ล้วงลึกขบวนการค้าแรงงานประมง

 

ล้วงลึกขบวนการค้าแรงงานประมง 

 ล้วงลึกขบวนการค้าแรงงานประมง

 

 

            จำนวนตัวเลขผู้เสียหายกว่า60 กรณีที่แจ้งเข้ามาขอความช่วยเหลือยังศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ทำให้พอมองเห็นภาพได้ว่า ปัญหาการล่อลวงและบังคับใช้แรงงานในภาคประมงนอกน่านน้ำ ยังเป็นปัญหาอาชญากรรมที่แก้ไม่ตก ถึงแม้ว่า วาระแห่งชาติเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จะถูกกล่าวอ้างจากหน่วยงานภาครัฐเสมอมา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

 

            เมื่อเกิดสภาวะวิกฤติการขาดแคลนแรงงานภาคประมงคู่ขนานมากับปัญหาคนในชนบท ตกงานและต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง ขบวนการค้ามนุษย์ที่แอบแฝงอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ จึงอาศัยจังหวะนี้ ลงมือล่อลวงพา เหยื่อไปขายให้กับเรือประมงอีกทอดหนึ่ง

 

            ขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้มีโครงสร้างอย่างไร และเหตุใดการค้าคนในลักษณะนี้ จึงยังดำรงอยู่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงามีคำตอบในเรื่องนี้

 

ใบสั่งจากเรือประมง

 

            ถึงแม้ว่าปัจจุบันปัญหาพิษทางเศรษฐกิจจะรุมเร้าภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดภาวะการว่างงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่า อุตสาหกรรมประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงทะเลยังคงขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เรือประมงที่กำลังออกจากท่าเรือไปหาปลาในน่านน้ำต่างประเทศ ยังต้องการแรงงานเพื่อให้ครบตามตำแหน่งงานก่อนออกเรือ ซึ่งเรือประมงส่วนใหญ่จะใช้แรงงานประมาณ 10-40 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ

 

            ปัญหาเรื่องการค้าแรงงานประมง จะอยู่ตรงที่ ผู้ประกอบการบางราย ได้จ้างเหมาให้ ผู้ควบคุมเรือประมง (ไต๋ก๋ง) เป็นผู้บริหารจัดการแรงงานและส่วนแบ่งจากการจับปลา เป็นผลให้ ผู้ควบคุมเรือประมงต้องทำทุกวิถีทางให้มีแรงงานประมงครบตามจำนวนก่อนเรือออกเดินทาง ใบสั่งแรงงานจึงเกิดขึ้นและส่งไปถึง นายหน้าค้าแรงงานประมงเพื่อบอกจำนวนแรงงานที่ต้องการและวันที่เรือต้องออกเดินทาง

 

            วิธีการสั่งแรงงานจะอยู่ในรูปของการโทรศัพท์ติดต่อระหว่างผู้ควบคุมเรือกับนายหน้าค้าแรงงาน ซึ่งนายหน้าค้าแรงงานจะมีขบวนการหลายทอดหลายต่อเริ่มตั้งแต่ นายหน้านกต่อ นายหน้าพักแรงงาน และนายหน้าท่าเรือ

  

นายหน้านกต่อ

 

            นายหน้านกต่อ เป็นนายหน้าค้าคนลำดับแรก ที่จะหลอกล่อเหยื่อให้ติดกับ โดยนายหน้าเหล่านี้จะแฝงตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 พื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง บริเวณสนามหลวง บริเวณวงเวียนใหญ่ และสวนสาธารณะรมณีนาถ นายหน้าเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ตามสถานที่ดังกล่าวมานานจนคนในย่านนั้นต่างคุ้นหน้าเป็นอย่างดีว่า หากินแถวนี้แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่กลุ่มนายหน้าค้าคนเหล่านี้ กลับไม่อยู่ในบัญชีประวัติอาชญากร หรือ บุคคลเฝ้าระวัง ของตำรวจในพื้นที่นั้นๆ แต่อย่างใด

นายหน้ากลุ่มนี้มีทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุตั้งแต่คนวัยทำงานยันคนแก่ มีวาทศิลป์และจิตวิทยาเป็นเลิศ มีความอดทนใช้เวลาในการหว่านล้อมและมีเทคนิคแพรวพราว ทั้งพูดจาภาษาถิ่นเดียวกัน เสนอเงื่อนไขและลักษณะงานที่น่าสนใจ บางกรณีอาจจะมีการเลี้ยงอาหารหรือสุราแก่เหยื่อด้วย ซึ่งกลุ่มนายหน้าเหล่านี้ดูภายนอกท่าทางภูมิฐานและน่าเชื่อถือ

