ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ

การประชุมโครงการบทละครเร่เพื่อความเข้าใจผู้พิการและโครงการบทเพลงอนาชีดเพื่อคนพิการ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ภายใต้โครงการเปลี่ยนโลกให้เข้ากับเรา (make the world fit for all) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนพิการ

ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ

โดยใช้ศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นสื่อในการส่ง “สาร” เรื่องความพิการในมุมมองใหม่ๆ ไปยังผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ รวมถึงสังคมโดยรวม ทั้งนี้การมองเห็นแต่คนพิการน่าสงสาร และความพิการเป็นเรื่องยากลำบาก จัดอยู่ในข่ายที่ต้องกำจัด รื้อถอน แล้วสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

ตามเรียนรู้บทแรกเรื่อง “ความพิการ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “พอรู้ว่า เรามาจากปัตตานี ก็จะถามถึงสถานการณ์ว่ารุนแรงไหม อยู่กันอย่างไร ทั้งที่เรามีเรื่องในชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานการณ์” เสียงสะท้อนระบายความในใจของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ บอกเล่าในการประชุมโครงการบทละครเร่เพื่อความเข้าใจผู้พิการและโครงการบทเพลงอนาชีดเพื่อคนพิการ ที่ผ่านมา เมื่อเร็วๆ นี้

ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นนักแต่งเพลงและนักร้องเพลงอนาชีด กลุ่มที่สองเป็นเยาวชนและผู้สนใจละครเร่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสองกลุ่มจะได้เรียนรู้เรื่องคนพิการและความพิการผ่านกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรม ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันระหว่างคนพิการกับคนอื่นๆ ในสังคม

ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ

กระบวนการที่ใช้ในการฝึกอบรมประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆ ซึ่งจะค่อยกระเทาะ “อคติ” ภายในใจที่ได้สั่งสมไว้ โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวของแต่ละคน เชื่อมโยงกับชีวิตและปัญหาของคนพิการ สร้างความตระหนักรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับปัจเจกที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ และระดับสังคมในเรื่องระบบและโครงสร้างที่เป็นอุปสรรค

นายอดุลอายิ ยูโน อาจารย์โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ จ.นราธิวาส กล่าวว่า โดยพื้นฐานแต่งเพลงอนาชีด ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเพื่อชักชวนให้คนทำความดี เป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรมในการใช้ชีวิตของคนมุสลิม แต่การเข้าร่วมการฝึกอบรมครั้งนี้ คาดหวังว่า จะได้มุมมองใหม่ เนื้อหาใหม่ เพราะเป็นเรื่องความพิการ ซึ่งไม่เคยเขียนมาก่อนเลย

นางสาวฆอรีเย๊าะ บือโต เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ จังหวัดปัตตานี ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า พอทราบจะมีการทำละครเร่เรื่องคนพิการ ก็สนใจมาก เพราะไม่มีใครทำละครเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับการทำงานส่งเสริมสิทธิของคนพิการ

ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ

“คนพิการยังเข้าไม่ถึงสิทธิที่พึงได้รับด้านต่างๆ ยิ่งในสถาการณ์ที่มีเหตุร้ายและความรุนแรงรายวัน ทำให้การติดต่อการสื่อสาร โดยเฉพาะการเดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือทำได้ลำบาก ขณะที่ครอบครัวก็ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนพิการ เห็นคนพิการไร้ความสามารถ ทำอะไรไม่ได้ เลยให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ไม่มีงานทำ ดังนั้นการทำความเข้าใจเพื่อปรับทัศนคติให้ครอบครัวและสังคมยอมรับคนพิการเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมาก”

ในกระบวนการที่ค่อยแง้มความคิดและความรู้สึกต่อคนพิการหลายกิจกรรม มีกิจกรรมการจำลองให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว และคนพิการทางสายตา ออกไปทำภารกิจค้นหาบัตรคำที่ถูกซุกซ่อนไว้บริเวณรอบๆ โรงแรม กิจกรรมนี้สร้างความสนุกสนาน ตื่นเต้นแก่ผู้เข้าร่วมอบรม เช่นเดียวกับผู้เข้าพักในโรงแรม ซึ่งได้เห็นภาพแปลกตาที่โรงแรมเต็มไปด้วยผู้ใช้บริการนั่งบนรถวีลแชร์ และคนตาบอดเดินถือไม้เท้าขาว มีคนต้องช่วยกันเข็น ช่วยกันนำทางกันอย่างทุลักทุเล

นางสาวณธกมล รุ่งทิม

นางสาวณธกมล รุ่งทิม วิทยากรซึ่งนั่งรถวีลแชร์ กล่าวว่า กิจกรรมการจำลองเป็นคนพิการไม่ได้ต้องการให้เกิดความรู้สึกว่า ความพิการยากลำบาก การเป็นคนพิการประเภทไหนดีกว่าประเภทไหน เพราะแต่ละความพิการมีความต้องการและความจำเป็นของการใช้ชีวิตแตกต่างกัน แต่กิจกรรมนี้ทำให้แต่ละคนได้ใกล้ชิดความพิการมากขึ้น เปิดให้เกิดการเรียนรู้ที่ในชีวิตอาจไม่เคยมีโอกาสเลย
 

“ไม่มีทางเลยที่คุณจะเข้าใจความรู้สึกของคนพิการ เพียงการทดลองเป็นคนพิการชั่วคราว เหมือนกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมสวมใส่ฮิญาบ มองภายนอกแยกไม่ได้ แต่คนที่สวมย่อมจะไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายคุณค่าอย่างแท้จริง ดังนั้นคนที่ไม่พิการก็อาจเข้าไม่ถึงความรู้สึกคนพิการ เพียงแค่ทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ไม่ใช่เพียงให้รู้สึก แต่เรียนรู้และสัมผัสถึงความยากลำบากเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตสาธารณะของคนพิการ”

ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ

นายสว่าง ศรีสม วิทยากรพิการนั่งวีลแชร์ สรุปให้เห็นว่า อุปสรรคที่คนพิการเจอประกอบด้วย 4 เรื่องหลักได้แก่ อุปสรรคทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไม่มีลิฟท์ ไม่มีทางลาด อุปสรรคที่สองคือปัญหาเรื่องกฎหมายระเบียบแบบแผน ซึ่งกีดกันหรือเลือกปฏิบัติกับคนพิการ อุปสรรคที่สามคือการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และสุดท้ายอุปสรรคด้านทัศนคติต่อคนพิการ เขาเล่าว่า

“คนทั่วไปขึ้นรถเมล์ไปทำงานเที่ยวละ 7 บาท แต่คนพิการนั่งวีลแชร์ต้องจ้างแท็กซี่เที่ยวละ 200 บาท บางคันเห็นคนพิการก็ไม่อยากรับ ผมซาบซึ้งใจที่ไปไหมมาไหนมีคนช่วยเหลือ คนไทยมีน้ำใจ และใจดี แต่ก็เดาไม่ถูกว่าคนจะมาอารมณ์ไหน จิตใจดีอาจไม่ได้มีทุกวัน ซึ่งผมต้องมีชีวิตอยู่ทุกวัน ก็อยากให้ช่วยปรับสภาพแวดล้อม จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผมได้ไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเองจะดีกว่า” นายสว่าง กล่าว

หลังผ่านกระบวนการฝึกอบรม ผู้แต่งเพลงนาชีดได้เขียนเพลงเพื่อคนพิการที่มาจากความรู้ความเข้าใจมากขึ้น จากที่เคยเห็นแต่ความพิการ ความด้อยโอกาส หรือความยากลำบาก ก็ได้เห็นความสามารถและศักยภาพของคนพิการ แม้หลายคนจะสามารถพึ่งพาและช่วยเหลือตัวเอง แต่อีกหลายคนก็ยังต้องการความช่วยเหลือ อย่ามองเพียงภาพลักษณ์ภายนอก เห็นว่าเขาไร้ความสามารถ ไม่มีคุณค่า หรือขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งปิดกั้นและตัดโอกาสให้คนพิการได้เข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคม

ละคร-บทเพลงจุดเชื่อมความสัมพันธ์ผู้พิการ

นายมูฮัมมัดซอฟวาน มะมิง นักแต่งเพลงอนาชีดและอาจารย์โรงเรียนนราธิวาส เล่าว่า บทเพลงเขาได้แรงบันดาลใจจากคนพิการที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ได้เห็นภาพคนพิการใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติ โดยเฉพาะรับรู้ถึงสิ่งที่เขาไม่นึกถึงมาก่อนว่าคนพิการมีความรักได้ ทำให้บทเพลงของซอฟวานที่แม้เป็นเพลงให้กำลังใจแก่คนพิการ แต่สัมผัสถึงความรักละเมียดละไมของความรู้สึก ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงความเข้าใจต่อคนพิการในการอบรมครั้งนี้ เขาร้องเพลงนี้ก่อนอำลาจากกันว่า

           “นึกถึงวันเวลาของเรา วันที่เราพบเจอกัน
           เธอยังอยู่ในความทรงจำ ย้ำเตือนความดีงามของเธอ
           แม้ในความเป็นจริงที่เป็น เห็นเธอทุกข์ทรมาณมากมาย
           แต่ในความรู้สึกเธออายที่เธอไม่มีเหมือนใคร
           ด้วยเธอไม่อาจลุกขึ้นยืน ด้วยสองมือด้วยพลังกาย
           แต่เธอไม่เคยท้อใจในสิ่งที่กำหนดมา
           ขอให้เธอสู้ต่อ ขอให้เธอสู้ต่อไป
           ขอให้เธอมั่นใจ เพื่อนคนนี้ยังอยู่ข้างเธอ”

ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมดจะกลับไปพัฒนาผลงานเพลงอนาชีดให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนกลุ่มละครเร่ได้พัฒนาบท ฝึกซ้อม และทำการแสดง ที่มอ.ปัตตานี

เพื่อโลกที่เคยเว้าแหว่งขาดหายไปจะได้รับการต่อเติมให้สมบูรณ์ร่วมกัน…

ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ  

Shares:
QR Code :
QR Code