วังวน…หมอกควัน ปัญหาซ้ำทุกข์ซ้อน

          เดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติหมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบนมากที่สุด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ…สุขภาพประชาชน


วังวน...หมอกควัน ปัญหาซ้ำทุกข์ซ้อน thaihealth


          งานวิจัยชี้ว่า “วิกฤติหมอกควัน” ภาคเหนือมีสาเหตุสำคัญเกิดจากการเผาในพื้นที่โล่ง ไฟป่า การใช้ยานพาหนะ ภาคอุตสาหกรรม และจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดจากไฟป่าและการเผาพื้นที่เกษตรกรถึง 50-70% การเผา…จึงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดหมอกควันและฝุ่นละออง


          โครงการวิจัย “แผนที่เสี่ยงภัยการเผาในที่โล่งจากข้อมูลเชิงพื้นที่หลายแหล่งของจังหวัดเชียงราย” โดยการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สสส. และ “การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง กรณีศึกษาตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย”


          ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย และ อาจารย์ศราวุธ พงษ์ลี้รัตน์ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น เชียงใหม่ ชี้ถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่เผาไหม้กับปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ความเสี่ยง และข้อเสนอทางนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติในพื้นที่และระดับชาติไว้น่าสนใจ


          ประเด็นแรก…การใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นสาเหตุการเผาที่สำคัญที่สุด พื้นที่เผาไหม้จำนวนมากมักใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพืชไร่ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ ซึ่งอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-600 เมตร…อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นส่วนใหญ่ ช่วงฤดูปลูกเมษายน ถึงตุลาคม เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในเดือนมีนาคม จึงเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติหมอกควันมากที่สุด


          ในจังหวัดเชียงรายมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุด ระหว่างรอบปี 2550/2551 กับ 2551/2552 จาก 476,655 ไร่ เป็น 671,443 ไร่ คิดเป็น 29% และยังขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


          ถัดมา…สภาพภูมิอากาศ ช่วงมกราคมถึงเมษายนส่วนใหญ่มีความชื้นสัมพัทธ์น้อย มีการระเหยสูง มีปริมาณฝนน้อยที่สุดในรอบปี และมีความเร็วลมเฉลี่ย 1.8-2.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นสภาวะลมเบา ผล…ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไม่ถูกพัดออกจากพื้นที่ บวกกับสภาพป่าไม้เป็นป่าผลัดใบ มีสภาพเชื้อเพลิงค่อนข้างมาก จึงเพิ่มโอกาสเกิดการเผาไหม้มากขึ้น


          ประเด็นที่สาม…การตั้งถิ่นฐาน มีหมู่บ้านกระจายตัวทั่วไป รวมทั้งบนพื้นที่สูงและบางส่วนของพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งส่งผลต่อการเผาในที่โล่งของพื้นที่อนุรักษ์ด้วย ในขณะที่สถานีควบคุมไฟป่าในจังหวัดเชียงรายมีเพียง 4 แห่ง ดูแลพื้นที่ป่าได้เพียงร้อยละ 30.26 ของพื้นที่ป่า ซึ่งประกอบด้วยป่าสงวน 3,571,719 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 49 ของพื้นที่จังหวัด และอุทยานแห่งชาติอีก 1,128,839 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.59 กำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย…พื้นที่รับผิดชอบ 4,113 ไร่ ต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน จึงยากต่อการดูแล 


          พื้นที่เสี่ยงต่อการเผาระดับมากที่สุด ของเชียงราย คือ 1,567,343 ไร่ หรือร้อยละ 21.65 เสี่ยงระดับมาก 2,320,243 ไร่ หรือร้อยละ 32 กลุ่มอำเภอที่มีความเสี่ยงระดับมากถึงมากที่สุดส่วนใหญ่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงในแนวตะวันตกและตะวันออกของจังหวัด ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอพาน อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอแม่สรวย…เป็นพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเฝ้าระวัง ป้องกันการเผาในพื้นที่โล่ง


