`วัดบันดาลใจ` ความหวังใหม่พลิกฟื้นศรัทธาสาธุชน

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา


ภาพประกอบจากแฟนเพจวัดบันดาลใจ


'วัดบันดาลใจ' ความหวังใหม่พลิกฟื้นศรัทธาสาธุชน thaihealth


การที่จะมีวัดอย่างในอุดมคติที่มีแนวคิดว่า วัดเป็นศูนย์รวมทุกสิ่งอย่าง ทั้งการเรียนรู้ ความเข้าใจ และแหล่งปฏิบัติธรรม ในปัจจุบันนั้น เรียกได้ว่า แทบจะมีความเป็นไปที่น้อยมากหรือไม่มีเลย อาจจะเป็นเพราะว่า ปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพสังคมในปัจจุบัน ทั้งการใช้ชีวิต หรือรวมไปถึงการไม่ตอบโจทย์ให้กับสภาพสังคมโดยรอบของแต่ละวัด จนราวกับมีความรู้สึกว่า หรือวัดอย่างที่เราอยากให้เป็นนั้น ไม่มีอยู่จริง…


แต่โครงการ 'วัดบันดาลใจ' ที่มีวัตถุประสงค์ให้วัดกลับมามีบทบาทต่อชุมชนท้องถิ่นอีกครั้ง ก็ได้ทำให้ความตั้งใจนี้เกิดขึ้น เพราะจากการดำเนินการมากว่า 3 ปี ได้ฟื้นฟูให้วัดกลับมาเป็นสถานที่ที่มากกว่าภาพจำหลัก ผ่านการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยมี ปริยาภรณ์ สุขกุล ผู้จัดการโครงการ, วิลาสินี ยมสาร สถาปนิกโครงการ และ ภัสภรณ์ ชีพชล นักวิชาการโครงการ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มโครงการ ให้เราได้มองเห็นถึงภาพรวมกว้างๆ ของโครงการนี้


อยากให้ทางกลุ่มช่วยอธิบายถึงโครงการนี้แบบคร่าวๆ หน่อยครับ


ปริยาภรณ์ : สืบเนื่องจากสถาบันอาศรมศิลป์เอง ที่เป็นสถาบันที่สอนทางด้านสถาปัตยกรรมด้วย แล้วก็ทำงานกับชุมชน ซึ่ง อ.ธีรพล นิยม ที่เป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน มองเห็นความสำคัญในเรื่องของการพลิกฟื้นวัดให้กลับมามีบทบาทเดิม คือ กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน แล้วก็บทบาทที่เข้ามาฟื้นฟูหรือพัฒนาในเรื่อง ส่งเสริมเรื่องจิตวิญญาณของคน ซึ่งตอนนี้ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างของการเปลี่ยนในสังคมปัจจุบัน ก็ทำให้บทบาทวัดลดน้อยลงไป แล้วก็เราได้ยินข่าวที่ในทางที่ไม่ดีกับวัดในหลายๆ เรื่อง มันก็ทำให้คนเสื่อมศรัทธากับวัด เราก็อยากที่จะไปฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา


ทีนี้เราก็เลยมองว่า สิ่งที่เรามีประสบการณ์ความรู้ความสามารถที่เราช่วยได้ ก็คือการออกแบบ เพราะว่าเราก็เป็นสตูดิโอสถาปนิก แล้วก็มีเครือข่ายร่วมวิชาชีพต่างๆ ก็เลยริเริ่มที่จะทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยที่ไปขอทุนสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งทาง สสส. ก็เป็นองค์กรที่สนับสนุนในเรื่องสุขภาวะก็สนใจ ก็มองว่าวัดเอง ก็เป็นพื้นที่สุขภาวะที่สำคัญในระดับชุมชน สังคม และประเทศ เรามีวัดประมาณกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแทนที่เราจะไปสร้างพื้นที่สุขภาวะใหม่ๆ ทำไมเราไม่ใช้รากฐานที่มีอยู่ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมให้เกิดประโยชน์ล่ะ แล้วอีกอย่าง พระเองก็มีจิตวิญญาณทางนี้สูงมาก คือท่านมีเรื่องธรรมะในใจ แล้วก็มีพลังในการขับเคลื่อนคน แล้วก็การเผยแผ่หรือการสอน หรือทำให้คนกลับมามองการเป็นไปของตนเอง ประมาณนี้ค่ะ


