วอนหยุดเข้าทรงส่อง13ชีวิตหวั่นเกิดบาดแผลในใจ
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
กรมจิตแพทย์จัดทีมจิตแพทย์ดูแลญาติ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงฯขอให้เชื่อมั่นการทำงานเจ้าหน้าที่ หยุดเข้าทรงดูชีวิตเหยื่อ แนะไม่ดูข่าวไม่ติดต่อเกินชม. หากเครียด แนะออกกำลังกาย
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตร่วมกับทีมสาธารณสุขในจ.เชียงรายจัดทีมสุขภาพจิตดูแลครอบครัวและญาติที่พักอยู่ในเต๊นท์บริเวณหน้าถ้ำซึ่งมีประมาณ 50-60 คน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) จังหวัดเชียงรายได้ตั้งวอร์รูมด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่รพ.แม่สาย ติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อปรับแผนการดูแลให้เหมาะสมทุกวัน โดยเฉพาะการลดสิ่งที่จะกระตุ้นหรือซ้ำเติมรบกวนสภาพจิตใจของญาติ เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมในการดูแลสภาวะจิตใจของทีมฟุตบอลทั้ง 13 คนและครอบครัวไว้แล้วหลังจากที่ทีมค้นหาพบตัว โดยมีโรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญจิตใจทั้งผู้ใหญ่ เด็กและวัยรุ่น ร่วมดูแลอย่างดีที่สุด
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง กล่าวว่า จากการติดตามผลการเยี่ยมให้กำลังใจ 13 ครอบครัวของผู้ที่พลัดหลงของทีมสุขภาพจิต มี 2 เรื่องที่ต้องระวังคือ 1.การสวดมนต์เป็นสิ่งดี แต่ควรเป็นเวลาที่ญาติพร้อมและอยากทำ และ 2. การทำพิธีตามความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าทรงหรือการทรงเจ้าเพื่อให้รู้ความเป็นไปของผู้พลัดหลงภายในถ้ำ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าเข้าทรงมักจะบอกว่าเด็กทำผิดหรือล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ญาติก็ยังจะวิตกกังวลสะสมอยู่ในใจถึงแม้ว่าจะบวงสรวงหรือแก้บนไปแล้วก็ตาม บางรายจะเกิดปมในใจว่าทำได้ถูกต้องหรือไม่ จึงขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นการทำงานและร่วมกันเป็นกำลังใจให้ทีมค้นหาซึ่งกำลังทำงานกันอย่างเข้มข้นและเป็นกำลังใจให้ครอบครัวและญาติ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงขณะนี้นอกจากผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำ 13 คนแล้ว คือผู้ที่เฝ้ารอคอยการกลับมาอย่างมีความหวังทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง อาจมีภาวะว้าวุ้นใจ กระวนกระวายใจ ร้องไห้คร่ำครวญ กลัวที่จะเกิดความสูญเสีย บางคนถึงขั้นนอนไม่หลับ เบื้องต้นต้องยอมรับก่อนว่าขณะนี้เป็นวิกฤตฉุกเฉินที่เป็นเหตุให้เกิดอาการดังกล่าว ฉะนั้นอย่าตื่นกลัว หัวใจสำคัญของการก้าวพ้นภาวะเหล่านี้ อยู่ที่บทบาทของชุมชนหรือบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้นต้องช่วยกันให้กำลังใจ ร่วมกันหากิจกรรมอื่นๆ ทำแทนที่จะนั่งรอคอยความหวัง หรือเรียกว่าเปลี่ยนจากเหยื่อให้เป็นผู้กอบกู้วิกฤต เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ ขอเน้นย้ำให้ทุกคนผนึกกำลังอย่างหนักแน่นในระหว่างกลุ่มญาติ หรือชุมชนเพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการให้กำลังใจจากชุมชนออนไลน์ต่างๆ
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทั้ง 13 คนยังมีชีวิตอยู่ เพราะขาดแค่อาหารเท่านั้น อาจอยู่จุดใดจุดหนึ่ง หากตามเจอก็สามารถพากลับมาได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือหลังรอดพ้นวิกฤต กลุ่มคนเหล่านี้ อาจมีบาดแผลในจิตใจ เพราะต้องเผชิญวิกฤตชีวิตที่คนทั่วไปน้อยนักจะเจอ อาจกลายเป็นตื่นกลัว ฟ้าฝน ที่มืด ที่แคบ ฝันร้าย หวาดผวา หากเป็นเพียงเล็กน้อยแค่ 2 สัปดาห์ แล้วหายไปก็ถือว่าปกติ แต่หากมีอาการเหล่านั้นนานนับเดือนต้องปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อบำบัดรักษา ส่วนกรณีการพลิกผันไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตได้ ก็ต้องเยียวยาครอบครัว ให้กำลังใจกันต่อไป
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ถ้าเราอยู่กับอะไรนานๆ จะทำให้มีอารมณ์ร่วมและจะจมลึกลงไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการติดตามข่าวไม่ควรติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมงให้ดูแล้วพักเพื่อปรับอารมณ์ ควรแบ่งเวลาทำกิจวัตรประจำวันปกติของเรา วิธีสังเกตว่าเครียดหรือไม่นั้น ให้ดูจากชีวิตปกติของเราเสียไปหรือไม่ การกิน การนอน การทำงานผิดปกติจากเดิมหรือไม่ บางคนเครียดมากก็นอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด เป็นต้น ทั้งนี้หากมีอารมณ์ร่วมมากแนะนำให้ออกกำลังกาย เพราะถ้าอยู่เฉยๆ พลังงานก็จะไปอยู่ที่สมอง ทำให้คิดไม่หยุด ถ้าจะหยุดคิดหรือหยุดกังวลต้องมีการขยับตัว เป็นไปตามหลักการ คือ “ตัวขยับหัวหยุด ตัวหยุดหัวขยับ”.