“ละคร” สื่อสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์ชุมชน

สื่อดนตรีและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่เปรียบเสมือนเครื่องมือของชุมชน ที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวตนเองและเป็นสื่อในการสร้างความสมัครสมานของคนในชุมชนตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชนที่ผ่านมาโดยตลอด อีกทั้งเป็นภูมิปัญญาและทุนเดิมของคนชาติพันธุ์มาช้านาน ชนปากาเกอะญอ มี “ปอเลอะเปลอ” (นิทานคำสอนคำทำนาย)

ละครเพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม

ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนมือเจะคี แห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการปรับตัวจากการพัฒนาและยกระดับฐานะการปกครองเป็นอำเภอใหม่ “อำเภอกัลยานิวัฒนา” ซึ่งในทัศนะหนึ่งของคนในชุมชนเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะทำให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่อาจดีขึ้น การติดต่อกับทางราชการมีความสะดวกขึ้นกว่าเดิม แต่อีกทัศนะหนึ่งความวุ่นวายก็ส่อเค้าขึ้นมาทันที

หลังจากข่าวการจัดตั้งอำเภอแห่งใหม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่นอนชัดเจนจากทางการ เริ่มมีนายทุนจากภายนอกเข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่ เริ่มมีพ่อค้าจากที่อื่นมาขอเช่าบ้านเพื่อดัดแปลงเป็นร้านค้า ตลาด ร้านอาหารชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งบันเทิง

คนในชุมชนเริ่มซื้ออาหารจากตลาดมาบริโภคมากขึ้น ระบบการผลิต การใช้แรงงาน เริ่มมีการนำเครื่องจักรกลมาใช้มากขึ้น มีโครงการพัฒนาต่างๆ จากรัฐเข้ามามากขึ้น อาทิ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงพาณิชย์แบบเชิงเดี่ยว เป็นต้น

เริ่มมีหน่วยงานองค์กรจากรัฐเข้ามาบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ทางกฎหมายซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีชุมชนมากขึ้น จนคนในชุมชนเริ่มวิตกกังวลว่า ทรัพยากรในพื้นที่จะถูกใช้เพื่อการพัฒนาทางด้านวัตถุมากเกิน จนเสียสมดุล วิถีวัฒนธรรมชุมชนจะล่มสลาย จนความเป็นคนปกาเกอะญอเดิมจะหมดความหมายลงในที่สุด

ละครเพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม

ด้วยสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บอกคนหนุ่มสาวและเยาวชนนาม โช โพ เก่อ เรอ(ต้นกล้าสน) ว่าช้ามิได้ที่ต้องรวบรวม กาย-ใจ สติ และจิตวิญญาณ ปลุกความเป็นอัตลักษณ์ชนเผ่าของตัวเองให้ลุกขึ้น แสดงตัว ป่าวประกาศตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา “ชนเผ่าปกาเกอะญอ” ว่าพวกเขาคนปาเกอะญอยังอยู่ ป่าต้นน้ำขุนน้ำแจ่มจะยังอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงพวกเขาและอีกหลายชาติมีกิน มีอยู่ มีอาชีพ มีที่ทำกิน รวมถึงเราทุกคนผู้อยู่ปลายน้ำด้วย

“กระบวนการละครชุมชน” จึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการเตรียมความพร้อมนี้ นับตั้งแต่ ชิชิ เอกชัย แดนพงพี(หัวหน้ากลุ่มโชโพเกอะเรอ) ที่เพิ่งเรียนจบจากคณะดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ กลับบ้านเกิดบ้านหนองเจ็ดหน่วย อำเภอกัลยานิวัฒนา และชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัล ทั้งสองคนช่วยกันป่าวประกาศเสียงตามสายให้น้องๆ โชโพเกอะเรอ หรือกลุ่มเยาวชนต้นกล้าสน ที่มีความสนใจ อายุตั้งแต่ 7 ปี ถึง 18 ปี เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเร่ละคร จำนวน 10 รอบ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชุมชน

ก่อนการเข้าค่าย ในโครงการละครเพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพุทธิกา สสส.ได้มีการชี้แจงเป้าหมายการทำงานโครงการ และตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการละครเร่ เพื่อสื่อสารกับน้องๆ ผู้เข้าร่วมทั้ง 35 คน

