วัฒนธรรมนำสู่การรักษ์น้ำ ป่าสร้าง “จอมกิตติ” น่าอยู่ยั่งยืน
ความเข้มแข็งเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน “บ้านจอมกิตติ”หมู่ที่ 13 ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียงจ.แม่ฮ่องสอน ที่มีการอยู่ร่วมกันของคนต่างชาติพันธุ์ทั้งคนเมือง ละว้า และกะเหรี่ยง จำนวน 149 ครัวเรือน กลายเป็นจุดเด่นสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นให้คนท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และแหล่งน้ำในพื้นที่
นายกร เสริมสกุล แกนนำชุมชนบ้านจอมกิตติ บอกว่า จากการที่เกิดภัยพิบัติดินโคลนถล่มในพื้นที่ หมู่ที่ 13 บ้านจอมกิตติเมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายให้ชาวบ้านที่ค่อนข้างมีฐานะยากจนอย่างมาก บ้านพังเสียหาย รวมถึงระบบท่อน้ำที่ต่อมาจากแหล่งลำห้วยเข้าบ้านเรือนเสียหาย จนเกิดการขาดแคลนน้ำใช้ ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าโชคดีอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เข้ามาช่วยเรื่ององค์ความรู้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้และการกระตุ้นให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชมท้องถิ่น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
การดำเนินงานเริ่มด้วยการสำรวจครัวเรือนนำข้อมูลมาวางแผน ผ่านเวทีประชาคม ชุมชนรับรู้และเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเรื่องแรกที่อยากจะขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนตระหนักและสร้างจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนขึ้น เพื่อประชุมระดมแนวคิดหาสาเหตุแนวทางแก้ไขอย่างมีส่วนร่วม
การสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกร บอกว่า จะเน้นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมเน้นการปลูกป่าต้นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาป่า ใช้วัฒนธรรมและความเชื่อมาประยุกต์กับการดูแลป่า เช่น การบวชต้นไม้ที่ต้องการสืบชะตาให้ต้นไม้มีชีวิตอยู่ต่อไปเพราะพื้นที่ที่มีการบวชต้นไม้เปรียบเสมือนพื้นที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าความสมบูรณ์ของผืนป่าก็จะยังคงอยู่รวมถึงการทำแนวกันไฟป้องกันการเกิดไฟไหม้ป่าในช่วงหน้าร้อน และการร่วมมือกันต่อท่อน้ำจากลำห้วยเข้าบ้านเรือน เพื่อให้มีน้ำใช้โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
“ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทำให้ชาวบ้านเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากการที่ได้มามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมชาวบ้านได้ประโยชน์จากป่าสามารถเข้าไปหาของป่ามาบริโภคได้ตามฤดูกาล ได้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีน้ำใช้แม้ในช่วงหน้าร้อนที่แห้งแล้ง มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนมากขึ้นปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคเน้นการพึ่งพาตนเอง เป็นชุมชนที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน ทำให้ชุมชนมีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน“นายกร กล่าว
“บ้านจอมกิตติ” เป็นชุมชนที่มีการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เครือข่ายการทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคีและจิตสำนึกรักษ์ชุมชนนำเอาภูมิปัญญา วัฒนธรรม ความเชื่อเข้ามาช่วยในการสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างหน้าที่ดูแลป่าและน้ำเป็นของทุกคนไม่รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ หรือใครๆ เรียกว่า เป็นการจัดการชุมชนด้วยชุมชน ซึ่งการบริหารจัดการโครงการโดยชุมชนต่างชาติพันธุ์ ด้วยรูปแบบสภาผู้นำ เป็นระบบที่ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็ง มีกระบวนการเรียนรู้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนบ้านจอมกิตติมีความโดดเด่นในเรื่องของการให้ชุมชนที่เป็นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ร่วมมือกันในการดำเนินการโดยใช้วัฒนธรรม ความเชื่อมาเป็นตัวนำในการสร้างความตระหนักให้กับชาวบ้าน
นี่เป็นเพียงหนึ่งผลงานเด่นที่ สสส.ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคมเท่านั้น ซึ่งผลงานสร้างเสริมสุขภาพยังมีอีกจำนวนมาก ซึ่งจะถูกนำเสนอภายในเวที”สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 พฤษภาคมนี้ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนาจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