ทีนี้เป้าหมายที่ทางกลุ่มได้ตั้งเป้าไว้ ว่าอยากให้วัดเข้ากับสังคมปัจจุบัน รบกวนให้แต่ละคนช่วยเล่าอธิบายในแต่ละภาคส่วนหน่อยครับว่า เป็นยังไงบ้าง


วิลาสินี : โดยส่วนตัวเราเองก็ไม่เคยทำงานกับวัดมาก่อน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ได้เข้าไป เรารู้สึกว่า พระก็เหมือนครู เหมือนกับเราได้ทำงานไปด้วย และได้เรียนรู้ ไปด้วย และได้กลับมาทบทวนเอง แล้วในระหว่างที่เราทำงาน เราไม่ได้ทำงานแค่พระกับเรา แต่เราทำงานทั้งชุมชนกับเยาวชนด้วย มันเหมือนกับเราได้สร้างความร่วมมือ ระหว่าง เรา พระ ชุมชน เข้าด้วยกัน เหมือนกับเราเป็นเครื่องมือที่ช่วยทั้งสองด้านในการพัฒนาวัดค่ะ ส่วนทักษะของเราในด้านการออกแบบ โดยส่วนตัวก็ทำหลายๆ อย่าง ก็เลยเปรียบตัวเองเป็นสถาปนิกชุมชนค่ะ ที่ไปทำพวกการทำผังแม่บท สนามเด็กเล่น อาคารเล็กๆ หรือว่าภูมิทัศน์ต่างๆ คือเราก็ไม่ได้บอกนะคะว่าตัวเองเป็นสถาปนิก เราเหมือนเป็นคนที่ไปช่วยเขาคิดเขาทำมากกว่า


ภัสภรณ์ : อย่างตัวเราจบทางด้านโบราณคดีมา ก็จะเอาความรู้ของตัวเองที่มีมาประยุกต์ใช้ คือหาองค์ความรู้ให้กับนักออกแบบเพื่อนำมาสู่การออกแบบที่ถูกต้อง ก็คือสร้างความเข้าใจกับบริบทพื้นที่ อย่างเช่นว่าเราไปออกแบบที่ภาคเหนือ มันจะมีรูปแบบศิลปะยังไงบ้าง เราจะหยิบยังไง เอามาใช้ยังไง คือสร้างให้ไปสู่การออกแบบ ถ้าถามว่ายากมั้ย จริงๆ ก็ไม่ยากนะคะ เพราะแต่ละท้องที่ ก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราแค่ลงลึกเข้าไปอีกหน่อยว่า ตรงนี้มีที่มายังไง บริบทเป็นยังไงแล้วก็ใครใช้งานอยู่ คือเหมือนกับเราเอาข้อมูลมาปะติดปะต่อด้วย แต่ก็ไม่ถึงว่าคลิกเดียวค่ะ ก็ต้องมีการค้นคว้ากับกองหนังสือมากกว่า


'วัดบันดาลใจ' ความหวังใหม่พลิกฟื้นศรัทธาสาธุชน thaihealth


ปริยาภรณ์ : ในส่วนของเรา เราเป็นนักบริหารจัดการ ส่วนใหญ่เป็นนักวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น การที่มาทำงานกับวัด ซึ่งเมื่อก่อนเราจะเป็นพวกคิดไว ทำไว แต่พอมาทำงานกับวัด มันไม่ใช่แค่เราคนเดียว และที่สาธารณะแล้ว คือไม่ใช่มุ่งไปสู่ความสำเร็จแล้ว แต่มันมุ่งไปสู่การทำงานในเชิงกระบวนการแล้ว คือเอาทุกคนมาอยู่ในงานแล้วไปพร้อมกัน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องมีการลดอัตตาหลายอย่าง แล้วความคาดหวังอยู่ที่อาจจะได้ 100 แต่อาจจะได้แค่ 50-70 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ทุกคนจะไปได้หมด


