ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก
หลังพบวิกฤตเด็กไทยฟันผุ แมงกินฟันซี่แรกตั้งแต่ 9 เดือน
สสส. ชวนรณรงค์ “ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก” หลังพบวิกฤตเด็กไทยฟันผุ แมงกินฟันซี่แรกตั้งแต่ 9 เดือน ทุกสัปดาห์มีเด็กไม่ถึง 3 ขวบฟันผุ 9-20 ซี่ ต้องถูกวางยาสลบเพื่อรักษาฟันทั้งปาก อายุน้อยสุดแค่ 18 เดือน ชี้ กระทบพัฒนาการ ตัวเตี้ย ขาดสารอาหาร แนะแปรงฟันให้ลูกวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ลดฟันผุได้
วันที่ 19 ต.ค.53 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เครือข่ายลูกรักฟันดี เริ่มที่ซี่แรก แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข สนับสนุนโดย สสส. จัดแถลงข่าว “ลูกรักฟันดี เริ่มที่ซี่แรก” (First love, First tooth) เนื่องในโอกาสวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 21 ต.ค. ของทุกปี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ซึ่งมีคุณูปการต่อวงการทันตสาธารณสุขประเทศไทย โดยรศ.ทพญ.ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2550 พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี จะมีฟันน้ำนมผุอย่างน้อย 1 ซี่ ถึง 61.4% และเริ่มสูญเสียฟัน 2.33% ตามปกติแล้วเด็กจะสูญเสียฟันช่วงอายุประมาณ 6-13 ปี อีกทั้งพบเด็กไทยฟันผุซี่แรกอายุน้อยสุดเพียง 9 เดือน เด็กอายุ 3-5 ปีมีเพียง 10% เท่านั้นที่มีสุขภาพช่องปากดี ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีฟันแท้ผุ 56.87% กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟัน สูงถึง 82.84% เฉลี่ยคนละ 3.92 ซี่ “ผู้ปกครองมักพาลูกมาพบหมอฟันเมื่อลูกอายุ 2-3 ปี ซึ่งมีปัญหาฟันผุลุกลามแล้ว 50% หรือราว 10 ซี่ ดังนั้นควรพาลูกพบทันตแพทย์ตั้งแต่อายุไม่เกิน 1 ปี เพราะปัญหาฟันผุอันตราย ทำให้เด็กปวดฟันจนรับประทานอาหารไม่ได้ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เด็กกลุ่มนี้จึงมีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อการนอน ทำให้เกิดความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย มีผลต่อพัฒนาการ หากเด็กสูญเสียฟันน้ำนมตั้งแต่อายุไม่ถึง 3 ปี ทำให้เด็กต้องทนฟันหลอไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร ออกเสียงพูดไม่ชัด ไปนานเกือบ 8 ปี เพราะฟันแท้จะขึ้นมาทดแทนในช่วงอายุราว 10-12 ปี” รศ.ทพญ.ชุติมา กล่าว
ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล อดีตประธานชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทันตแพทย์เด็กในประเทศไทยมีเพียง 400 คน แพทย์ 1 คน ต่อเด็ก 12,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอ การรักษาฟันเด็กเล็กที่มีฟันผุมากกว่า 10 ซี่ จำเป็นต้องวางยาสลบเพื่อรักษาให้เสร็จภายในครั้งเดียว จากข้อมูลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และม.มหิดล พบเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกวางยาสลบเพียง 18 เดือนเท่านั้น ในปีนี้มีหน่วยงานทันตกรรม 3 แห่ง ได้รักษาโดยบูรณะฟันทั้งปากและดมยาสลบให้คนไข้เด็กมากกว่า 200 ราย ค่ารักษาสูงถึง 3.9 ล้านบาท โดยทุกสัปดาห์จะมีเด็กเล็กอายุไม่ถึง 3 ปี จำนวน 2-3 คน มีฟันผุ 9-20 ซี่ ต้องดมยาสลบเพื่อรักษา คิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายสูงถึง 12,000 -50,000 บาท เทียบเท่าการผ่าตัดเพราะเด็กเล็กต้องมีแพทย์ดูแลหลายด้าน
ผศ.ทพ.จรินทร์ ปภังกรกิจ ผู้จัดการแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข สสส. กล่าวว่า ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพฟันลูก ด้วยการแปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้นคืออายุราว 6 เดือน และแปรงฟันให้ลูกถึงอายุ 6-7 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีกล้ามเนื้อแข็งแรง สามารถแปรงฟันได้เอง แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่แปรงฟันให้ลูกเพราะคิดว่าลูกเล็กเกินไป หรือเด็กบางคนไม่ยอม เคล็ดลับในการแปรงฟันที่ถูกต้องคือ 1.สร้างความคุ้นเคยให้เด็กตั้งแต่อายุ 4-5 เดือน โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดสันเหงือกทุกวัน 2.ให้เด็กมีส่วนร่วม เช่นเลือกแปรงสีฟันด้วยตนเอง 3.สร้างบรรยากาศการแปรงฟัน ใช้แปรงมีสีสัน มีตัวการ์ตูน 4.เลือกแปรงที่ขนแปรงนุ่ม หน้าตัดเรียบ หัวเล็กมีด้ามจับใหญ่จับถนัดมือ 5.ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ช่วยลดฟันผุได้ถึง 15-30% 6.แตะยาสีฟันเล็กน้อยที่ปลายขนแปรงพอชื้น 7.ให้เด็กอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน หรือนอนบนตัก เพื่อแปรงฟันได้ครบทุกซี่ 8.แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาบน้ำเช้า และเย็น เพื่อฝึกให้เป็นกิจวัตร
นทพ.วริศ เผ่าเจริญ นายกสโมสรนักศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในปีนี้มีกลุ่มสโมสรนิสิตนักศึกษาคณะทันตแพทย์จิตอาสา ภายใต้ชื่อเครือข่าย iSmileTeen และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ “ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก” (First love, First tooth) ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 9.00-12.00 น. ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ 8 สถาบันทั่วประเทศ มีกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการให้ความรู้ฟันน้ำนม สอนการแปรงฟัน การประกวดหนูน้อยฟันสวย เล่านิทานฟันดี แสดงละครสาธิตการแปรงฟัน เป็นต้น ผู้ปกครองที่สนใจ สามารถพาบุตรหลานไปร่วมที่คณะทันตแพทย์ใกล้บ้าน พร้อมรับกิฟต์เซ็ต “First love, First tooth” ฟรี ข้อมูลเพิ่มเติม www.healthydent.org
ทั้งนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ 8 สถาบันทั่วประเทศ ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น, ม.เชียงใหม่, ม.สงขลานครินทร์, ม.นเรศวร, ม.มหิดล, ม.ศรีนครินทราวิโรฒ, ม.ธรรมศาสตร์, และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update:19-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่