วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์?
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
(แฟ้มภาพ)
ทำไมลูกของเราถึงชอบระบายความรู้สึกในโลกโซเชียล แทนที่จะพูดกับใครสักคน ? แล้วจริงหรือไม่ที่พวกเขากำลังจะหนีจาก Facebook ไปรวมกันใน Twitter เพราะพ่อแม่ยังตามไปไม่ถึง? ทำอย่างไรเด็กถึงจะเข้าใจว่า โลกเสมือนแห่งนี้มีความเสี่ยง?
ขณะที่คนรุ่นหนึ่งกำลังเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ หากคนอีกวัยหนึ่งกลับมองเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ว่าจะถูกตั้งคำถามอย่างไรแต่ที่เหมือนกันคือความกังวลที่ผู้ใหญ่กำลังมีต่อการใช้ สื่อโซเชียลมีเดียของเด็ก
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดทำโครงการ ขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัวจัดงานเสวนาสาธารณะ และworkshop "WHY WE POST : เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุค วุ่นเน็ต" เพื่อเข้าใจเครื่องมือและชุดทักษะในการทำงานกับวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต จาก กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด และYoutube Thailand
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวตอนหนึ่งว่า การสนับสนุนสุขภาพเด็ก สังคม และระบบสื่อคือ สิ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญมานาน และเมื่อสื่อออนไลน์ คืออีกพื้นที่ซึ่งเด็กและเยาวชนให้ความสำคัญ สสส.จึงต้อง ขับเคลื่อนองค์ความรู้ใหม่ๆ ติดอาวุธ ทางปัญญา เพื่อให้เด็กมีสุขภาวะและ รู้เท่าทันโลกเหล่านั้น
ทุกวันนี้สังคมที่เป็นกายภาพกับสังคมในโลกออนไลน์ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และรายงานสุขภาพคนไทยปี 2562 ระบุว่า ทุกวันนี้คนไทยใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ซึ่งสอดคล้องไปกับ ผลสำรวจของ We Are Social ซึ่งรายงานว่าประเทศไทยติดอันดับการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน เฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์
พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย นักกิจกรรมด้านเด็ก และเยาวชน จึงต้องรู้เท่าทัน ช่วยป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันต่ออันตรายและ ความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ที่มาพร้อมกับ การใช้สื่อ เช่น การรังแกบนโลกไซเบอร์ (cyberbullying)การเสพติดโลกออนไลน์ จนกระทบกับคุณภาพ ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ เพื่อทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่4 สสส. กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ความท้าทายใหม่เรื่องโซเชียลมีเดียกับเด็กเยาวชน" ตอนหนึ่งว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรทำความเข้าใจคือ พฤติกรรมการใช้ สื่อโซเชียลของวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติที่เราเองก็เคยเป็น เช่นเดียวกับการเข้าสังคม การได้รับการยอมรับ ต้องการมีเพื่อนเพราะมนุษย์มีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ต้องสื่อสารระหว่างกันตามธรรมชาติ
"เพียงแต่ยุคนี้มีเครื่องมือใหม่คือ โซเชียลเน็ตเวิร์คในการเข้าสังคมเท่านั้นเอง แพลตฟอร์มนี้จึงไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความเข้าใจแบบนี้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ลดความตึงเครียดระหว่าง คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนได้ เพราะการเข้าสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประเด็นสำคัญคือผู้ใหญ่เราจะใช้สื่อโซเชียล ร่วมกับเด็กอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ซึ่งความเข้าอกเข้าใจและความเมตตา จะช่วยให้เรากับเด็กปรับตัวอยู่ร่วมกับ โลกยุคใหม่ได้ดี"
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในอดีตมักมองโลกกายภาพว่าเป็นสิ่งจับต้องได้ ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดในโลกออนไลน์จับต้องไม่ได้ แต่ปัจจุบันไม่มีความแตกต่างระหว่างโลกสองใบนี้ โดยโลกออนไลน์ก็เป็นจริงพอๆ กับโลกออฟไลน์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การศึกษาโซเชียลมีเดียจึงเป็นเรื่องทางสังคม พอๆกับที่เป็นเรื่องของการสื่อสาร ดังนั้นการศึกษาเรื่องสื่อในฐานะนักมานุษยวิทยาจึงไม่ได้เน้นเรื่องสื่อหรือสภาวะความเป็นสังคมเท่านั้น แต่ยังพูดถึงโซเชียลมีเดียในฐานะสถานที่อีกแห่งที่ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิต
(แฟ้มภาพ)
สำหรับคนทุกวันนี้ในความเป็นจริงเรายังใช้การสื่อสารแบบดั้งเดิมอยู่ ไม่ได้หมายความว่ามีแพลตฟอร์มใหม่ๆแล้วการสื่อสารแบบดั้งเดิมจะหายไป และสำหรับเด็กโลกโซเชียลคืออีกเครื่องเครื่องมือเพื่อแสดงความเป็นตัวตน พวกเขาเลือกแพลตฟอร์มและจัดความสำคัญในการสื่อสารแต่ละแบบ ในแต่ละสื่อ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มเดียวกันก็เลือกสื่อสารกันในแต่ละบริบท ขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์กับใคร
"วัยรุ่นยังมีการสร้างแอคเคาท์ในความสัมพันธ์หลายรูปแบบ เช่น การใช้แอคเคาท์ เป็นบอท และสร้างโปรไฟล์เป็นแฟนคลับ และรู้ว่าเขาจะพูดอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์อย่างไร ใครที่บอกว่าการเล่นสื่อเป็นเรื่องฉาบฉวยจึงไม่จริงนัก บางทีอาจเป็นทักษะ ที่ซับซ้อนของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจ"
ทั้งนี้โครงการวิจัย "How the World Changed Social Media" นำโดย เดวิด มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London และคณะ ซึ่งเป็นต้นทางของหนังสือ Why We Post : ส่องวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียผ่านมานุษยวิทยาดิจิทัล ซึ่งเป็นฐานของการเสวนาในครั้งนี้ ไม่ได้เน้นไปที่การศึกษาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการศึกษา สิ่งที่คนโพสต์และสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์ม เหล่านั้น รวมถึงศึกษาว่าทำไมเราจึงโพสต์และผลพวงของการโพสต์เป็นอย่างไร
วิจัยอ้างอิงจากพื้นที่ศึกษา 9 แห่ง ได้แก่ บราซิล ชิลี จีนเขตชนบท จีนเขตอุตสาหกรรม อินเดีย อิตาลี ตรินิแดด ตุรกี และอังกฤษ และเปรียบเทียบสิ่งที่พบในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในพื้นที่แต่ละแห่ง ในแต่ละหัวข้อ 10 ประเด็น อาทิ การศึกษาและคนหนุ่มสาวการงานและการค้า ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์และออฟไลน์, เพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำ, การเมือง, ซึ่งได้รับผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป
(แฟ้มภาพ)
ยกตัวอย่าง ในหัวข้อโซเชียลมีเดีย ต่อการศึกษา ซึ่งผลสำรวจที่ได้มีทั้งสองแบบคือ โรงเรียนในอินเดียใต้ที่นักเรียนมาจากครอบครัวรายได้ต่ำ ส่งเสริมการใช้ โซเชียลมีเดียในฐานะเครื่องมือเพื่อการศึกษา อย่างมาก ในขณะที่โรงเรียนสำหรับคนชั้นสูงพิจารณาการสั่งห้ามใช้โซเชียลมีเดีย เพราะถือว่าทำให้นักเรียนเสียสมาธิ
ขณะที่พื้นที่ศึกษาสองแห่งในจีนกลับให้ผลแตกต่างกันชัดเจน ในเขตอุตสาหกรรมจีน พบว่าหนุ่มสาวโรงงานจากชนบทมักไม่ค่อยใส่ใจผลการเรียนในระบบและการศึกษาระดับสูงของลูกๆ นัก ส่วนในชนบทจีนกลับตรงกันข้าม เพราะผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกมาก โดยพวกเขาเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ จะช่วยให้ลูกๆ มีชีวิตที่มั่นคงและสุขสบาย ในบริบทนี้ ทั้งผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง มองว่าโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อความก้าวหน้าทางการศึกษาและการเรียนรู้
(แฟ้มภาพ)
ในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน มีตัวอย่างหลายกรณีที่ทำให้เห็นว่าการใช้ โซเชียลมีเดียในหมู่นักเรียนช่วยสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โซเชียลมีเดียมักเป็นพื้นที่ปลอดสายตาผู้ปกครองที่คอย สอดส่อง เด็กๆ จึงมองว่ามันเป็นพื้นที่ ที่ใช้พูดคุยกับเพื่อนได้ง่ายกว่า หากในเวลาเดียวกันการสื่อสารแต่ในโซเชียลก็ทำให้เกิดความขัดแย้งได้มากกว่าการสื่อสารต่อหน้าเกิดการอัพสเตตัสแบบอ้อมๆ ที่ทำให้คนที่เป็นเป้าหรือผู้รับสารไม่แน่ใจว่าสเตตัสนั้นสื่อถึงใคร ทำให้เกิดเหตุขัดแย้งและโต้เถียง นำไปสู่ความตึงเครียดมหาศาล โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหญิง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้บอกว่าอินเตอร์เน็ตหรือโลกโซเชียลส่งผลดีหรือผลร้ายกับเด็กมากกว่ากัน หากแต่ช่วยนำเสนอให้เห็นถึงการใช้ส่งผลอย่างไรในบริบทแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ที่กำลังเฝ้ามองเด็กรอบข้างใช้โซเชียลมีเดียด้วยความเป็นห่วง แต่ที่จริงแล้วพวกเขาเข้าใจโลกโซเชียล กับความเป็นไปของเด็กมากขนาดไหน?