"ลำปางโมเดล" เชื่อมทุกส่วนป้องกันท้องไม่พร้อม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส. และเว็บไซต์คมชัดลึก


'ลำปางโมเดล' เชื่อมทุกส่วนป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


ในปี 2560 จ.ลำปาง เป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่มีอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปีหรือช่วงวัยรุ่นต่ำกว่า 25 ต่อวัยรุ่นหญิง 15-19 ปี 1,000 คน เช่นเดียวกับ จ.ลำพูน และแพร่ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัดแบบองค์รวม ส่งผลให้มีการดูแลเด็กเยาวชนทุกมิติ โดยมี "กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน" ทำหน้าที่เชื่อมประสานความร่วมมือภายใต้การได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2557


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สสส. ได้ลงพื้นติดตามหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ จ.ลำปาง ซึ่งจุดเด่นการดำเนินเรื่องการป้องกันและแก้ไขท้องไม่พร้อมของ จ.ลำปาง อยู่ที่การมีองค์กรสาธารณประโยชน์ คือ กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กฯ ทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานทุกหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้เข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม ทั้งภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หน่วยบริการ ทางการแพทย์ หน่วยงานการศึกษา หน่วยงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานราชการ รวมถึง ภาคีอื่น ๆ จึงทำให้การดูแลเด็กเยาวชนครอบคลุมแทบจะทุกมิติ


น.ส.เบญญา เอมาวัฒน์ ประธานกลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน บอกว่า การทำงานของกลุ่มจะยึดโยงตามภารกิจ 9 ด้าน คือ 1.กลไกประสานภาคี 2.พัฒนาทักษะพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก 3.กลไกสนับสนุนให้ทุก ร.ร.สอนเพศศึกษารอบด้าน 4.ทำงานเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ 5.รณรงค์สื่อสารกับวัยรุ่น 6.บริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด การดูแลแม่วัยรุ่น 7.ระบบช่วยเหลือส่งต่อด้านจิตสังคมเพื่อช่วยวัยรุ่นที่ประสบปัญหา 8.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชน และ9.พัฒนาระบบข้อมูล โดยระยะแรกดำเนินการใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ห้างฉัตร และอ.เกาะคา การขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงมีตั้งแต่กิจกรรมที่จัดโดยตรงกับตัวเด็กและเยาวชนเอง เป็นการเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การสอนเพศวิถีศึกษาในโรงเรียน การจัดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและวัยรุ่นทำกิจกรรม ส่วนของผู้ปกครองมีการส่งเสริมบทบาทครอบครัวและสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การพัฒนาวิทยากรนำร่องเรื่องพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับผู้ปกครอง


'ลำปางโมเดล' เชื่อมทุกส่วนป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


เมื่อจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ มีการจัดสถานบริการที่เป็นมิตรกับเยาวชน เช่น ที่ รพ.ลำปาง มีคลินิกมิตรวัยรุ่นและให้คำปรึกษา เด็กที่เข้ารับการปรึกษาที่นี่หากพบว่าตั้งครรภ์จะส่งเข้ารับการดูแลทางการแพทย์จนคลอด และรายที่สมัครใจจะฝังยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำทุกราย รวมถึงมีสถานศึกษาที่เป็นมิตรและเข้าใจวัยรุ่นให้โอกาสเด็กที่เผชิญปัญหาตั้งครรภ์ระหว่างเรียนได้ศึกษาต่อไป โดยมีรูปแบบการช่วยเหลือไม่ต้องออกจากการเรียน ผลที่เกิดขึ้นจากการประสานงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทำให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดลำปางประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมีอัตราการคลอดบุตรของหญิงอายุ 15-19 ปี ต่อ 1,000 คน ลดลงเหลือ 19.7 ต่อพันประชากร หรือ 381 ราย จากจำนวนผู้หญิงอายุ 15-19 ปี รวม 19,324 รายในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงหลังสิ้นสุดโครงการ ขณะที่ก่อนเริ่มดำเนินงานตามโครงการอยู่ที่ 28 ต่อพันประชากร เป็นจังหวัดที่มีอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปีน้อยที่สุดของประเทศ


นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แนะนำว่า สิ่งที่ยังไม่รู้ตอนนี้คือเด็กที่ตั้งครรภ์แล้วไปไหน เพราะส่วนใหญ่พบว่า ต้องออกจากโรงเรียนเกือบทั้งหมด จึงอยากให้จังหวัดมีการเพ่งเล็งเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กำหนดไว้ชัดเจนว่า สถานศึกษาจะต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมให้กับนักเรียนกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน โดยอาจจะให้เรียนในสถาบันการศึกษาเดิม หรือหาสถาบันการศึกษาใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง แต่หัวใจสำคัญคือให้เด็กได้ศึกษาต่อไป


'ลำปางโมเดล' เชื่อมทุกส่วนป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


"ไม่ต้องกังวลว่าการให้เด็กที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อในโรงเรียนเดิมแล้วจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเลียนแบบ เพราะมีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การให้เด็กนักเรียนที่ตั้งครรภ์ระหว่างเรียนได้เรียนต่อในโรงเรียนเดิมจะทำให้เพื่อน ๆ มีปัญหาตั้งครรภ์น้อยลง เพราะรับรู้แล้วว่าถ้าปล่อยให้ท้องจะมีปัญหาตามมา"


นพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีความประสงค์ที่จะยุติการตั้งครรภ์ แพทย์สามารถให้บริการทางการแพทย์เรื่องนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายอาญาหรือจรรยาบรรณทางการแพทย์ หากพบว่าการตั้งครรภ์ต่อไปนั้นส่งผลต่อสุขภาพของแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และปัจจุบันมียาที่แพทย์ใน รพ. สามารถสั่งจ่ายได้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ มีความปลอดภัยต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ อยู่ในการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่แล้ว การป้องกันและช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่เผชิญปัญหา "ท้องไม่พร้อม" อย่างเข้าใจ ย่อมมีทางเลือกเป็นทางออกหลายช่องทาง โดยไม่จำเป็นต้องให้ออกจากการศึกษา ซึ่งจะเป็นเหมือนการตัดอนาคตของเด็ก หรือผลักให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพังจนนำมาสู่วังวันเดิม ๆ

Shares:
QR Code :
QR Code