วัยหมดระดู : การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาของวัยหมดระดูจะช่วยให้เกิดความตระหนัก เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งของชีวิตอย่างราบรื่น
วัยหมดระดูเป็น จุดหักเห ของชีวิตสตรี เป็นระยะของการเปลี่ยนแปลงที่สตรีจำเป็นต้องเสริมเติม ความกระตือรือร้น อย่างมุ่งมั่นเข้าไป เสริมสร้างทัศนคติ ด้านบวก ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
หมดระดูเมื่อไร
ตามสถิติ สตรีจะหมดระดูในช่วงพิสัยอายุระหว่าง 40 ถึง 60 ปี หรือค่าเฉลี่ยที่อายุ 51 ปี ในกรณีที่หมดระดูเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี เรียกว่า หมดระดูก่อนเวลาอันควร ในรายที่หมดระดูก่อนวัยอันควร ควรปรึกษานรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษา ในทางตรงกันข้าม สตรีที่ยังคงมีระดูเมื่ออายุมากกว่า 56 ปี ก็ควรปรึกษานรีแพทย์ด้วยเหตุผลเดียวกัน
หมดระดู (menopause) คืออะไร
คำว่า menopause มีความหมายว่า ระดูครั้งสุดท้าย จึงใช้ในความหมายของการไม่มีระดูอีกต่อไป หรือสตรีเริ่มรู้สึกถึงอาการและอาการแสดงต่างๆที่ระดูเริ่มจะหมด ก่อนที่จะหมดระดูสตรีจะสังเกตว่า รูปแบบการมีระดูเปลี่ยนแปลงไปเป็นต้น ระยะห่างของการมีระดู (ปกติเท่ากับ 28 ± 7 วัน หรือตั้งแต่ 21-35 วัน) เริ่มเนิ่นนานขึ้น ระยะห่างของการมีระดูอาจเนิ่นนานถึง 2-3 เดือน เรียกว่า การกระโดดของระดู หรือ ระดูอาจมาไม่แน่นอน หรือ ปริมาณระดูลดปริมาณลง พอจะเปรียบเทียบได้กับเทียนไขเมื่อใกล้หมด เปลวเทียนจะวูบวาบและไม่สม่ำเสมอ ก่อนที่จะดับแสงไปอย่างสิ้นเชิง
การหมดระดูเกิดขึ้นได้อย่างไร
รังไข่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) และผลิตไข่ ฮอร์โมนเพศหญิงมีผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น รองรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้ว ก่อนจะหมดระดูจริงราว 5-6 ปี ระยะนี้เรียกว่า ระยะวิกฤตของชีวิต (climacteric) ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภายและจิตใจติดตามมา เมื่อรังไข่ไม่อาจตอบสนองต่อฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองอีกต่อไป ก็จะทำให้รังไข่สูญเสียหน้าที่การทำงานข้างต้น สตรีก็จะถึงวัยหมดระดูอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะวิกฤตของชีวิต
ในวัยนี้สตรีจะเริ่มเผชิญกับ ความสูญเสีย ที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า บิดามารดาเสียชีวิต บุตรหลานออกจากบ้านไปทำงานต่างถิ่น บุตรหลานแยกตัวออกไปมีครอบครัวใหม่ การเปลี่ยนเหล่านี้ทำให้เกิด ความกดดัน ความตึงเครียด เป็นปัจจัยเสริม ด้านลบ ต่อระยะวิกฤตของชีวิต
สตรีจำนวนหนึ่งยังประสบกับปัญหาการเกษียณอายุของสามี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตใหม่อย่างอื่น วัยหมดระดูจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุด คือ วัยสาว ผ่านพ้นไป ปฏิสัมพันธ์ทางเพศ แปรเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม สตรีผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินี้ได้ดี ก็จะสร้างสรรความสนใจที่ท้าทายได้หลายอย่าง เพราะชีวิตในช่วงนี้จะเริ่มเป็นอิสระเป็นไทแก่ตัวมากขึ้น หน้าที่และพันธะผูกพันทางครอบครัวลดน้อยลง หากมองใน แง่มุมด้านกลับ ก็คือ ในวัยนี้มีเวลาที่จะเสริมสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับชีวิตมากขึ้นนั่นเอง ผู้ที่จะปรับตัวได้ดีนั้น จำเป็นต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี เป็นผู้ที่มี โครงสร้างทางจิตใจ ที่เข้มแข็งด้วย
ควรพบแพทย์เมื่อใกล้วัยหมดระดู หรือไม่ อย่างไร
ควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง
วัดความดันโลหิต
ตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ตรวจภายในและตรวจเช็คเซลล์มะเร็งคอมดลูก (ตามเกณฑ์การตรวจคัดกรองราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย)
