‘วัยรุ่น’ โอกาสสุดท้ายของการพัฒนา EF
ที่มา : เว็บไซต์ thepotential.org
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thepotential.org
ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ‘วัยรุ่น’ ถือเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ผู้ใหญ่พยายามเข้าไปช่วยผลักให้พวกเขาวิ่งไปสู่ลู่ทางที่เหมาะสม ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เพราะช่วงวัยนี้ถือเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงหรือพลาดพลั้งมากที่สุด แม้ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจเผลอทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม
แต่นอกเหนือจากความสุ่มเสี่ยงที่ผู้ใหญ่มักเป็นกังวล วัยรุ่นเป็นช่วงวัยสำคัญที่จะพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions) หรือที่เรียกกันว่า EF อีกด้วย
และนั่นคือสิ่งที่วงสนทนาว่าด้วย ‘พลังวัยรุ่น เมื่อ EF พุ่งแรงรอบที่สอง’ ในงานประชุมวิชาการ ‘EF Symposium 2017 สมองเด็กไทยรากฐานทุนมนุษย์เพื่ออนาคตประเทศ’ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา พยายามบอกกับทุกคน
โอกาสทองแห่งการพัฒนา EF ครั้งสุดท้าย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิริยาภรณ์ อุดมระติ ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาพัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มต้นวงสนทนาด้วยการค้นหาความหมายว่า แท้จริงแล้ววัยรุ่นคือใคร และทำไมพวกเขาจึงเป็นเช่นนั้น
“วัยรุ่นเป็นเหมือนคนที่เกิดใหม่อีกครั้ง ผ่านพ้นจากความเป็น ‘เด็ก’ กลายมาเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่แม้ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ต้องปรับตัวทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคมใหม่ โดยเฉพาะความคิดความอ่านของเขาที่เปลี่ยนไป เขาจะมีความคิดที่แตกต่างจากเด็ก มีศักยภาพบางอย่างที่มากกว่าเด็ก”
เมื่อเข้าใจพัฒนาการทางความคิดของวัยรุ่นแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือ การฉกฉวยโอกาสเพื่อพัฒนาสติปัญญาและกระบวนการทางความคิดให้ได้มากที่สุด โดยใช้ทักษะ EF เป็นฐานสำคัญ
“อย่าคิดว่าเขาทำไม่ได้” ผศ.วิริยาภรณ์ เน้นย้ำ
อย่างที่รู้กันว่า ช่วงวัยที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา EF คืออายุระหว่าง 3-6 ขวบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หลังผ่านพ้นช่วงวัยนั้นไปจะพัฒนาไม่ได้อีกแล้ว
“สาเหตุที่วัยรุ่นเป็นช่วงโอกาสสำคัญอีกครั้งสำหรับการพัฒนา EF เพราะวัยรุ่นจะจดจำ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเอง ในขณะที่เขากำลังมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองสูงมาก สิ่งนั้นจะฝังอยู่ในสมองเพื่อให้เขานำไปใช้ต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
“วัยรุ่นจึงเป็นหน้าต่างบานใหม่สำหรับการพัฒนา EF และอาจเรียกได้ว่าเป็นหน้าต่างบานสุดท้าย”
สิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้ทันทีและเริ่มต้นได้ง่ายๆ ในการพัฒนา EF ให้กับวัยรุ่นคือ การให้ ‘โอกาส’
“เราได้ให้โอกาสวัยรุ่นจริงหรือเปล่า เราเคยให้เขาเลือกทำสิ่งในที่เขาสนใจไหม สนใจในที่นี้ต้องเป็นงานที่อยู่ภายใต้กรอบหรือโครงการที่เขาทำอะไรได้ ที่สำคัญคือให้เขาฝึกทำด้วยตัวเอง ภายใต้การดูแลของเรา เพราะสิ่งที่เป็นตัวช่วยเสริมสร้างศักยภาพตรงนั้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เขาเติบโต นั่นก็คือผู้ปกครอง” ผศ.วิริยาภรณ์ ให้แง่คิด
สถานการณ์ EF ของวัยรุ่นไทย
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งคลุกคลีกับงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนอธิบายว่า การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าของวัยรุ่น คือฐานสำคัญในการเตรียมพร้อมรับโจทย์ท้าทายโลกอนาคตของพวกเขา
แต่ก่อนอื่น ต้องเริ่มจากสืบเสาะหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา EF ของวัยรุ่นไทยเป็นอย่างไร มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงได้เป็นผู้สนับสนุนงานวิจัย ‘ประเมินผลการเรียนรู้ในโครงการสร้างพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) ต่อทักษะการคิดเชิงบริหารและการกำกับตนเองไปสู่เป้าหมายวัยรุ่น’ ซึ่งจัดทำโดย ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีสกุล และคณะ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินโครงการ 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน สมุทรสงคราม สงขลา และศรีสะเกษ ทั้งหมด 275 คน มีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นในระบบ นอกระบบ ชาวดอย และชาวเมือง
ปิยาภรณ์อธิบายว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการชี้วัด 3 ปัจจัยหลักๆ คือ EF ขั้นพื้นฐาน ความสามารถในการกำกับตัวเอง และความเพียรพยายามของตัวเอง
“สิ่งที่ใช้ในการประเมินคือ EF ขั้นพื้นฐาน ทั้งความสามารถในการให้เหตุผล ความยืดหยุ่นในการคิด ความจำในขณะการทำงาน ความสนใจจดจ่อต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดเป็นความสามารถที่จำเป็นต่อการทำงานและประคองตนในสังคมทั้งสิ้น”
ย้อนกลับไปสู่โจทย์หลักสำคัญ ก่อนที่จะพัฒนา EF ในวัยรุ่นได้อย่างตรงเป้า ต้องเริ่มจากการประเมินสถานการณ์ EF วัยรุ่นไทยเสียก่อน ซึ่งจากการประเมินผ่านปัจจัยทั้งสาม เบื้องต้นพบว่าวัยรุ่นที่มีปัญหาส่วนใหญ่มักมีลักษณะเหมือนกันคือ ขาดความสามารถในการกำกับควบคุมตัวเอง ทั้งอารมณ์และพฤติกรรม นั่นเท่ากับว่าวัยรุ่นไทยมีปัญหา EF ในภาพรวมทุกด้าน คิดเป็น 36.5 เปอร์เซ็นต์
สำหรับผลสำรวจคะแนนความสามารถในการกำกับตัวเองโดยรวมพบว่า ความสามารถดังกล่าวจะดีขึ้นตามวัยที่โตขึ้น กล่าวคือ เด็กวัยรุ่นอายุ 11-13 ปี (ทั้งหมด 75 คน) มีความสามารถในการกำกับตัวเอง 66.67 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 14-18 ปี (ทั้งหมด 200 คน) มีความสามารถในการกำกับตัวเอง 73 เปอร์เซ็นต์
ด้านความเพียรพยายาม เด็กวัยรุ่นไทยจากกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความเพียรพยายามต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 11 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีคะแนนความเพียรพยายามสูงกว่าเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ มีคะแนนความเพียรพยายามอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นอีก
แน่นอนว่า ปัจจัยทั้งสามล้วนส่งผลต่อกันและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่าแนบแน่น ปิยาภรณ์อธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวโดยสรุปใจความสั้นๆ ว่า ยิ่ง EF บกพร่องมากเท่าไร การกำกับตัวเองก็ยิ่งต่ำ ความเพียรก็ไม่ดี ทั้งในแง่ระยะสั้นและระยะยาว แต่ถ้า EF ไม่บกพร่องเลยหรือบกพร่องน้อย คะแนนการกำกับตัวเองก็จะยิ่งสูง และความพยายามก็จะดีด้วย
เมื่อผลวิจัยสะท้อนข้อมูลเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างๆ วัยรุ่นที่จะต้องเสริมสร้าง EF ของพวกเขาให้แร็งแรง หากไม่อยากให้วัยรุ่นไทยประสบปัญหามากไปกว่านี้
นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า คะแนน IQ สัมพันธ์กับการกำกับตนเอง กล่าวคือ เด็กที่มีระดับ IQ สูง จะมีคะแนนการกำกับตัวเองระยะยาวสูง ส่วนเด็กที่มีคะแนน IQ ต่ำ จะมีคะแนนการกำกับตัวเองระยะยาวต่ำ อย่างไรก็ดี ต้องขีดเส้นใต้ย้ำประโยคนี้ให้ชัดเจนด้วยว่า งานวิจัยดังกล่าวระบุอีกเช่นกันว่า IQ ไม่สัมพันธ์กับคะแนนความเพียรพยายามและปัญหาพฤติกรรมบกพร่องของ EF
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบ่อยครั้งเราจึงเห็นเด็กเก่งหลายคนมีปัญหาด้านพฤติกรรมมาก หรือไม่มีความเพียรพยายาม
แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น ปิยะภรณ์ชี้ว่า วัยรุ่นจากกลุ่มตัวอย่างที่มี IQ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคือ 90-109 คะแนน มีเพียง 43.6 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาอยู่ที่ 80-89 คะแนน มีทั้งหมด 32 เปอร์เซ็นต์ ระดับ IQ ที่ 70-79 คะแนน มีทั้งหมด 11.3 เปอร์เซ็นต์ ระดับ IQ ต่ำกว่า 69 คะแนน มีทั้งหมด 4.4 เปอร์เซ็นต์ และระดับ IQ ที่สูงกว่ามาตรฐานคือมากกว่า 110-119 คะแนน มีทั้งหมด 4.7 เปอร์เซ็นต์
เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว สิ่งที่มูลนิธิสยามกัมมาจลดำเนินการต่อไปคือ การเปิดพื้นที่สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Learning Journey เพื่อกระตุ้นการใช้งาน EF ในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าของวัยรุ่น ให้อิสระในการคิดและการรวมกลุ่มทำงาน
“โจทย์ของเราคือ ให้เขาเรียนรู้และพัฒนาผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองเพื่อชุมชน เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทายเด็กวัยนี้ ถ้าเขาได้มีโอกาสเลือกเอง เขาจะมีความมานะบากบั่น มีแรงบันดาลใจเป็นของตัวเอง สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้ ยอมรับความแตกต่าง เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับชุมชน และหาวิธีแก้ปัญหาของเขาเอง ถ้าผ่านการเรียนรู้ตรงนี้ได้ เขาก็จะก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จ และสามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดต่อได้ในเวทีชุมชน”
สิ่งที่มูลนิธิสยามกัมมาจลค้นพบในเวลาต่อมาคือ เมื่อชุมชนเปิดพื้นที่ให้แก่พวกเขา ทำให้เด็กมีความมั่นใจมากขึ้น และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบวกในหลายๆ ด้านตามมา
ปิยะภรณ์กล่าวต่ออีกว่า งานวิจัยนี้เป็นเพียงส่วนแรกเท่านั้น ส่วนที่สองที่จะทำต่อไปคือ การเปรียบเทียบผลก่อนและหลังจากเด็กเข้าร่วมโครงการ Active Citizen เพื่อค้นหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาด้านการคิดและการกำกับตัวเองไปสู่เป้าหมายในวัยรุ่นไทย