วัยวุ่น-วัยใส สื่อ’สุขภาวะ’ ด้วยละครเวที
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
การสื่อสารถึงสิ่งที่จะเป็น หรืออาจจะเป็น "ปัญหาสุขภาพ"ให้เข้าถึง "วัยรุ่น" การสื่อสารเพื่อรณรงค์แบบเก่าดูเหมือนจะได้ผลน้อยลงทุกที จึงเกิดแนวคิดการ "สื่อสารผ่านศิลปะแขนงต่าง ๆ" ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อย่าง โครงการการพัฒนาศักยภาพเยาวชนสู่การเป็นนักสื่อสารเพื่อสุขภาวะ ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการอบรมเยาวชนในมหาวิทยาลัย ผ่านทาง เรื่องสั้น สารคดีทีวี และ "ละครเวที"
ภาวิณี ผุยภูงา นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เข้าร่วม "ค่ายละคร" ตามโครงการฯ เล่าว่า แม้ไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง แต่มีความสนใจ ซึ่งเรื่อง "สุขภาวะ" นั้นก่อนมาค่ายก็ยังไม่เข้าใจนักว่า "ละครเวที" จะสามารถช่วยในการสื่อสารหรือแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนั้นมีร้านเหล้าเต็มไปหมด ขณะที่เพื่อน และรุ่นพี่ ก็มีการสังสรรค์ รวมถึงสูบบุหรี่ เป็นประจำ เลยสนใจว่าจะเปลี่ยนการสื่อสารเรื่องนี้ในแบบเดิมอย่างไร?
ทางค่ายมีการเชิญวิทยากรที่เคยพลาดจนติดยาเสพติด ถูกจำคุก มาอธิบายให้เข้าใจถึงปัญหาสุขภาวะต่าง ๆ ที่เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการพลาด? แบบวิทยากร ทำให้มองเห็นอีกมุมหนึ่ง รวมถึงการให้โอกาสกับคนที่เคยพลาด ซึ่งก็ได้นำมาปรับใช้กับการเขียนบทละคร
เนื้อหาของละครได้จากคนใกล้ตัว โดยพยายามหาข้อมูล เช่นสอบถามคนที่สูบบุหรี่ ว่าถ้าเปลี่ยนจากการรณรงค์แบบเดิม อยากเห็นการสื่อสารอย่างไร? จนได้ข้อมูล รวมถึงมีประเด็น…อยากให้มองถึงข้อดีของการสูบบุหรี่บ้าง? เพื่อน ๆ ในทีมจึงไปหาข้อมูลทางการแพทย์ ที่ส่วนใหญ่ข้อมูลก็จะชี้ให้เห็นผลที่ไม่ค่อยสมจริงมากนัก เลยนำข้อมูลเหล่านี้มาแสดงเป็นละครเชิงเสียดสี ด้วยคนที่สูบบุหรี่ก็พยายามคิดเข้าข้างตัวเอง ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบการรณรงค์แนวใหม่ ที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น
มาที่ ปัญญา สุภาจารย์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ วิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า ตอนนี้คนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น นั่นแสดงว่าแต่ก่อนยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก เลยคิดว่า "ค่ายละคร" เน้นการสื่อสารด้าน "สุขภาวะ" น่าจะมีประเด็นอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น ยิ่งพอได้โจทย์ให้เขียนบทละครเกี่ยวกับเรื่อง "โรคไม่ติดต่อ" ก็เกิดคำถามว่า โรคนี้คืออะไร? เกี่ยวอย่างไรกับชีวิตประจำวัน?