ในกรณีที่มีอาการหรืออาการแสดงใด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อที่จะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม
ในกรณีที่สงสัยภาวะหมดระดูก่อนอายุเฉลี่ย ควรตรวจยืนยันภาวะหมดระดู หรืออีกนัยหนึ่งคือรังไข่ไม่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกต่อไป กระทำได้โดยการเลือดหา estradiol (ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดหนึ่งที่สร้างโดยรังไข่) และ FSH (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง)
ตรวจเลือดหาระดับคลอเรสเตอรอล ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี อาจตรวจทุก 5 ปีในรายที่อายุมากกว่า 50 ปี (หรือขอเห็นจากแพทย์)
ตรวจหาความหนาแน่นของกระดูกเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือประวัติเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน โดยตรวจที่กระดูกแขน กระดูกตะโพก และกระดูกสันหลัง
ผลการทดสอบทั้งหมดนี้ ร่วมกับอาการหรืออาการแสดงของวัยหมดระดู เป็นตัวชี้วัดสำหรับนรีแพทย์ที่จะพิจารณาให้ยาประเภท ฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนสังเคราะห์ เป็นการทดแทน เพื่อรักษาอาการหรืออาการแสดงของวัยหมดระดู
สำหรับ อาการร้อนวูบวาบตามเนื้อตามตัว อย่างรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรได้รับฮอร์โมนทดแทนเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงต่อของวัยหมดระดูไปอย่างราบรื่น เมื่อผลการรักษาเป็นที่พอใจให้พิจารณาลดขนาดยาลงโดยลำดับและยึดหลักที่ว่า ควรได้รับฮอร์โมนในขนาดที่น้อยที่สุดและบรรเทาอาการร้อนวูบวาบตามเนื้อตามตัวได้ จนกระทั่งหยุดการยาฮอร์โมนทดแทนในที่สุด
สำหรับ ภาวะช่องคลอดแห้งและเจ็บขณะร่วมเพศ ควรใช้สารหล่อลื่นประเภทเยลลี่ที่มีขายในท้องตลาด ป้ายปากช่องคลอดและใส่ในช่องคลอดในปริมาณหนึ่ง (ตามความต้องการ) ก่อนร่วมเพศ ส่วนการให้ฮอร์โมนในรูปของครีมใส่ช่องคลอดควรพิจารณาเมื่อการรักษาด้วยสารหล่อลื่นไม่ได้ผล
สำหรับ ภาวะกระดูกพรุน มักวินิจฉัยได้ด้วยเครื่องตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก โดยมีความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่า 2.5 ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ควรได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ส่วนในรายที่มีความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่า 1.0 ถึง 2.5 ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าภาวะกระดูกพรุนและเรียกว่า ภาวะมวลกระดูกน้อยกว่าปกติ ควรได้รับฮอร์โมนทดแทนเช่นเดียวกันแต่เป็นการให้เพื่อป้องกัน (ไม่ใช่การรักษาภาวะกระดูกพรุน) อีกด้านหนึ่งในการป้องกันภาวะกระดูกหักในคนสูงอายุประกอบด้วยมาตรการหลายประการอาทิ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม การออกกำลังกาย และการป้องกันอุบัติเหตุ โดยเฉพาะ มาตรการป้องกันอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก อย่าลืมว่าคนทั่วไปที่ไม่มีภาวะกระดูกพรุนก็เกิดภาวะกระดูกหักได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นคนสูงอายุจึงต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การก้าวขึ้นบันไดอย่างมั่นคง (ก้าวละขั้นหรือสองก้าวต่อขั้น) พื้นห้องน้ำควรปูหรือกรุด้วยวัสดุกันลื่น ผนังห้องน้ำควรมีราวจับในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นต้น
อนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีอาการหรืออาการแสดง ไม่ควรได้รับฮอร์โมนหรือฮอร์โมนสังเคราะห์เป็นแบบแผนการรักษาประจำเพื่อป้องกัน ควรพิจารณาเกี่ยวกับ ข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ของการได้ฮอร์โมนทดแทนร่วมกับนรีแพทย์ โดยเฉพาะ ผลประโยชน์ที่ได้รับ และ ความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้น เพราะการให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกันเป็นการให้หรือได้รับอย่างมีเงื่อนไขเฉพาะราย
ที่มา: เว็บไซต์ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต