ลูก ๆ มาดื่ม’นมแม่’กันเถอะ

ในเดือนสิงหาคมของทุกปี ทั่วโลกต่างร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลก world breastfeeding week (wbw) สำหรับคำขวัญปีนี้คือ “mother support: close to mother รวมพลังช่วยเด็กไทยให้ได้กินนมแม่”

พ.ญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดงานเสวนารวมพลังช่วยเด็กไทยให้ได้กินนมแม่ ตอน นมแม่สู้โรค ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) ว่า “มีผลงานวิจัยมากมายที่แสดงเห็นถึงพลังของนมแม่ บ่งชี้ว่าน้ำนมแม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อสุขภาพของทารกที่กำลังเจ็บป่วย ดังนั้นนมแม่จึงเปรียบเสมือนการรักษา..ให้สู้กับโรคได้”

“นมแม่สามารถลดการติดเชื้อในเด็กป่วย นมแม่เป็นทั้งยาและภูมิคุ้มกัน และยังมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการด้านสมอง รวมถึงระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเด็กที่ป่วยหรือคลอดก่อนกำหนด และทำให้เด็กที่ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยนมแม่”พ.ญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าว

ทั้งนี้ แพทย์หญิงวราภรณ์ แสงทวีสิน หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเสริมว่า “ทารกที่กินน้ำนมแม่ยังได้รับภูมิต้านทานให้ห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ มากกว่าทารกที่กินนมผสมอีกด้วย อาทิ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร มีโอกาสป่วยเป็นโรคท้องเสียในระยะขวบปีแรก เพราะในน้ำนมแม่มีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเยื่อบุทางเดินอาหาร สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ และลดโอกาสเป็นโรคหืดหอบ รวมทั้งลดปัญหาการเกิดโรคแพ้โปรตีนจากนมวัว

นอกจากนี้ ในน้ำนมแม่ยังมีสารอาหารที่จำเป็น อาทิ ดีเอชเอ (dha) เอเอ (aa) นิวคลีโอไทด์ (nucleotide) ซีรีโบรไซด์ (cerebroside) ฟอสโฟไลปิด (phospholipid) และคอเลสเตอรอล (cholesterol) ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างเซลล์สมอง เส้นใยประสาท และจอประสาทตา พร้อมทั้งยังส่งผลดีต่อแม่ที่ให้ทารกกินน้ำนม โดยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม (breast cancer) และลดการสึกกร่อนของกระดูก หรือโรคกระดูกพรุน (bone density)”

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีพบว่า มีทารกแรกเกิดที่ป่วยเข้ารับบริการเฉลี่ยประมาณ 1,200 รายต่อปี จากการติดตามสถิติทารกที่กินนมแม่พบว่า ทารกที่กินน้ำนมแม่อย่างเดียวนานติดต่อกัน 0-3 เดือน มีอัตราป่วยถึงร้อยละ 26.32 เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินน้ำนมแม่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 45.45 และทารกที่กินน้ำนมแม่อย่างเดียวนานติดต่อกัน 3-6 เดือน มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 32.5

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code