“ลูกเสือทักษะชีวิต” ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาไทย
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ครูบ้านนอก
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต
ให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาด้วยกระบวนการลูกเสือ โดยให้เด็กและเยาวชนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในการทำกิจกรรมอย่างครบวงจร ณ อาคารสมเด็จอุปถัมภ์ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นางสาวลัดดา จิตรวัฒนแพทย์ ผู้จัดการโครงการลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต กล่าวว่า โครงการฯ มุ่งมั่นที่จะทำให้กิจกรรมลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชนแท้จริง รวมทั้งมีความยั่งยืนในระบบการศึกษา โดยได้พัฒนาครูผู้สอนและวิทยากรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งขยายผลไปสู่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน จำนวน 2,105,063 คน ควบคู่กับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการลูกเสือของโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศด้วยกระบวนการเทียบระดับ (Benchmarking)
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนดังกล่าวมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมกิจการลูกเสือของประเทศไทย ซึ่งจะครบรอบ 107 ปี ในปี 2561 ให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น เพื่อให้อยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเป็นปกติสุข ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมติให้ประกาศใช้หลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตอย่างเป็นทางการในโรงเรียนทั่วประเทศ
ศ.กิตติคุณ นพ.ดำรง เหรียญประยูร กรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า จากผลการวิจัยของศูนย์นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2560 ระบุว่า เด็กและเยาวชนไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบทางสังคม 10 เรื่อง ได้แก่ ความรุนแรง คุณแม่วัยใส ยาเสพติด ติดแท็บเล็ตอยู่กับสังคมก้มหน้า ขาดวินัยอย่างรุนแรง ชีวิตไม่มีความสุข เครียดกดดัน ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์รอบสถานศึกษา เด็กยากจนด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ การตกเป็นเครื่องมือทางเพศ การใช้แรงงานเด็ก ขอทานเด็ก และเด็กไทยเกิดน้อยด้อยคุณภาพ ส่วนสถานการณ์เชิงบวก คือ เด็กและเยาวชนได้เห็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะพระจริยวัตรและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
"จากข้อมูลดังกล่าวยิ่งสะท้อนว่าถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนควรมีบทบาทในการเสริมสร้างสถานการณ์ทางบวกและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีทักษะสังคม ทักษะชีวิตที่พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เป็นอีกองค์กรสาธารณประโยชน์ที่พัฒนาเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการนำกระบวนการลูกเสือมาช่วยเสริมสร้างทักษะชีวิตถือเป็นวิธีการที่แยบยลที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมผ่านกิจกรรมลูกเสือได้แท้จริง" ศ.กิตติคุณ นพ.ดำรง กล่าว
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ลูกเสือทักษะชีวิตไม่ใช่เพียงการตอบโจทย์แค่เรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 แต่จะตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา โดยมีการสำรวจข้อมูลถึงคุณลักษณะของเด็กไทยที่ต้องการ พบว่า 80-90% ของประชาชนไทยเห็นด้วยว่าเด็กไทยต้องมีทักษะชีวิต ประกอบด้วยบันได 4 ขั้นคือ ขั้นแรก รู้จักตนเอง ขั้นที่สอง อยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่จำแต่ต้องเรียนรู้ ขั้นที่สาม สามารถทำงานเป็นทีมได้ และขั้นสุดท้าย ความเป็นพลเมือง มีจิตอาสาและเกื้อกูลต่อสังคม ถือเป็นความต้องการในด้านการศึกษาของทุกภาคส่วน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องถามตนเองได้ว่าสามารถผลิตได้แบบนี้หรือไม่
ที่สำคัญต้องส่งเสริมเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ควบคู่ไปด้วย รวมถึงทักษะไอทีเป็นทักษะที่เด็กไทยยุคนี้ต้องมี แต่ส่วนใหญ่พบว่าเราใช้ไอทีเพื่อความสนุกสนานแต่ไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนรู้เท่าที่ควร ซึ่งกิจกรรมลูกเสือทักษะชีวิตสามารถทำให้เด็กรู้ตนเอง หากใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย แต่หลายปีมานี้ลูกเสือไม่ถูกหยิบมาเป็นกิจกรรมสำคัญของโรงเรียน ส่วนใหญ่ทำแบบที่เคยทำๆ มา เพราะฉะนั้น ถ้าเอาทักษะชีวิตเป็นตัวตั้ง ส่งเสริมจัดกิจกรรมให้เด็กรู้เท่าทันผ่านกระบวนการลูกเสือมาใช้สร้างทักษะชีวิตก็จะช่วยให้เด็กหลุดพ้นจากอันตรายที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปัญหาเด็กติดมือถือ เด็กติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อเด็ก
“ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกในโลกที่รับรองหลักสูตรลูกเสือสร้างเสริมทักษะชีวิต ซึ่งอยากให้นำเสนอในระดับสากลว่ากิจกรรมลูกเสือสามารถพัฒนาเด็กเยาวชนได้ และขยายผลในวงกว้าง สำหรับประเทศไทยขอฝากว่าอย่าหยุดเรื่องลูกเสือทักษะชีวิตไว้เพียงเท่านี้ ขอให้ครูใช้เป็นรากฐานพัฒนาเด็ก โดยสามารถนำกระบวนการ Professional Learning Community : PLC ที่ครูต้องรวมตัวกันแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก มาใช้เป็นวิธีหนุนเสริมงานของครู กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและรู้ว่ามีวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอน และทักษะชีวิตแก่เด็กได้ และควรจะขยายเครือข่ายเป็นกลุ่ม PLC ระหว่างโรงเรียนด้วย
รวมถึงขอให้จัดกิจกรรมลูกเสือทักษะชีวิตให้มีความต่อเนื่อง โดยนำโจทย์ใหม่ๆ มาเป็นตัวตั้ง อาศัยเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างทักษะชีวิต เช่น กรณีเด็กเยาวชนนักฟุตบอลและโค้ช 13 คนทีมหมูป่าอคาเดมี่ ติดในถ้ำหลวงวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่นำมาสู่กระบวนการเรียนรู้ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรนำเด็กและเยาวชนที่ผ่านลูกเสือทักษะชีวิต เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จัดกิจกรรม ชมรมที่เขาขับเคลื่อนกันเอง ตรงนี้จะเป็นพลังสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนกันในกลุ่มเยาวชน เป็นความสำเร็จในทักษะที่เด็กไทยต้องมีตามบันได 4 ขั้นรวมถึงการมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย” นพ.ยงยุทธ กล่าว