วัยรุ่น กับอารมณ์รุนแรง
ที่มา : มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
เมื่อลูกวัยรุ่นเกิดปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความรัก มักจะพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง ทั้งที่วุฒิภาวะด้านความคิดและอารมณ์ของพวกเขายังไม่พร้อมให้ตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ได้ จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมา ซึ่งพ่อแม่ต้องร่วมเรียนรู้พัฒนาการเรื่องความรักร่วมไปกับลูกด้วย และหลีกเลี่ยงการปฏิเสธหรือปิดการรับรู้
พ่อแม่ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า โดยส่วนใหญ่ความรุนแรงในวัยรุ่นวัยรักมักจะเกิดจากผู้ชายเป็นผู้กระทำ และผู้หญิงมักเป็นผู้ตกเป็นเหยื่อ ที่นอกจากจะกระทำต่อคู่รักของเขาแล้วยังกระทำต่อตนเองด้วย พ่อแม่ต้องเรียนรู้ว่า จากวิธีการที่วัยรุ่นชายเลือกใช้แก้ปัญหาส่วนใหญ่คือการกระทำความรุนแรง ดังนั้นจึงนำมาซึ่งการสูญเสียถึงชีวิตตามมาเช่นกัน
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล แบ่งความรุนแรงในวัยรุ่นเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มที่ 1 คือ ก้าวร้าว ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจความรู้สึกคนอื่น ใช้อำนาจควบคุมผู้อื่น ใช้กำลังในการแก้ปัญหา
กลุ่มที่ 2 คือ มีความอ่อนไหวด้านอารมณ์ อ่อนแอ เปราะบาง ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี มีลักษณะการทำอะไรตามอารมณ์ชั่ววูบ ภาวะอารมณ์จะขึ้นอยู่กับคนอื่น
สาเหตุของอารมณ์เหล่านี้ต้องยอมรับว่ามาจากทั้งสองส่วน คือ พื้นอารมณ์ตามธรรมชาติของตัวเด็กเอง และกระบวนการดูแลอารมณ์ลูกที่พ่อแม่เองก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจลักษณะทางอารมณ์ของลูกเรา ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าจะดูแลอบรมสั่งสอนเขาด้วยวิธีการอย่างไร ให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจการดูแลอารมณ์ของตนเองในช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกันไปในทางเดียวกัน เพราะหากพื้นอารมณ์ของลูกมีความรุนแรง พ่อแม่กลับเลี้ยงดูด้วยวิธีการไปเสริมอารมณ์รุนแรงให้มีมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ลูกเสี่ยงยิ่งขึ้นที่จะนำความรุนแรงไปใช้กับปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามาชีวิต ไม่ว่าจะจะปัญหาการเรียน ความรัก หรือเพื่อน นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่สามารถสร้างให้ลูกได้ ถ้าเราสามารถจัดสิ่งแวดล้อมหรือสร้างทักษะให้เขา ก็จะช่วยกำจัดจุดอ่อนที่เขามีให้หมดไปได้
การเลี้ยงดูแบบไหน? ส่งเสริมให้ลูกใช้ความรุนแรง
การเลี้ยงดูให้ลูกสบายเกินไป มีคนคอยดูแลจัดการให้ทุกเรื่อง โดยที่เขาไม่เคยต้องผ่านประสบการณ์ความยากลำบากด้วยตัวเอง ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เมื่อลูกมีความรักเขาก็จะรู้สึกว่าการที่แฟนบอกเลิกเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต เขาจะไม่มีที่พึ่งพิงทางใจอีกต่อไป ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าต้องจัดการอะไรสักอย่างเพราะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูให้เขารู้ถึงคุณค่า ความสามารถของตนเอง เป็นตัวของตัวเองและสามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองได้
การเลี้ยงดูแบบห่างเกินกันมากเกินไป วัยรุ่นกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตนเองถูกละเลย และไร้ความหมายในครอบครัว เมื่อเขาเติบโตเข้าช่วงวัยรุ่นก็จะโหยหาและยึดติดอยู่กับแฟน หรือใครบางคนที่ทำให้เขารู้สึกมีความหมายขึ้น
การปล่อยให้ดูสื่อที่เร้าอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม สื่อบางประเภท เช่น ภาพยนตร์ หรือมิวสิควิดีโอบางเรื่อง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอกหัก ทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายผู้อื่น จะมีพลังผลักดันวัยรุ่นให้เกิดการกระทำรุนแรงแบบเดียวกันนั้นได้ โดยเฉพาะคนที่มีความอ่อนแอด้านอารมณ์อยู่ในขณะนั้นพอดี
ทั้งนี้พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูอยู่บนพื้นฐานของความพอดี คือไม่ให้มากจนล้น หรือห่างเหินละเลยเลยจนขาด และดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น พ่อแม่ต้องไม่ปิดกั้น ทั้งการปฏิเสธไม่ให้วัยรุ่นมีความรัก และปิดการรับรู้ของตนเองเกี่ยวกับเรื่องความรักของลูก เพราะนั่นจะทำให้ลูกขาดที่พึ่งพิงด้านความคิด ความเห็น และความเข้าใจจากพ่อแม่ ทางที่ดีคือเป็นเพื่อนกับลูก พูดคุย และทำให้ลูกเติบโตขึ้นได้ในเรื่องความรักไปได้จนพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต