วัยรุ่นไทยท้องไม่พร้อมแนวโน้มดีขึ้น

ที่มา : เว็บไซต์ คม-ชัด-ลึก


กรมอนามัย เผยแนวโน้มวัยรุ่นไทยตั้งครรภ์เร็วลดลง เร่งออก 4 กฎกระทรวงรับกฎหมายป้องกันฯตั้งครรภ์ในวัยรุ่น


วัยรุ่นไทยท้องไม่พร้อมแนวโน้มดีขึ้น thaihealth


พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 2/2560


โดยสาระสำคัญคือการรายงานความก้าวหน้าร่างกฎกระทรวงอออกตามความในพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559ว่า การเสนอร่างกฎกระทรวงออกตามความในพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ขณะนี้ทั้ง 4 กระทรวงได้มีการดำเนินการดังนี้


1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยมีมติอนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไป


2. กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการจัดประชุมกลุ่ม ผู้ประกอบกิจการเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการของสถานประกอบการกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ลูกจ้าง พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงตามข้อเสนอ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเพื่อเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี


3. กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ 4. กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานบริการ และการดำเนินการของสถานบริการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. …. ต่อครม. โดยมีมติอนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไป


ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มดีขึ้น อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 54.3 ต่อพันประชากร ในปี พ.ศ. 2555 ลงมาเหลือ 42.5 ในปี พ.ศ.2559 และข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ.2560 จาก Health /data Center ของกระทรวงสาธารณสุข อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – มิถุนายน 2560 อยู่ที่ 36.6 ต่อพันประชากร


สำหรับการขับเคลื่อนการสอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้แก่วัยรุ่นในสถานศึกษานั้น พบว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 6 หน่วยการเรียนรู้ คือ 1.พัฒนาการทางเพศ (Human Sexuality Development) 2.สุขภาวะทางเพศ (Sexuality Health) 3. พฤติกรรมทางเพศ (Sexual Behavior) 4. สัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Relationship) 5. ทักษะส่วนบุคคล (Value, Attitudes and Skills หรือ personal Skills) และ 6. สังคมและวัฒนธรรม (Social, Culture and Human Right) ซึ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการพัฒนาหลักสูตร จัดทำสื่อการสอน พัฒนาครูผู้สอน และพัฒนาแกนนำนักเรียน พร้อมดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนด้วยการกำหนดมาตรการเรียนรู้ การเฝ้าระวัง และดูแลให้ความช่วยเหลือ

Shares:
QR Code :
QR Code