วธ.รุกเพิ่มสื่อดี-ปลอดภัยให้เด็กเรียนรู้

/data/content/25543/cms/e_cfgnuz123789.jpg


          วธ.รุกเพิ่มสื่อดี-ปลอดภัยให้เด็ก พร้อมคัดผลิต17โครงการทั้งสื่อต่างๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ เผยร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. คาดประกาศใช้เร็วๆ นี้


          ที่โรงแรมดิเอมเมอรัล กรุงเทพฯ น.ส.จันทร์สุดา รักษ์พลเมือง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ตามโครงการพัฒนากลไกการดำเนินงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ (ระยะทดลอง) ว่า การเพิ่มสื่อดี ลดสื่อที่มีความเสี่ยง และเพิ่มพื้นที่ที่ปลอดภัย ถือเป็นนโยบายสำคัญของ วธ. เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่ดี และเกิดเป็นพฤติกรรมเชิงบวก


          ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเรื่องดังกล่าวเกิดความต่อเนื่อง จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างเตรียมการ เพื่อรอให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวนั้น ทาง วธ. ได้จัดโครงการพัฒนากลไกฯ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 10 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ผู้ผลิตสื่อต่างๆ ทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่น ในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


          “ในระยะทดลองนี้เราคัดเลือกผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อรับเงินทุนสนับสนุนในการผลิตสื่อต่างๆ จำนวน 17 โครงการ แบ่งเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ สื่อเกม/อินเทอร์เน็ต/ดิจิตอล สื่อละคร และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อเป็นการศึกษากลไก และขั้นตอนที่เหมาะสมว่า การจะสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ควรเป็นลักษณะใด โดยเราจะมีการติดตามผลการดำเนินการในทุกโครงการ และจะมีการปรับปรุง ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งฝ่ายผู้ผลิต และผู้ให้ทุน นอกจากนี้จะนำสื่อจาก 17 โครงการเป็นตัวอย่างสื่อที่จะนำไปขยายผลให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” น.ส.จันทร์สุดา กล่าว


          ด้าน นายเศรษฐศิริ นิรันดร หนึ่งในผู้ได้รับทุน กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญมากในสังคม ซึ่งรวมถึงการผลิตสื่อด้วย เพราะยุคนี้การผลิตสื่อจะคิดเพียงอย่างเดียวว่าทำอย่างไรถึงจะขายได้ จึงไม่สนใจว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ทำให้มีสื่อที่ไม่เหมาะสมแบบนุ่งน้อยห่มน้อยออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมีการสนับสนุนทุนให้ผลิตสื่อ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนทำสื่อที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการขายได้ หรือผลกำไรอีกต่อไป ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าในอนาคตเงินจากกองทุนฯ คงสู้กับภาคธุรกิจไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นเงินทุนสนับสนุนสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code