ซึ่งถือว่ายากพอสมควร เนื่องจากวัดเป็นพื้นที่สาธารณะ แล้วก็อยู่บนความขัดแย้ง แล้วมันมีผู้รับประโยชน์เยอะ ในเรื่องอื่นๆ ของการใช้พื้นที่เข้ามา เพราะฉะนั้น ทำยังไงที่จะให้การทำงานของเรา ขับเคลื่อนได้ แต่ว่าให้มีข้อขัดแย้งให้น้อยที่สุด ไม่ไปพยายามสร้างความขัดแย้ง ต้องมีการประนีประนอมเจรจา


แน่นอนว่า การทำงานตามหลักวิถีพุทธจากคำสอน ก็ได้เข้ามาส่งเสริมในโครงการนี้ด้วย


ปริยาภรณ์ : ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดการเรียนรู้ระหว่างทาง เราก็เกิดการเรียนรู้ ในตอนนี้ คือ  หนึ่ง เราต้องจัดการองค์ความรู้ คือมันเกิดจากการบันทึกต่างๆ เช่น ความเข้าใจในหลักพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัยในการออกแบบ แล้วก็เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องสถาปัตยกรรม ซึ่งเรื่องการออกแบบภูมิทัศน์นี่คือสำคัญมากเลยนะ คือหลักๆ เลย คือ เน้นไปปรับปรุงวัดให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ว่าการปรับปรุงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก็มีในเรื่องของการจัดสรรพื้นที่อย่างบางวัดก็ใช้ประโยชน์หนาแน่นมาก สอง จะเลือก พรรณไม้ยังไง ให้เหมาะกับการปลูกในวัด โดยตามโซนต่างๆ เช่นไม้ที่ให้ร่มเงา หรือถ้าเป็นไม้ที่ไปปลูกในที่จอดรถ ก็เป็นไม้ที่ไม่เปราะง่าย ต้องเป็นไม้ที่ใบไม้ไม่ร่วงมาก เพราะอย่างบางวัดก็บอกว่า ต้องดูแลรักษาแบบง่ายๆ เลยนะ คือวัดไม่ใช่บริษัทเอกชนที่จ้างคนทำสวนมา พระก็มาทำบ้าง ญาติโยมก็ทำเองบ้าง มาช่วยกัน คือต้องดูแลรักษาให้เรียบง่ายที่สุด คือมันเป็นองค์ความรู้พัฒนามา แล้วก็ปริมาณในเชิงพุทธประวัติ ที่ต้องเรียนรู้ด้วย มันต้องเชื่อมโยงกันหมด มีองค์ความรู้ในหลายสาขามาก ซึ่งเราต้องเก็บเกี่ยวมา


อยากให้แต่ละคนนิยามคำว่า 'วัดบันดาลใจ' ตามความคิดเห็นในแต่ละคนหน่อยครับ


วิลาสินี : จริงๆ คำนี้ มันเป็นอะไรก็ได้ค่ะ และก็เป็นใครก็ได้ มาช่วยกันพัฒนาวัด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และเป็นอีกแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายร้อยวัดในประเทศไทย


ภัสภรณ์ : คิดเหมือนเกรซเลยค่ะ (หัวเราะเบาๆ) คืออยากให้วัดเป็นที่บันดาลใจ ไม่ใช่แค่บันดาลใจในสิ่งที่ไปทำงาน ไม่ใช่ว่าอยากให้วัดอื่นมีแรงบันดาลใจในทางกายภาพ แต่อยากให้มีแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วม มีแรงบันดาลใจของทางทางโลกและทางธรรม รวมถึงชุมชนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนเฒ่าคนแก่ หรือว่า คนรุ่นใหม่ เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรสักอย่าง


ปริยาภรณ์ : เพิ่มอีกข้อละกัน มันเป็นเรื่องของวัดที่สร้างแรงบันดาลใจ จนวัดที่เราเข้าไปทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วส่งต่อในทางที่ดีไปให้ผู้อื่น ให้กับวัดและผู้อื่นที่จะทำงาน ที่จะรับใช้พระพุทธศาสนา หรือ รับใช้สังคม ประมาณนี้มากกว่า

Shares:
QR Code :
QR Code