พอลองฟังวิทยากรอธิบายเรื่องโรคไม่ติดต่อ ยิ่งเข้าใจมากขึ้น จากเดิมที่มองเรื่องพวกนี้ว่าไม่อันตรายนัก เมื่อได้เข้าใจ ก็ทำให้เริ่มตระหนัก ถึงโรคกลุ่มนี้ เช่น โรคอ้วน ที่เป็นโรคไม่ติดต่อ แต่ก็นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
ขณะเดียวกัน เมื่อรู้เรื่องสุขภาวะมากขึ้น ก็เริ่มหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น รวมถึงคนรอบข้าง เพราะการทำละครต้องพยายามศึกษาคนรอบข้างในเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ เพื่อให้เนื้อหาละครมีความสมจริง ซึ่งจากการเข้าค่ายทำให้เห็นว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมาก หรืออย่าง การเล่นสื่อออนไลน์ ที่ทำให้คนคิดอะไรเหมือน ๆ กัน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
สำหรับ นัจญวา มะเล็ก นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก็เข้าค่ายฯ เล่าถึง การเข้าค่ายฯนี้ว่า ตอนแรกไม่รู้เรื่อง "สุขภาวะ" มากนัก และก็ยังคิดไม่ออกว่าจะใช้ "ละคร" ในการ "รณรงค์"เรื่องนี้อย่างไร? แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็เริ่มเห็นถึงปัญหาที่ใกล้ตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการสูบบุหรี่ ที่มีการรณรงค์มาก แต่คนที่สูบก็ไม่ได้ลดลง
ปัญหาของการสื่อสารอาจจะเป็นปัจจัย ที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่า หลายคนรู้ถึงโทษของบุหรี่ แต่ไม่ตระหนัก ด้วยการสื่อสารแบบเดิมยังเป็นเหมือนการยัดเยียดโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่แม้จะรู้ถึงการสื่อสารรณรงค์เหล่านี้ แต่ก็ไม่ค่อยปฏิบัติตาม
จากการสอบถามข้อมูลของผู้ที่สูบบุหรี่ เพื่อนำข้อมูลมาทำเป็นละคร ก็พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่อยากรู้ถึงประโยชน์ของการสูบ ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลจะโน้มเอียงไปในทางที่หลอกตัวเอง เลยมาคิดต่อในการที่จะทำเนื้อหาละครเชิงเสียดสี เพื่อเป็นแนวทางใหม่ ๆ ในการสื่อสารรณรงค์เรื่องนี้
"ละครเวที" ถือเป็น "การสื่อสารรูปแบบหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาสุขภาวะ" ได้ โดยนอกจากคนที่เป็น นักแสดง และคนเขียนบทละคร ต้องเข้าใจบทบาทในเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารออกไปแล้ว คนดูคนชม ก็จะได้รับรู้ถึงอารมณ์ของผู้แสดงที่อยู่ตรงหน้าทุก ๆ ฝ่ายจะ "ได้ตระหนักถึงปัญหามากกว่าการดูรูปที่น่ากลัวในการรณรงค์แบบเดิม ๆ"
ด้าน ดร.ณฐภรณ์ รัตนชัยวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยากรในค่ายฯ สะท้อนว่า ละครเวทีสามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องปัญหาสุขภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งการสื่อสารแบบเดิม มักเป็นการยัดเยียดข้อมูล โดยที่อุปนิสัยของคนมักจะไม่ชอบการสื่อสารแบบนี้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
ถ้ามีการ สื่อสารสอดแทรกความรู้ในแบบศิลปะเนียน ๆ จะรับฟังมากกว่า โดยเฉพาะคนที่ดูละคร จะได้รับข้อมูลการสื่อสารแบบไม่รู้ตัว ผ่านตัวละครที่แสดงบนเวที ทำให้การปฏิเสธการรับข้อมูลมีน้อยกว่าการรณรงค์แบบเดิม
ในค่ายฯ มีการสอนให้เขียนบทละคร และแสดงด้วย เพื่อให้คนที่เข้าค่ายฯได้ซึมซับข้อมูลจากผู้คนใกล้ตัว นำมาเป็นวัตถุดิบในละคร เช่นเรื่องบุหรี่ เดิมจะเห็นการสื่อสารเรื่องนี้เหมือน ๆ กันหมด แต่เด็กวัยรุ่นกลับสนใจเนื้อหาในเชิงเสียดสีที่มีความตลก เลยทำให้การสื่อสารผ่านละครเวทีดูเพลิดเพลิน และคนดูรับทราบปัญหาได้อย่างไม่รู้ตัว
"เมื่อเด็ก ๆ มาเข้าค่ายฯ นอกจากได้มิตรภาพระหว่างเพื่อนแล้ว ยังมีการเปลี่ยน แปลงด้านสุขภาวะ เพราะเขามีข้อมูลมากขึ้น เพื่อการปรับใช้กับตัวเอง ขณะเดียวกันก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวข้อมูลเหล่านี้แก่คนรอบข้างได้"
จากการทำค่ายฯ แม้เนื้อหาบางอย่างนั้นละครเวทีก็ยากที่จะสื่อสาร ด้วยข้อจำกัดในการแสดง เมื่อเทียบกับการทำภาพยนตร์สารคดี ซึ่งบางอย่างก็ยากที่จะแสดงออกให้ดูมีความสมจริง แต่ก็มีการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้ามาสื่อสารเพื่อให้คนดูทราบ ซึ่งนี่ถือเป็นอีกเรื่องท้าทายที่ผู้แสดงต้องพยายามสื่อสารให้คนดูเข้าใจ
กิจกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องดี ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับ "สุขภาวะ" ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องนี้เด็กวัยรุ่นในรุ่นต่อ ๆ ไปก็สามารถจะต่อยอดประเด็นได้กว้างและลึกซึ้งกว่านี้ เช่นเดียวกับการพัฒนาเกี่ยวกับค่ายฯต่อไป ซึ่งน่าจะมีการนำ "ละครเวที" ไปแสดงตามโรงเรียน ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการ "สื่อสารด้านสุขภาวะ"ที่ใกล้ชิดคนรุ่นใหม่มากขึ้น
"สุขภาวะ" กับ "วัยรุ่น" เป็นเรื่องที่ต้อง "สื่อสารโดยปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย" ด้วยเป็นกลุ่มที่ไวต่อการรับสิ่งใหม่ ๆ หากสอดแทรกเนื้อหาผ่านศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ต่าง ๆ โดยไม่จำกัดขอบเขตจนเกินไป