“ลำพูบางกระสอบ”สร้างต้นกล้ารักษ์ท้องถิ่น

“ลำพูบางกระสอบ”สร้างต้นกล้ารักษ์ท้องถิ่น 

 

            จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของครอบครัวพลับจ่าง ที่ต้องการเนรมิตสวนรกร้างเนื้อที่ 3 ไร่ ของกรมป่าไม้ ข้างบ้านกลางสวน ผนวกเข้าเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ วิถีชีวิตของชุมชน และพื้นที่สีเขียว จนถือกำเนิด เป็น “กลุ่มลำพูบางกระสอบ” โดยมี “พี่ปู” รุจิเรข พลับจ่าง ประธานคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าลำพู ต.บางกระสอบ และสมาชิกกว่า 40 คน

 

            พี่ปู เล่าว่า บ้านกลางสวนที่สร้างขึ้น นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ส่วนหนึ่งต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นลำพู หิ่งห้อย และเป็นที่ศึกษาหาความรู้สำหรับประชาชน เยาวชนในชุมชน และเมื่อหันไปมองพื้นที่สวนรกร้าง จึงคิดว่าน่าจะสร้างพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ จึงได้ไปขออนุญาตกรมป่าไม้ ในการถากถางสวนรก ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตได้ชวนเพื่อนๆ จากมัลติพลาย และชาวหอจุฬาฯ ซึ่งก็รวมทั้ง อ.นภัท ขวัญเมือง จากสถาปัตย์ จุฬาฯ มาช่วยถากถางสวนรก และออกแบบเสื้อลำพูไว้ให้ จนได้กลายมาเป็นโลโก้ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ลำพูบางกระสอบ) และรวมทุนประมาณ 1 หมื่นบาท ซื้อกล้าลำพูมาปลูก และมีต้นกล้าลำพูต้นเดียวที่เติบโต ได้รับขนานนามว่า หมื่นลำพู

 

            “การปลูกป่า พื้นที่สีเขียว ไม่ใช่ปลูกวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะเห็นผล แต่ต้องใช้เวลา ความอดทน ซึ่งตอนแรกที่ปลูก แล้วรอดมาเพียงต้นเดียว ก็ท้อเหมือนกัน แต่เราก็มีความปรารถนาอยากเห็นป่าลำพูชุมชนที่เขียวขจี ทำให้มีแรงกายแรงใจในการพลิกฟื้นพื้นที่ดังกล่าว จนเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าขึ้น พวกเราจึงทำโครงการเสนอขอเงินสนับสนุน และได้รับเงินสนับสนุนโครงการสร้าง และศึกษาระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบางกระสอบ 4 รอบ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,352,470.45 บาท คุณปู กล่าว

 

“ลำพูบางกระสอบ”สร้างต้นกล้ารักษ์ท้องถิ่น

 

            ตั้งแต่มีนาคม 2551 – ตุลาคม 2553 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าลำพู ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่รกร้างกว่า 14 ไร่ ของฝั่งตะวันออกคลองลัดบางยอ เพิ่มขยายพันธุ์ไม้ท้องถิ่นได้กว่า 2,900 ต้น แบ่งเป็นลำพู 1,700 ต้น ลำแพน 200 และไม้ชุ่มน้ำที่ได้รับการเอื้อเฟื้อจากกรมป่าไม้ 1,000 ต้น และปรับพื้นที่ให้เป็นลานกิจกรรม รวมถึง การสร้างศาลาถาวรทรงแปดเหลี่ยม 1 หลัง และศาลาสี่เหลี่ยม 1 หลัง สร้างห้องน้ำ 3 ห้อง และห้องอาบน้ำ 1 ห้อง ศาลาเล็ก 7 หลัง ทั้งนี้ เพื่อรองรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรม ในการใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ระบบนิเวศ และพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ตามโครงการสร้างและศึกษาระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบางกระสอบ พร้อมตั้งกลุ่ม “ต้นกล้าลำพูกลุ่มเยาวชนลูกหลาน บางกระสอบ

 

            “หมู” ประวิณ สว่างโสภา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ เล่าว่า กลุ่มต้นกล้าลำพู เป็นการรวมตัวกันของเยาวชนเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ป่าลำพู และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของชุมชน ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามจาก 60 โครงการสืบสานศิลปะพื้นบ้านของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยได้รับทุนให้มาศึกษาในเรื่องศิลปะพื้นบ้านท้องถิ่นบางกระสอบ และฝึกการบริหารงบประมาณ

 

            “หากเยาวชนในพื้นที่ไม่ดูแล คงหวังให้ผู้อื่นดูแลไม่ได้ ทุกกิจกรรมของต้นกล้าลำพู จึงเน้นการมีส่วนร่วม ทำความเข้าใจกับประชาชน เยาวชนในพื้นที่ ส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มีความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่เข้ามาใช้สถานที่ อบรมให้ความรู้พื้นฐาน เพื่อสร้างจิตสำนึกรัก และดูแลชุมชนของตนเอง เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกพื้นที่จัดกิจกรรมให้เยาวชนมีส่วนร่วม

น้องประวิณ กล่าว

 

“ลำพูบางกระสอบ”สร้างต้นกล้ารักษ์ท้องถิ่น

 

            ส่วน น้องบุ๋ม วรรณวิภา ตานจุ้ย นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.วัดช่องธรรม จ.สมุทรปราการ ประธานกลุ่มต้นกล้าลำพู เล่าว่า ตอนนี้มีสมาชิก 10 กว่าคน แต่ละคนจะได้รับการอบรมให้ความรู้ในการดูแลหวงแหนทรัพยากร วัฒนธรรม รักษาชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่น และนำความรู้เหล่านั้นไปเผยแพร่ จัดกิจกรรมดีๆ ให้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กได้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นประโยชน์ต่อชุมชนบ้านเกิด ดึงเด็กให้ห่างไกลจากสิ่งไม่ดีอีกด้วย

 

            ปี 2554 กลุ่มอนุรักษ์ฯ มีแผนปรับพื้นที่ฝั่งตะวันตกของคลองลัดบางยออีก 23 ไร่ สร้างสะพานเชื่อมระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของคลองลัดบางยอ สร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ระบบนิเวศชุ่มน้ำที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด ปี 2555 ขยายพื้นที่ปลูกต้นลำพู และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้ครบ 41 ไร่ ดำเนินตามโครงการการมีส่วนร่วมตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างหอดูนก และสร้างศาลาเรียนรู้ สร้างพื้นที่สวนรกร้างกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่โดดเด่นและสมบูรณ์ที่สุด สนใจติดต่อเยี่ยมชม โทร.08-4709-9894 หรือ http://lumpoobangkrasorb.multiply.com

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

update : 22-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย :  ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code