          แล้วก็มาถึงประเด็น…นโยบายลดการเผาในระดับต่างๆ เริ่มจาก…ระดับภูมิภาค เนื่องจากปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ส่งผลกระทบต่อประเทศข้างเคียง จึงเกิดข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการร่วมมือกัน ลงสัตยาบันเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 มีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย ส่วนใน ระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็มีกลุ่ม 5 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม โดยประเทศไทยเริ่มแนวคิดประสานงานแก้ปัญหาหมอกควันข้ามเขตแดนโดยคณะรัฐมนตรีของแต่ละประเทศเป็นกรรมการ ลงนามพร้อมกันเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2552


          กำหนดเป้าหมายลดการเผาที่ 1 พ.ศ.2554 ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันลดจำนวนจุดความร้อนสะสมทั้งปีให้เหลือไม่เกิน 75,000 จุด…ซึ่งทำได้สำเร็จ เพราะเกิดปรากฏการณ์ลานินญา ทำให้เกิดฝนตกช่วงเดือนมีนาคม จุดความร้อนจึงพบได้น้อย…เป้าหมายที่ 2 พ.ศ.2558 ร่วมกันลดจุดความร้อนสะสมให้เหลือไม่เกิน 50,000 จุด โดยประเทศสมาชิกต้องร่วมกันวางแผนจัดการ ลดจำนวนจุดความร้อนในประเทศของตนนำเสนอทุกปีพุ่งเป้าไปที่ นโยบายลดการเผาของประเทศไทย ตามมติ ครม. 30 ตุลาคม 2550 เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และไฟป่า พ.ศ.2551-2554 ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะยาว ให้หน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ…ต่อมามีมติ ครม.ปี 2556 เรื่องมาตรการป้องกัน…แก้ปัญหามลพิษจากหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ และมีมติเพิ่มเติม แก้มาตรการควบคุมการเผาเป็น…“ไม่ให้มีการเผา”


วังวน...หมอกควัน ปัญหาซ้ำทุกข์ซ้อน thaihealth          ประเด็นน่าสนใจ…งานวิจัยพบว่า “นโยบายไม่ให้มีการเผา”…ไม่สามารถสำเร็จได้ เพราะขัดต่อข้อเท็จจริง และวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ทำให้มีการบุกรุกป่า…พื้นที่อนุรักษ์ การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่สูงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเผา


          ชาวบ้านเชื่อว่าการเผาเป็นการเพิ่มคุณภาพดิน ทำให้เพาะปลูกได้ดี…การเผาทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลงทุนน้อย พื้นที่เผาส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นเหตุหลักของการทำลายหน้าดินและระบบนิเวศเสื่อมโทรมอีกด้วย ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า “การเผา” เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาหมอกควัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ จึงยินดีให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่เกษตร และพร้อมที่จะกำหนดกติกาในการหาของป่า โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบรรเทาสถานการณ์หมอกควันให้ลดลง


          ปัจจุบันต้นทุนการปลูกข้าวโพดสูงขึ้นทุกปี ราคาข้าวโพดตกต่ำ ราคาแต่ละปีไม่แน่นอน ทำให้ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 66 จึงต้องการปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวโพด พืชที่ต้องการปลูกแทนข้าวโพด คือ ชา ยางพารา กาแฟ ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนพันธุ์พืช ความรู้ด้านการผลิต การตลาด


          เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย ขอเสนอรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งกำหนดนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารอย่างเหมาะสม กำหนดเขตพื้นที่โซนนิ่งให้ชัดเจน “เขตป่าอนุรักษ์” ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ… ต้องห้ามปลูกพืชเชิงเดี่ยวเด็ดขาด…“เขตปลูกพืชเศรษฐกิจ” ทำได้แต่ต้องทำแนวเขตแยกจากเขตอนุรักษ์ พร้อมๆ ไปกับสนับสนุนการศึกษาวิจัยชนิดพืชที่เหมาะสมกับสภาพดิน น้ำ ป่า อากาศ ทั้งพืชที่เป็นอาหาร สมุนไพร เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการที่คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน บูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชนกับหน่วยงานและภาคส่วนอื่นๆในสังคม


          “องค์ความรู้…ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับหลักวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน” อดีต ส.ว.เชียงราย กล่าวทิ้งท้าย


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