ทั้ง 4 วัน ของการเข้าค่ายครั้งนี้ เป็นช่วงที่ช่วยบ่มเพราะเมล็ดสนต้นน้อยๆ โดยเริ่มจาก การได้รู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อน การเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีมในช่วงเริ่มต้น ต่อด้วยการเตรียมความพร้อมของร่างกาย เสียง สมาธิ กิจกรรมที่เป็นที่ประทับใจและเด่นในการเรียนรู้ช่วงนี้ชื่อ ละครเสียงสัตว์ animal play และต่อตัวกลไก น้องๆ ได้เรียนรู้ว่าร่างกายของตัวเองสามารถสื่อสารได้อย่างไร สามารถพูดแทนเสียงได้ สามารถสร้างจังหวะได้ สามารถเล่าเรื่องได้ มหัศจรรย์ของร่างกายที่ได้เคลื่อนไหวถูกเพิ่มเติมด้วยทักษะละครใบ้

ละครเพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม

ต่อด้วยการเพิ่มเสียงที่ทรงพลังจากการวอร์มเสียงเรียนรู้เรื่องการใช้เสียงแบบละคร ทั้งภาษาสัตว์ ภาษาต่างดาว ภาษามนุษย์ที่งดงามต่างกัน ร่วมต่อเติมเป็นการสร้างเรื่องด้วยกิจกรรมละครสามภาพ น้องๆ ได้เรียนรู้เรื่องโครงสร้างของการสร้างเรื่อง และสิ่งของต่างๆ รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ รอบตัวถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เรื่องแกนเรื่องให้ดูน่าสนใจ มีสาระ  

ในคืนแรก มีกระบวนการสร้างความรู้เรื่องสิทธิ โดยใช้กิจกรรมที่ชื่อ “เรือมนุษย์” ที่มีตัวละครในเรือทั้ง 14 ตัวให้น้องเลือกว่าน่าจะเป็นใครที่ถูกลงจากเรือเมื่อเรือรั่ว ได้แก่ นักการเมือง พระสงค์ บาทหลวง นางงามจักรวาลผู้มีความงามและเสียสละ ครู ทหาร เด็กหญิง-ชาย คนท้อง คนพิการ เพศที่สาม ชนเผ่า หญิงบริการ แรงงานอพยพ ผู้ติดเชื้อเอดส์ บางคนได้ลองเป็นตัว ละครบนเรือ บางคนได้เลือกผู้อื่นลงเรือ สร้างความสนุกสนาน และสามารถเรียนรู้ได้ง่ายจากประสบการณ์ อันก่อเกิดปัญญาจากการเรียนรู้ในเรื่องความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ความแตกต่างกันไม่ว่าจะความจน รวย เชื้อชาติ ศาสนา ผิวสี อาชีพ  วัย ความแข็งแรงของร่างกาย ต่างๆ เหล่านี้ที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  คำใหญ่จึงเล็กลงด้วยความเข้าใจจากประสบการณ์ร่วมกัน

คืนที่สองเป็นกิจกรรม “เปลี่ยนรองเท้า” เป็นเกมเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องสิทธิในการย้ายถิ่น และและการรักษาถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างเคารพ คืนที่สามมีพระเอกเป็นผู้เฒ่าส่าอุเคร่ง อายุ 93 ปีและผู้เฒ่าทูเวย อายุ 87 ปี มาเล่าปอเลอะเปลอ(นิทาน) และอื่อทา (ร้องนิทานเป็นเพลงสด) ให้ได้เห็นถึงความเชื่อ ปรัญญาคำสอนอันลึกซึ้งของชนเผ่าปกาเกอะญอ

ละครเพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม

บางเรื่องเป็นคำทำนายของบรรพระบุรุษปกาเกอะญอสืบทอดมา กระบวนการโดยรวมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมทางความคิดและคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมและร่วมกันแสวงหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อผสมผสานระหว่างกระแสการพัฒนาและวิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ย้อนถามและจัดปรับตัวเราชุมชนให้เกิดความสมดุล ไม่ให้พัดพาความเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยคนทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ ต่างๆ ในการจัดการตนเองมิให้สูญสลาย ลอยไปตามกระแส 

ดังคำสุภาษิตของคนปกาเกอะญอที่ได้พร่ำเตือนลูกหลานว่า “หากลูกหลานสร้างชุมชนเป็น แม้ชุมชนเล็กก็รุ่งเรืองได้ หากลูกหลานดูแลชุมชนไม่เป็น ชุมชนใหญ่ล่มก็สลายได้”

