วัยรุ่นไทย สร้างสื่อดีสู่การเปลี่ยนแปลง
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ในภาวะวิกฤติทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีอิทธิพลสูงในการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิองค์กรภาคประชาสังคมและสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย จัดเวทีนำเสนอผลงานและนิทรรศการแสดงผลงาน Thai Strong Teens วัยรุ่นไทยเข้มแข็ง) โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปี 3 (University Network for Change : UNC)
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสสส. ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ กว่า 55 แห่งทั่วประเทศ ผ่านแนวคิด พลเมืองตื่นรู้ หรือ ACTIVE CITYZEN โดยสนับสนุนให้เยาวชนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตให้ดีขึ้น ผ่านการสร้างสรรค์ "สื่อ" สู่การเปลี่ยนแปลง "ชุมชน" และ "สังคม"ในทิศทางสุขภาวะ ซึ่งโครงการเครืข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมฯ เป็นอีกหนึ่งในโครงการ ที่อยู่ในกรอบแนวคิดACTIVE CITYZEN โดยดำเนินงานอย่าง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 และในแต่ละปี โครงการจะคัดเลือก "โจทย์สังคม" ให้นักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้และเลือกประเด็นที่สนใจ นำไปพัฒนาออกแบบสื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ รณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยในปีนี้ได้นำโจทย์สังคม 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ทรัพยากรน้ำและป่า 2.การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ
"การนำประเด็นสถานการณ์ในสังคมมาพัฒนาเป็นสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้เยาวชนได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เหตุการณ์จริง ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมจิตสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นภายในจิตใจไปพร้อมกัน โดยเมื่อจบการศึกษาออกมาเยาวชนเหล่านี้ก็จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยใช้วิชาด้านการออกแบบที่ได้ศึกษามาสร้างสรรค์สื่อที่ดี เพื่อประเทศต่อไป" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้านธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวว่าโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมฯ เป็นการให้นักศึกษาได้เรียนรู้แบบ Problem-based Learning : PBL คือ การเรียนรู้จากปัญหา และสร้างประสบการณ์ในการปฏิบัติงานให้แก่ผู้เรียนเหมือนกับการทำงานในชีวิตจริงอย่างเป็นระบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ทำการทดลอง ลงพื้นที่ ได้พิสูจน์สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง รู้จักการวางแผนการทำงานฝึกการเป็นผู้นำ โดยใช้ความรู้วิชาการแบบบูรณาการ ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ มีความหลากของสาขาการเรียน ทำให้สื่อที่ออกมาก็มีความหลากหลายของเทคนิคและความคิดเช่นกันโดยเมื่อมีการนำเสนอ และได้พัฒนา ทุกผลงานล้วนมีศักยภาพที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริงในสังคม
"เพราะประเทศยังคงต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพมาสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ อยากให้โครงการดี ๆ แบบนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องและหากสามารถนำไปขยายเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกมหาวิทยาลัยได้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง" ธาม กล่าว
อาดีล เรืองปราชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ปัตตานี) บอกถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมโครงการว่า การศึกษาในห้องเรียนเป็นเพียงพื้นฐานในการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ที่แท้จริงคือการได้ลงมือทำ ตลอดระยะเวลาที่ร่วมกิจกรรมได้รับความรู้มากมายตั้งแต่การลงพื้นที่จริง ได้ร่วมคิดวางแผนโดยมีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์คอยชี้แนะ ทำให้ได้ผลงานที่ดี และตอบโจทย์
"นอกจากการได้นำเสนอโครงการที่เกิดจากการนำความรู้ที่เรียนมาถ่ายทอดให้สังคมเห็นแล้ว ตนเองก็ได้เห็นโครงการดี ๆ จากเพื่อน ๆ มหาลัยอื่นที่มีประโยชน์อีกด้วย และส่วนตัวเชื่อว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นหน้าที่ของทุกคน ถ้าร่วมมือ และมีจิตสำนึกร่วมกัน สังคมก็จะน่าอยู่" อาดีล กล่าวทิ้งท้าย