ลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงโควิด กักตัว14วัน ใช้สิทธิลาป่วย-ลาพักร้อนได้
ที่มา : คม ชัด ลึก
แฟ้มภาพ
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยเอง จากตัวเลขของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้มีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้ว 19 แห่ง
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกมาตราการขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ให้ปฏิบัติตามแนวทาง มาตรการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แก่
1.นายจ้างให้ความรู้ คำแนะนำ เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ลูกจ้าง จัดหาสบู่ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ภายในสถานประกอบกิจการ
2.นายจ้าง ที่มีลูกจ้างทำงานรวมกันเป็นจำนวนมาก ควรตรวจคัดกรองลูกจ้างทุกคนก่อนเข้าทำงาน กรณีที่พบลูกจ้างป่วยจำนวนมากให้พิจารณาหยุดการผลิตทั้งหมด หรือบางส่วนชั่วคราว เพื่อให้ลูกจ้างพักรักษาตัวและลดการแพร่เชื้อโรค
3.หากมีลูกจ้างเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยให้ลูกจ้างไปตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังตามระเบียบ ประกาศและมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
4.นายจ้างตรวจพบว่าลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคที่โรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม หากผลการตรวจคัดกรองยืนยันว่า มีความเสี่ยง ติดเชื้อ ถูกแยกกัก หรือกักกันตัว จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้นายจ้างแจ้งพนักงานตรวจแรงงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
5.เมื่อลูกจ้างพบว่าตัวเอง มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โควิด-19 ให้ไปรับการตรวจรักษาหรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และแจ้งให้นายจ้างทราบ เพื่อแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคโดยเร็ว
6.หากลูกจ้างถูก เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกักตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมโรคระยะเวลา 14 วัน ให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง คำแนะนำขอพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด
7.กรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยง ที่จะติดเชื้อ โควิด-19 จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาหรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ ให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วย หรือลาพักผ่อนประจำปี ตามกฎหมายหรือตามที่ตกลงกัน
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตอนแรกเราไม่คิดว่า โควิด-19 จะแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ขณะนั้นเราพยายามจะดูว่าสถานประกอบการมีการรับรู้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้มากน้อยแค่ไหน ทางกรมได้ออกมาตรการโดยเน้นการเฝ้าระวัง การป้องกันการแพร่ระบาดให้แก่สถานประกอบการเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา โดยมีการสำรวจสถานประกอบการว่ามีลูกจ้างในสถานประกอบการติดเชื้อหรือไม่ จากการสำรวจในพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2563 ในสถานประกอบการทั้งหมด 701 แห่ง ลูกจ้างราว 3.6 แสนคน ยังไม่พบว่ามีลูกจ้างติดเชื้อไวรัสโควิด-19
กระทั่ง วันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ให้ปฏิบัติตามแนวทาง มาตรการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาว่ากรณีถูกกักกัน 14 วันลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือไม่ ในประเด็นนี้เรามองว่าลูกจ้างถือว่าเป็นผู้ป่วย สามารถใช้สิทธิลาป่วยได้สิทธิในการลาป่วยของลูกจ้าง ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานยอมรับ อยู่แล้ว โดยได้รับค่าจ้าง
ทั้งนี้ สำหรับลูกจ้างมี 2 ประเภท คือ "ตรวจเจอเชื้อ" และ "มีความเสี่ยง" ในที่นี้เรามองว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเขาถึงให้กักตัว คนที่ไม่มีอาการโดยตรงก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรง ขอให้ใช้สิทธิลาป่วยไว้ก่อน หรือใช้สิทธิลาพักร้อนที่ลูกจ้างมีอยู่ หรือถ้าเป็นกรณีสัมผัสกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องกักตัวเอง 14 วัน ไม่ให้ไปปะปนกับคนหมู่มาก อาจใช้สิทธิลากิจ แต่ก็เกิดปัญหาว่า บางสถานประกอบการไม่ได้กำหนดให้ลากิจได้ หรือบางสถานประกอบการให้ลากิจได้ แต่การลากิจบางแห่งกำหนดให้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายได้ 3 วัน