วันลอยกระทง ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ

ที่มา :   กรมควบคุมโรค


วันลอยกระทง ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงหรือปล่อยเด็กเล็กอยู่ตามลำพัง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้แม้ระดับน้ำลึกเพียง 2-3 นิ้ว และอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ พลุ พร้อมแนะวัยรุ่นคู่รักให้รู้จักป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในค่ำคืนวันลอยกระทง


นายแพทย์อัษฎางค์  รวยอาจิณ  รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  วันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณี และจะมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน โดยทุกปีจะพบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในค่ำคืนวันลอยกระทง จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะในช่วงลอยกระทง 3 วัน (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง) ระหว่างปี 2557-2561 พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำรวม 166 ราย (เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 29 ราย) โดยในปี 2561 เพียงปีเดียว พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 26 ราย (เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 5 ราย) และบางรายอาจได้รับอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ พลุ ทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ ขอให้ระมัดระวังอุบัติเหตุดังกล่าว นอกจากนี้ ขอแนะนำวัยรุ่นคู่รักที่มักควงคู่กันออกมาลอยกระทงให้รู้จักป้องกันการมีเพศสัมพันธ์


คำแนะนำในการป้องกันการจมน้ำ ให้ยึดหลัก 3 อย่า คือ 1.อย่าใกล้: อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ 2.อย่าเก็บ: อย่าลงน้ำไปเก็บเงินในกระทง 3.อย่าก้ม: อย่าก้มไปลอยกระทง โดยผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึง ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ รวมถึงในกะละมังหรือถังน้ำด้วย และไม่ควรให้เด็กลงเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงเด็ดขาด เพราะเด็กอาจเสี่ยงจมน้ำและเสียชีวิตได้ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก


นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคำแนะนำในการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เพื่อความปลอดภัย ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ไม่จุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ใกล้วัตถุไวไฟหรืออาคารบ้านเรือน ไม่เล่นผาดโผน อาจเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ 2.ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟมาจุด 3.หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธี ควรอ่านคำแนะนำก่อน และควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน 4.ห้ามพยายามจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุที่จุดแล้วไม่ติดอย่างเด็ดขาด 5.ไม่เก็บประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แดดส่องถึง เพราะอาจเกิดการเสียดสีและระเบิดได้ 6.ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 7.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้จุดเองเด็ดขาด 8.ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อย่างเคร่งครัด และ 9.หากเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล และพันบาดแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผลเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหายได้ และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669


นอกจากนี้ ขอแนะนำกลุ่มวัยรุ่นให้มีสติ รู้จักป้องกันการมีเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี ดังนี้ 1.ควรหาวิธีปฏิเสธหรือต่อรอง  เมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์หรือเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย 2.หากหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรค หรือการตั้งครรภ์ที่ยังไม่พร้อม 3.ระมัดระวังและไม่ควรไว้ใจผู้อื่นง่ายๆ ควรไปลอยกระทงเป็นกลุ่มไม่ไปในพื้นที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยง อย่าเปิดโอกาสที่จะอยู่ด้วยกันสองต่อสอง 4.ไม่ควรพิสูจน์ความรักด้วยการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวี การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อันจะนำไปสู่ปัญหาการทำแท้ง ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและสังคมตามมา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code