วอนนายจ้างช่วยดูแล กลุ่มคนท้องช่วงโควิด

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


วอนนายจ้างช่วยดูแล กลุ่มคนท้องช่วงโควิด thaihealth


แฟ้มภาพ


วงเสวนาวอนนายจ้างเข้าใจความเสี่ยงของกลุ่มหญิงท้อง ช่วงโควิด-19 ชี้เป็นกลุ่มเปราะบาง ภูมิคุ้มกันน้อยเสี่ยงติดเชื้อ แนะควรออกมาตรการเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนท้องเป็นพิเศษ


นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ท้อง-คลอดในวิกฤติโควิดชะตากรรมแรงงานหญิงที่ถูกเมิน” ว่า จากสถานการณ์ของคนงานและแรงงานหญิงในช่วงวิกฤตโควิดช่วงนี้น่าเป็นห่วงมาก มีการติดเชื้อจำนวนมาก แต่โรงงานหลายแห่งก็ไม่ได้มีมีมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก ไม่ดูแลเรื่องรพ.สนาม ห่วงแต่เรื่องการผลิตให้ทันตามออร์เดอร์จากต่างประเทศ ทำให้มีการกระจายเชื้อไปในชุมชน ดังนั้นขอให้หน่วยงานรัฐและนายจ้าง ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้


1.โรงงานต่างๆ ควรมีการตรวจเชิงรุกที่ชัดเจน 2. มีการสร้างรพ.สนามที่มีมาตรฐานมีบุคลากรการแพทย์ในการดูแล และมียารักษา มีระบบการส่ง หากโรงงานไหนไม่มีพื้นที่สำหรับตั้ง รพ.สนาม ต้องประสานงานกับท้องถิ่นในการหาสถานที่ดำเนินการ 3. ร่วมมือกับองค์กรแรงงานโดยเฉพาะสหภาพแรงงานในโรงงาน ในช่วยเหลือดูแลเรื่องการเจ็บป่วย หาทางออกจากวิกฤติ และ 4.มีการเยียวยาตามสิทธิที่ลูกจ้างมีอยู่เดิม รวมถึงสิทธิในการเยียวยาเพิ่มเติมจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ควรดูแลเป็นพิเศษ


นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม กล่าวว่า การดูแลแรงงานสถานการณ์โควิด เราเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เช่น สวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงเป็นมือประสานสิบทิศในสิ่งที่แรงงานต้องการความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ ในภาพแรงงานที่ตนดูแลอยู่นั้นมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลให้ดี เพราะ 1 คนท้องมี 2 ชีวิต ต้องดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น


ไม่ร่วมวงรับประทานอาหารกับคนอื่น อยู่ให้ห่างจากคนงานอื่นๆ ซึ่งนายจ้างต้องให้ความสำคัญ สนับสนุนให้พนักงานได้รับการตรวจหาเชื้อ ไม่เฉพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะถ้าให้แรงงานไปหาตรวจเองก็จะมีค่าใช้จ่ายเป็นพันบาท และไม่ควรรอเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเข้าดูแล เพราะตอนนี้มีการแพร่ระบาดเยอะ นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างก่อนด้วย


นางอัณธิกา โคตะมะ รองเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 แรงงานมีความยากลำบากมาก บางบริษัทไม่มีแม้กระทั่งที่ตรวจ หรือตรวจเจอเชื้อก็ไม่มีเตียงรักษา กลุ่มคนท้องจะลำบากมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางภูมิคุ้มกันน้อยเสี่ยงติดเชื้อ ล่าสุดในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง มีพนักงานหญิงตั้งครรภ์หลายคน ที่น่าเสียใจคือมี 1 ราย อายุครรภ์ 8 เดือน เสียชีวิตโดยไม่ทันได้เห็นหน้าลูก


แต่ที่แปลกคือรัฐบาลบอกว่ารักษาฟรี แต่สามีผู้เสียชีวิตระบุว่า รพ.เอกชนที่รักษาเรียกเก็บเงิน 1.5 แสนบาท ก็ไม่รู้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง เพราะรายนี้มีการผ่าคลอด และทารกอยู่ในตู้อบ 7 วัน อย่างไรก็ตาม เราพบว่าโรงงานบางแห่ง ให้พนักงานหญิงตั้งครรภ์ใช้สิทธิลาคลอด 98 วันก่อนกำหนดได้ เพื่อลดการเดินทางลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ผู้หญิงหลายคนไม่ใช้เพราะเก็บวันลาไว้อยู่กับลูก ให้นมลูกหลังคลอด ขณะที่โรงงานบางแห่งก็ไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษเลย ซึ่งเข้าใจว่านี่ไม่ใช่นโยบายของรัฐ จึงอยากให้รัฐมีการออกมาตรการดูแลคนท้องเพื่อให้โรงงานปฏิบัติตามด้วย อย่างน้อยที่เสนอไปคือน่าจะหยุดงาน 3-6 เดือน แล้วรับเงินเดือน 50-75% ก็ได้


ด้านนางเอ(นามสมมุติ) แรงงานหญิงที่คลอดลูกและติดโควิด-19 ด้วย กล่าวว่า ในช่วงที่ตั้งครรภ์ตนได้ฝากท้องกับรพ.แห่งหนึ่ง และดูแลครรภ์มาตลอด แต่พอใกล้ถึงเวลาคลอด ตนติดโควิด-19 จึงแจ้งไปยัง รพ.ที่ตนฝากครรภ์อยู่ แต่ได้รับการแจ้งกลับว่าไม่สามารถทำคลอดได้ เพราะไม่มีเตียงสำหรับคนไข้โควิด ทำให้ตนเสียใจ ตกใจมากกลัวว่าลูกในครรภ์จะเป็นอะไร ทางรพ.ช่วยประสานหาเตียงไป 2 แห่งถูกปฏิเสธ อยู่บนถนน 2 ชั่วโมง น้ำคร่ำแตก สุดท้าย รพ.ธัญบุรี ที่รับทำคลอดให้ และรักษาโควิดให้จนหายปกติ


ทั้งนี้ ตนคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ลูกที่เกิดมาก็ติดด้วย แต่ไม่มีอาการ อยู่รพ.ด้วยกันทั้งแม่และลูก 14 วัน ถึงกลับบ้านได้ ระหว่างนี้ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าคนไข้โควิดเยอะเตียงอาจจะเต็ม แต่ขอให้อธิบายให้มากกว่านี้ ให้เราเข้าใจเพราะคนจะคลอดมันอั้นไม่ได้ ชีวิตของคนจะฝากไว้กับโชคชะตาไม่ได้ จึงอยากขอให้การจัดการที่เป็นระบบต้องให้ดีกว่านี้

Shares:
QR Code :
QR Code