 

            นายหน้าเหล่านี้มีทั้งแบบ full time และ part time คือแบบพวกหาเหยื่ออย่างเดียว และแบบมีอาชีพประจำเพื่อบังหน้า เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง และคนขับแท็กซี่

 

            โดยปกตินายหน้ากลุ่มหนึ่งจะมีหลายคนกระจายตัวกันไป เวลาหาเหยื่อจะลงมือทำงานเพียงคนเดียวต่อเหยื่อหนึ่งราย จะไม่ใช้กำลังบังคับหรือประทุษร้าย แต่จะใช้คำโฆษณาชวนเชื่อจนเหยื่อติดกับแล้วเดินตามไปเอง ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้มักจะอ้างตอนถูกจับกุม ว่าเป็นความสมัครใจของผู้เสียหายเอง จึงทำให้หลายครั้งที่มีการแจ้งเบาะแสไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปตรวจสอบกลุ่มนายหน้าที่เดินเร่หาเหยื่อ พวกนี้จึงถูกดำเนินคดีแค่ฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ โทษปรับแค่ 500 บาท !!!!

 

นายหน้าพักแรงงาน

 

            นายหน้าพักแรงงาน จะเป็นนายหน้าลำดับที่สอง ที่รับช่วงต่อจาก นายหน้านกต่อ โดยเมื่อล่อลวงแรงงานมาจากสถานที่ต่างๆ ได้แล้ว นายหน้านกต่อจะนำเหยื่อมา ขายให้กับนายหน้าพักแรงงานในราคา 1,000-3,000 บาทต่อราย จากนั้นภารกิจของนายหน้านกต่อเป็นอันเสร็จสิ้น

 

            นายหน้าพักแรงงาน จะมีบ้านพักเหยื่อ เพื่อรอให้ได้แรงงานตาม ออเดอร์ ก่อนส่งไปตามท่าเรือประมงต่างๆ โดยในพื้นที่กรงุเทพฯและใกล้เคียงมีพิกัดบ้านพักแรงงาน ดังนี้ ชุมชนหลังวัดดงมูลเหล็ก , ชุมชนกิโลเมตรที่ 11 (หลังสวนรถไฟ) , ชุมชนท้ายบ้าน ปากน้ำ , และในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

 

            กรณีตัวอย่างของนายหน้าพักแรงงาน ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีขาใหญ่ อยู่ 2 ราย อักษรย่อ ป๋า พ. และ เจ๊ ต. กลุ่มนายหน้าเหล่านี้จะเช่าบ้านไว้พักเหยื่อตามจุดต่างๆ ในสมุทรสาคร มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบ้านไปเรื่อยๆ ภายในบ้านจะมีลูกน้องเป็นชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธคอยควบคุมเหยื่ออยู่อีกชั้นหนึ่ง

 

            บ้านพักแรงงานของ เจ๊ ต. เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากสถานีตำรวจเมืองสมุทรสาคร และภูธรจังหวัดสมุทรสาคร โดยบ้านพักแรงงานของเจ๊ ต เป็นบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ มีรั้วล้อมขอบชิด และเดินลวดหนามไว้รอบบ้าน ภายในมีชายฉกรรจ์อยู่หลายคน บ้านหลังนี้มีทางเข้าออกทะลุได้หลายช่องทาง และมีลูกน้องของเจ๊ ต. ซึ่งเป็น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างดักอยู่ทุกทางเข้าออก ทำให้เจ๊ ต. จะทราบความเคลื่อนไหวของคนนอกหรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งแปลกปลอมเข้าไปในพื้นที่!!!

