัวที่มากก็จะมีโอกาสปวดหลังมากกว่า โดยผู้ชายมีโอกาสปวดหลังได้มากกว่าผู้หญิงจากลักษณะการทำงาน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หลังไม่เพียงพออาจส่งผลให้ปวดหลังได้ 2. สาเหตุจากสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน คือ งานที่ต้องออกแรงมาก ทำให้กระทบต่อกล้ามเนื้อหรือหมอนรองกระดูก


          นอกจากนี้ ท่าทางเวลายกอาจจะไม่ถูกต้อง เช่น ยกของที่สูงกว่าระดับศีรษะหรือต้องก้มหลังยก ขณะที่ยกก็อาจจะต้องมีการเอี้ยวไปเอี้ยวมา อีกทั้งการขยับตัวถี่มากก็จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเอ็นก็จะส่งผลให้ปวดหลัง รวมทั้งอาจเป็นด้วยสถาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การยกของในพื้นที่ที่ไม่เรียบ พื้นที่แคบ เป็นต้น


        นพ.สมเกียรติกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ปวดหลังจากการทำงานร้อยละ 90 มีอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นจะเป็นอาการปวดหลังที่รุนแรง เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น ซึ่งการรักษานั้นหากเป็นไม่รุนแรงการพักหรือการกินยาแก้ปวดก็จะหายเป็นปกติได้โดยเวลาไม่นาน ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงมากอย่างเส้นประสาทอ่อนแรงก็อาจจะต้องมีการผ่าตัด ส่วนการป้องกันนั้น นายจ้างควรจัดสภาพการทำงานให้ถูกต้อง มีการแนะนำท่าทางที่ถูกต้องในการยกของ นอกจากนี้อาจต้องใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนในงานที่ต้องมีการยกหรือทำงานนั้นตลอดเวลา


        “กองทุนทดแทนได้ให้คำแนะนำผ่านคลินิกโรคจากการทำงาน ให้แนะนำให้มีการปรับสภาพการทำงาน ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง จะได้ไม่มีอาการปวดหลัง ซึ่งบางกรณีแพทย์พยาบาลเข้าไปในโรงงานเพื่อไปปรึกษากับนายจ้างในการปรับการทำงาน” นพ.สมเกียรติกล่าว


 


 


          ที่มา :  ASTVผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code