วอนสังคม…ร่วมแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่ามีคนป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การป้องกันจึงเป็นอีกหนึ่งมาตราการที่กรมสุขภาพจิตนำมาใช้ นั่นก็คือการให้ความรู้ที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวของผู้ที่ป่วยและคนใกล้เคียง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจผ่านสื่อ หวังจะยับยั้งการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นในสังคม
การจากไปของนักร้องดังของ เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park จากการฆ่าตัวตายที่มีการประเมินว่ามาจากการเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้สังคมหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคนี้มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง ที่โรคซึมเศร้ากำลังคืบคลานเข้ามาสู่สังคมและกำลังขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างเงียบ ๆ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านี้ทั้งหมดมากถึง 300 ล้านคนทั่วโลก และประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยด้วยโลกนี้มีอยู่ 1 ล้าน 5 แสนคน ซึ่งสาเหตุของการเป็นโรคประกอบด้วยหลายปัจจัยร่วมกัน อาทิ ผิดหวังอย่างรุนแรง เศร้าเสียใจจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจากชีวิต โดยสาเหตุเหล่านี้กลับก่อให้เกิดการเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นภายในจิตใจได้อย่างไม่รู้ตัว
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้หามาตรการการป้องกันและการหาทางออก ไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้านี้ได้ ซึ่งการสื่อสารมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยหวังพึ่งพาการสื่อสารและหารือร่วมกันกับนักวิชาการด้านสื่อ และผู้ผลิตในแวดวงสื่อสารมวลชนของประเทศ ภาคประชาชนสังคมต้องเข้ามาเป็นส่วนร่วม สร้างความตระหนักรู้ ว่าการเป็นโรคซึมเศร้า เป็นเรื่องที่คนรอบข้างต้องให้ความใส่ใจ พร้อมใส่ความรู้เหล่านี้ลงในสื่อหลายรูปแบบ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์โรคซึมเศร้านั้นดีขึ้น
อาการโรคซึมเศร้านั้นนอกจากจะเกิดจากความผิดหวังแล้ว อีกสาเหตุหนึ่ง เป็นผลมาจากการไม่เชื่อมั่นในตัวเอง มีโอกาสคิดลบกับตัวเอง ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำอันตรายกับตัวเองได้ การหาทางออกที่ดี คือ การระบายปัญหาของตัวเอง ด้วยการพูดคุยกับบุคคลอื่น เพื่อรับฟังปัญหาที่คิดมาก หรือการปรับวิธีคิดให้มีความเชื่อมั่นกับตัวเอง
นอจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องอย่างโรคซึมเศร้าจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีขึ้นให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมสู่การสื่อสารความรู้สุขภาพจิตได้อย่างสร้างสรรค์และมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากที่สุด
ที่สำคัญคนในสังคมจะต้องร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อลดอคติหรือซ้ำเติมคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะอาจจะยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำหรือสร้างตราบาปให้เกิดขึ้นได้ และหันมาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้าแทน เพื่อที่จะให้คนเหล่านี้ได้กลับมาสู่สภาวะปกติและหายขาดจาการเป็นโรคซึมเศร้า