เมื่อน้องพร้อมด้วยร่างกาย สติ และปัญญา แล้ว ทุกคนอาสาร่วมเป็นผู้ส่งสาร จากปอเลอะเปลอตามคำเล่าของผู้เฒ่า มาเป็นละครเร่ 2 เรื่อง ได้แก่ “หน่อเดอะโพ” และ “ฉ่าอิเกร” จำนวน 10 รอบ ณ บ้านหนองเจ็ดหน่วย, ร.ร.สหมิตร, บ้านแจ่มหลวง, บ้ายสันม่วง, บ้านจันทร์, บ้านแจ่มน้อย, บ้านห้วยยา, บ้านนาเกรดหอย, บ้านใหม่พัฒนา และงานปีใหม่ปกาเกอะญอ อ.แม่แจ่ม

ละครทั้งสองเรื่องเป็นคำสอนและทำนายของชาวปกาเกอะญอที่มีสัญลักษณ์และเนื้อหาให้รู้เท่าทันกระแสใหม่ โลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยรุกในชุมชน และบอกให้เคารพซึ่งถิ่นฐานบ้านเกิด แผ่นดินและทรัพยากรอันเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยา ของคนปกาเกอะญอ จำนวนผู้ชมจากบัตรเข้าชมใบไม้หนึ่งใบต่อผู้ชมหนึ่งคน เด็กๆ นับใบไม้ในทุกรอบการแสดงรวมกันได้ผู้ชมประมาณ 1,500 คน หลังจบละครมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ชมถึงประเด็นในละคร ถามและแลกเปลี่ยนกันเรืองปัญญาที่เกิดขึ้น

ละครเพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม

ในการรับชมละครทั้งสองเรื่องนำการพูดคุยโดยชิ, ชิชิ และน้องนักแสดงโชโพ เก่อ เรอ ผู้ชมได้สะท้อนเรื่องราวอย่างฉะฉาน ตรงไปตรงมาและตรงกับความตั้งใจที่ผู้นำเสนอเชื่อมโยงถึงแผ่นดินปกาเกอะญอที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้ว หลังจากการเร่ละคร 10 รอบ ที่มากกว่าการส่งสารเรื่องราวที่เกิดขึ้น “โชโพเกอะเรอ” ยังทิ้งคำถามที่ต้องการการสานต่อกับทุกชุมชนที่ได้ไปเยือนว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการปรับตัวจากการพัฒนาการยกระดับฐานะการปกครองเป็นอำเภอใหม่ “อำเภอกัลยานิวัฒนา” ที่เกิดขึ้นนี้ ชนปากาเกอะญอในพื้นที่ทุกคนจะตั้งรับกันอย่างไร

ส่วนน้องเยาวชนโชโพเกอะเรอ ได้ทำหน้าที่ผู้สื่อสารได้อย่างเต็มความสามารถ และที่มากกว่าผลงานละครเร่ และความสนุกสนานที่ได้รับ ทีมพี่เลี้ยง และผู้ใหญ่ในชุมชน รวมถึงน้องๆ เองก็ได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในทางที่ขึ้นในตัวน้องว่า กล้าคิด กล้าแสดงออกในสิ่งที่ควร มีความรักใคร่กัน ช่วยเหลือผู้ใหญ่คุยกับผู้ใหญ่ และสามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการได้ดีขึ้น รู้หน้าที่มากขึ้น

ในนามของผู้จัดกระบวนการจึงเชื่อในพลังของสื่อละคร ที่มิใช่ให้เพียงความรู้ความบันเทิงเท่านั้น ยังเป็นกระบวนการที่สร้างเสริมศักยภาพระดับบุคคลและชุมชนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ แยกแยะผิด ชอบ ด้วยตัวเองภายใต้การเคารพซึ่งศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพ ความเท่าเทียม ในระดับบุคคลยังนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่รอบด้าน เช่น ร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคม กระบวนการละครชุมชนในครั้งนี้ยังเป็นพาหนะนำพาปอเลอะเปลอที่งดงามและลึกซึ้งมาเล่าโดยลูกหลานปากาเกอะญออย่างน่าภาคภูมิใจ และโชโพเกอะเรอ จะได้เป็นต้นสนต้นใหญ่ต่อไป

เรื่อง: ศศิธร คำฤทธิ์ 
ที่มา: เครือข่ายพุทธิกา

Shares:
QR Code :
QR Code