ลูกหลานดูแลด้วยหัวใจ สร้างพลังใจผู้สูงวัยป่วยเรื้อรัง
ที่มา : ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
แม้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สามารถจับต้องได้ “สำหรับพลังใจจากลูกหลาน” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณตาคุณยายที่ป่วยติดเตียง หรือมีภาวะป่วยเรื้อรังมาเนิ่นนาน มักจะมีอาการดีขึ้นหากว่าลูกหลานหมั่นมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆ ช่วยป้อนข้าว ป้อนน้ำ
อีกทั้งคอยช่วยกันปรนนิบัติพัดวี ในอีกนัยหนึ่งหากผู้สูงวัยที่ป่วยออดๆ แอดๆ และไร้ซึ่งคนเหลียวแล นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อโลก และมีแนวโน้มว่าอาการป่วยเกิดภาวะทรุดลง สืบเนื่องจากกายและจิตใจเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน ถ้าใจป่วย กายก็จะทรุดในที่สุด เกี่ยวกับประเด็น “กำลังจากใจบุตรหลาน” ที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนวัยเกษียณ
ผศ.สาวิตรี สิงหาด อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า “อันดับแรกนั้น การดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือคนดูแลทั่วไป อยากให้คิดอยู่เสมอว่าท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ของเรา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลอย่างดีที่สุดให้เหมือนกับคนในครอบครัวของเรา และถ้าหากผู้สูงอายุท่านนั้นมีลูกหลานหรือญาติพี่น้องช่วยดูแล โดยการมอบความรักและความเอาใจใส่ อีกทั้งให้การดูแลด้วยหัวใจกตัญญูและเอื้ออาทร ก็จะสร้างพลังใจที่ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าหากผู้สูงอายุมีกำลังใจที่ดี ก็จะทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งหมายถึงว่าอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็จะดีขึ้น หรือหายเร็วขึ้นค่ะ เพราะอย่าลืมว่าการมอบความรักและการดูแลย่อมถือเป็นพลังที่สำคัญ
“อาจารย์ขอยกตัวอย่างตัวเองที่คุณแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 จากตอนแรกที่อาการดูทรุดลงจากผลข้างเคียงในการให้ยาเคมีและการฉายแสง กระทั่งทำให้ท่านรู้สึกทุกข์ทรมาน แต่หลังจากการได้รับกำลังใจจากลูกสาว คืออาจารย์เอง รวมถึงญาติพี่น้อง ทำให้อาการป่วยของคุณแม่ทุกวันนี้ดีขึ้นมากค่ะ แม้จะอยู่ในช่วงประคับประคองอาการ แต่ท่านอาการเจ็บป่วยก็ดีและทุเลาลงมากค่ะ ตอนแรกที่ทราบว่าคุณแม่ป่วยก็รู้สึกตกใจ แต่ในฐานะที่เราเป็นพยาบาล ก็ต้องขอบคุณในวิชาชีพของเราด้วยค่ะ เพราะไม่เพียงทำให้เรามีความรู้ แต่ยังทำให้มีความมั่นใจในการดูแลท่าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีในการรักษาโรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ความรู้ด้านการดูแลจิตใจของผู้ป่วยก็ได้นำมาใช้จริงๆ ค่ะ
โดยเฉพาะคนไข้ที่เจ็บป่วยด้านร่างกาย ส่วนใหญ่ก็มักจะเจ็บป่วยด้านจิตใจด้วยเช่นกัน ดังนั้นองค์ความรู้ด้านการพยาบาล ในฐานะที่เราเป็นลูกคนหนึ่ง ก็ได้ใช้การสัมผัส การบีบนวด เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับท่าน การแสดงความรักด้วยการบอกรักท่านอยู่เสมอขณะที่กำลังเจ็บป่วย ที่สำคัญหากเราเป็นผู้ดูแลคนป่วย ก็ต้องยอมรับสภาพภาวะของโรคด้วย และในฐานะที่อาจารย์เป็นลูกและเป็นคนที่คอยดูแลคุณแม่ ก็จะไม่ร้องไห้ให้ท่านเห็น เราต้องทำตัวให้เข้มแข็ง เพื่อทำให้ท่านรู้สึกสบายใจ อีกทั้งเราต้องรู้จักมองโลกในแง่บวก เพื่อทำให้ชีวิตของผู้ดูแลมีความสุขและมีพลังใจเช่นกัน จึงจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ดี สิ่งที่ลืมไม่ได้ เมื่อกายสัมพันธ์กับจิตใจ ดังนั้น การที่ลูกหลานซึ่งไม่ได้อยู่ด้วยกัน หมั่นไปเยี่ยมไปหาผู้ป่วยบ่อยๆ เพื่อพูดคุย ก็จะทำให้ผู้ป่วยลืมความทุกข์ไปได้ และยังทำให้ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยภาวะโรคซึมเศร้ามีอาการที่ดีขึ้นได้เช่นกัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรคร้ายแรงเสมอไป แต่กำลังใจจากบุตรหลานยังป้องกันโรคเรื้อรังที่กล่าวมาได้อีกด้วยค่ะ”
ผศ.สาวิตรี บอกอีกว่า เมื่อพลังใจจากลูกหลานเป็นสิ่งที่ทำให้อาการเจ็บป่วยของผู้สูงวัยทุเลาขึ้นได้นั้น การหมั่นหาเวลาว่างให้กับบุพการีโดยการไปเยี่ยมเยียนท่าน ทั้งช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ หรือใช้เทศกาลที่สำคัญ อย่างวันครอบครัว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ก็ถือเป็นพลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนวัยเกษียณ และในส่วนของบุตรหลานก็ได้ทำหน้าที่ในการแสดงความกตัญญูต่อท่าน หรือหากครอบครัวไหนที่ลูกหลานอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง ก็สามารถชวนท่านไปทำบุญ ทำสังฆทาน หรือแม้แต่การสวดมนต์ก่อนนอนด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และทำให้ชีวิตคลี่คลายไปในทางที่ดีเช่นกัน