 ซึ่งจากสายข่าวของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ทราบว่า จะมี รถแท็กซี่ขาประจำ นำเหยื่อมาส่งที่บ้านหลังนี้เกือบทุกวันในช่วงเวลา ตี 3 ถึง 6 โมงเช้า โดยมีเหยื่อโดนหลอกมาครั้งละ 1-3 ราย เมื่อได้รับออเดอร์จากนายหน้าท่าเรือประมง นายหน้ากลุ่มนี้จะนำเหยื่อขึ้นรถกระบะ หรือรถสาธารณะ ไปส่งในพื้นที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา อีกทอดหนึ่ง

 

            พฤติกรรมอันอุจอาจของนายหน้ากลุ่มนี้ที่ยังลอยนวลอยู่ได้ ถึงแม้จะมีผู้เสียหายถูกกักขังอยู่ในบ้านก็ตาม เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้น เหยื่อหลายรายซึ่งต้องเป็นพยานก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกหลอก เพราะนึกแต่เพียงว่ากำลังรอไปทำงาน ประกอบกับในทางกฏหมายมองว่ายังไม่ได้นำผู้เสียหายไปทำงาน จึงยังไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้น จึงยังไม่ครบองค์ประกอบของการ ค้ามนุษย์ !!!

 

นายหน้าท่าเรือ

 

            นายหน้าท่าเรือจะเป็นนายหน้าลำดับสุดท้าย ที่รับเหยื่อต่อมาจากนายหน้าพักแรงงาน โดยนายหน้าท่าเรือจะจ่ายเงิน ค่าหัวแรงงานในอัตรา 5,000-20,000 บาทต่อราย ให้กับนายหน้าพักแรงงาน จากนั้น นายหน้าท่าเรือ อาจจะนำเหยื่อขึ้นเรือประมงทันที หรือถ้าเรือยังไม่ออก ก็จะพาเหยื่อไปพักยังห้องเช่า ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณท่าเรือประมง ซึ่งเมื่อนายหน้าท่าเรือนำเหยื่อไปขายให้กับผู้ควบคุมเรือแล้ว จะได้ ค่าหัวตั้งแต่ 10,000-30,000 บาทต่อคนเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อผู้ควบคุมเรือได้จ่ายเงินเป็นค่าหัวของแรงงานเหล่านั้นให้กับนายหน้าแล้ว ย่อมหมายความว่า แรงงานประมงเหล่า ต้องทำงานฟรี หรือได้รับเงินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากๆ

 

            นายหน้าท่าเรือประมง จะอยู่ตามพื้นที่ท่าเรือประมงต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา คอยรับใบสั่งจากผู้ควบคุมเรือว่าต้องการแรงงานจำนวนเท่าใด และกำหนดวันที่เรือต้องออกเดินทางเพื่อมาส่งแรงงานให้ทันตามกำหนด ซึ่งในวงการจะทราบกันเป็นอย่างดีว่าใครเป็นคนทำธุรกิจมืดนี้บ้าง นายหน้าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เคยเป็นผู้ควบคุมเรือหรือเคยทำงานบนเรือประมงมาก่อน แล้วผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจมืดนี้ จึงทำให้รู้จักกับผู้ควบคุมเรือประมงลำต่างๆ เป็นอย่างดี

 

            นายหน้าท่าเรือที่รัฐควรจับตามอง มีอยู่ 2 คนที่น่าสนใจ ได้แก่ นาย ต. เป็นนายหน้าอยู่ที่สมุทรปราการ และ นาย ช. เป็นนายหน้าอยู่ที่จังหวัดสงขลา ทั้งสองคนนี้มีพฤติกรรมในการเป็นนายหน้ามาเป็นเวลานาน เคยถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ก็รอดไปได้ เนื่องจากขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมของไทยใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะถึงการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่สามารถติดตามผู้เสียหายมาขึ้นศาลได้ เนื่องจากผู้เสียหายมักประกอบอาชีพรับจ้างไม่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับพนักงานอัยการไม่ได้ร้องขอให้สืบพยานล่วงหน้าไว้ก่อน ดังนั้น คดีค้ามนุษย์แรงงานประมงส่วนใหญ่จึงมักลงเอยด้วยการ ยกฟ้อง!!!

 

            นี่คงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ามนุษย์ในรูปแบบค้าแรงงานประมงนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในมุมมืด เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง การทำมาหากินบนชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องที่โหดร้ายทารุณ หน่วยงานรัฐจึงอย่าปิดหูปิดตาต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากมีกลุ่มอิทธิพลและการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องแก้ด้วยการเมืองเช่นเดียวกัน คงถึงเวลาแล้วที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องขยับทำงานมากกว่าการแจกเงินสงเคราะห์และถุงยังชีพเสียที…

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข  หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงา www.notforsale.in.th  

 

 

 

update 11-02-52

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code