วันนี้คุณล้างมือแล้วหรือยัง?
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก กระทรวงสาธารณสุข
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.
ล้างมือหรือยัง? กลายเป็นคำถามยอดฮิตยุค 2020 ไปแล้ว เมื่อทั่วโลกต่างเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด – 19 แม้สถานการณ์การจะดีขึ้น แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ยังคงเป็นวิธีที่สามารถป้องกันและทำได้ง่ายๆ นอกจากนี้ การล้างมือยังช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นต้น
15 ตุลาคมของทุกปี วันล้างมือโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือ ว่าสามารถช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ โดยเฉพาะช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสร้างวัฒนธรรม การล้างมือให้สะอาดถูกสุขอนามัยให้เกิดขึ้นทั่วโลก
ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า การสำรวจพฤติกรรมการล้างมือและสถานการณ์โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อในประเทศไทย พบว่า มีอัตราป่วยของประชาชนลดลงทุกปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 อาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความตระหนักในการล้างมือมากขึ้น
สิ่งของสำคัญที่เชื่อว่าหลายคนต้องมีติดตัวในตอนนี้คือ เจลแอลกอฮอล์ เอาไว้ล้างมือหลังจากหยิบจับสิ่งของต่างๆ โดยในการล้างมือแต่ละครั้งนั้น ต้องล้างให้สะอาดย่างน้อย 20 วินาที โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ดีที่สุด หรือ
ใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 % ขึ้นไป ถูให้ทั่วแล้วปล่อยให้แห้ง โดยให้ปฏิบัติดังนี้
1.ล้างมือบ่อยๆ ลดโอกาสรับเชื้อจากการสัมผัส
2.ล้างมือหลังจับของสาธารณะ ป้องกันเชื้อที่จะติดมาด้วย
3.ล้างมือเมื่อถึงบ้าน ไม่พาเชื้อโรคมาติดคนและของในบ้าน
4.ล้างมือก่อนกิน ไม่นำเชื้อเข้าไปปนเปื้อนอาหารและช้อนส้อมที่จับ
5.ล้างมือหลังกิน ไม่นำเชื้อออกไปก่อนทำอย่างอื่น
การล้างมือ ถือเป็นหนึ่งในชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่ทุกคนพึงปฏิบัติเพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในมิติด้านสุขภาพ ต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ ที่แตกต่างจากแนวทางปฏิบัติเดิมๆ ที่คุ้นเคยหรือ การสร้าง “ชีวิตวิถีใหม่” ซึ่งทุกคนในสังคมต้องเริ่มต้นจากตัวเอง ในการปรับพฤติกรรมแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง สอดคล้องกับบทบาทการดำเนินงานของ สสส. ในการกระตุ้นเตือนและเชิญชวนให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพ และเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ อาทิ สวมหน้ากาก ล้างมือ และการเว้นระยะห่างทางสังคม
พฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน สัมผัสสิ่งเหล่านี้ ต้องล้างมือทุกครั้ง
1.ตู้อัตโนมัติ เช่น ATM MRT/BTS และ Vending Machine
2.ตัวอาคาร เช่น ราวบันได ราวบันไดเลื่อน ประตู ลูกบิด และบานผลัก
3.ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น เสา ราวโหน ราวจับ ประตู เบาะ
4.เงิน เช่น ซื้อของ รับเงินทอน
5.โรงอาหาร/ห้องอาหาร เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ และเครื่องปรุง
7 เทคนิคการล้างมือ ได้แก่ 1.เริ่มล้างด้วยน้ำและสบู่ ใช้ฝ่ามือถูกัน 2.ใช้ฝ่ามือถูหลังมือ และนิ้วถูซอกนิ้ว 3.ใช้ฝ่ามือถูฝ่ามือ และนิ้วถูซอกนิ้ว 4.ใช้หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5.ใช้ฝ่ามือถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบ 6.ใช้ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ 7.ใช้ฝ่ามือถูรอบข้อมือ
การล้างมือ ถือเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันโควิด-19 และโรคอื่นๆ สสส.มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยยังคงเน้นย้ำให้ทุกคน สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม รับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนรวม และอย่าลืมถามคนที่คุณรักว่า ล้างมือหรือยัง? เพื่อแสดงถึงความรักและความห่วงใย ในช่วงที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น