ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า?

เรื่องโดย ปรภัต จูตระกูล Team content www.thaihealth.or.th

ภาพโดย สสส. 



ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า? thaihealth


ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า?


“มันไม่มีประโยชน์ที่จะปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะละครไทยมันน้ำเน่าจริง ๆ แต่ต้องย้อนกลับมามองคำว่าน้ำเน่า เพราะน้ำเน่าคือน้ำที่ไม่ไหล ไม่มีการหมุนเวียนถ่ายเท ไม่มีออกซิเจน ไม่มีสิ่งมีชีวิต มีกลิ่นเหม็น นอกจากจะมีพิษแล้วก็ยังดื่มกินไม่ได้”


บนเวทีเสวนา “ละคร : มิติเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมสุขภาวะ” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนายยิ่งยศ ปัญญา (พี่ยุ่น) นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ผู้เขียนบทละครเรื่องกรงกรรม ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับละครน้ำเน่าเอาไว้ว่า ตนไม่ปฏิเสธคำนี้ เพราะว่าถ้ามองย้อนกลับไปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการละคร อุดมไปด้วยเรื่องที่เป็นน้ำเน่า วนเวียน ซ้ำซาก จำเจ ไม่ไปไหน มีสูตรสำเร็จตายตัว เดาจุดจบได้ จึงไม่แปลกที่ละครบางช่วงก็น้ำเน่า


ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า? thaihealth


นิยายน้ำเน่า สู่การเป็นละครน้ำเน่า


พี่ยุ่นเล่าว่า “คำว่าน้ำเน่าเป็นคำแสลงใจ เหมือนเป็นคำด่า ‘อีน้ำเน่า’ เหมือนถูกสร้างมาเพื่อทำให้เจ็บแสบ ทั้งเจ็บทั้งคัน เต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นอคติ และเมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้กับละคร ซึ่งความจริงเราก็ติดปากนึกจะใช้สิ่งนี้ว่า ชีวิตของใครสักคนน้ำเน่า เป็นต้น อยากจะชวนให้คิดว่า หากเปรียบเทียบชิ้นงานสักชิ้นในลักษณะของน้ำเน่า มันยุติธรรมไหม?” 


หากมองย้อนไปในลักษณะวรรณกรรมหรือนิยายที่มีหลายช่วงเวลาในอดีต มันก็อุดมไปด้วยเรื่องน้ำเน่า ในภาษาของละครเราจำแนกสิ่งนี้ว่า ‘Melodrama’ หรือเรียกว่า ‘เรื่องประโลมโลก’ เพราะฉะนั้นถ้ามองอย่างให้ความเป็นธรรมกับศิลปะการละคร มันก็คือความจริงที่เกิดขึ้นว่าสังคมในยุคนั้น เสพ (น้ำเน่า) เป็นความบันเทิง จึงไม่แปลกที่นิยายบางช่วงเต็มไปด้วยเรื่องที่เราเรียกว่า ‘น้ำเน่า’


ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า? thaihealth


สังคมเป็นอย่างไร งานศิลปะก็เป็นแบบนั้น


จากประสบการณ์ในวงการนักเขียนบทละคร พี่ยุ่น ได้ให้ความเห็นต่อละครในยุคนี้ว่า “เมื่อพูดถึงละครในยุคนี้ ผู้ผลิตตีความเอาเองว่า ‘คนดูชอบเสพสิ่งเหล่านี้’ ‘นี่คือสิ่งที่คนดูต้องการ’ และ ‘เราต้องทำให้คนดูพอใจ’ มันจึงเกิดละครที่มีเนื้อเรื่องน้ำเน่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก”


สังคมเป็นอย่างไร งานศิลปะ แม้จะเป็นศิลปะเชิงพาณิชย์อย่างละครทีวีก็ออกมาเป็นเช่นนั้น ชั้นเชิงของการใช้คำว่า ‘น้ำเน่า’ ของบริบทการเสียดสีประชดประชันใส่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทำไมละครน้ำเน่าบางเรื่องถึงประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมสูง ซึ่งต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ละครน้ำเน่าเรื่องนั้นออกมาในจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่? นักแสดงเล่นดีถึงความเป็นน้ำเน่าหรือไม่? องค์ประกอบรวม ๆ ในการที่จะออกมาเป็นละครมีความครบเครื่องสมบูรณ์แบบหรือไม่? จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ละครน้ำเน่าจะอยู่ในทุกสังคม ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย


ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า? thaihealth


ละครมีอิทธิพลต่อสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะละครเป็นสื่อฟรีที่ทำให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเนื้อหาที่ทำให้ผู้ผลิตละครมุ่งผลิตให้น่าสนใจมากที่สุด เพราะละครแต่ละเรื่องมีคุณค่าที่กระทบใจคนดูแตกต่างกันไป การสอนคนดูด้วยการไม่ยัดเยียดผ่านการดำเนินเนื้อเรื่องให้คนดูคิดตามและตั้งคำถามระหว่างตัวเองกับสังคม ซึ่งบทบาทหน้าที่ของละครคือการทำให้คนดูเกิดวุฒิปัญญาที่เกิดจากการตั้งคำถาม ค้นหาความหมายของชีวิต


เราควรจะเปิดใจรับความน้ำเน่าแบบแฟร์ ๆ อย่างเข้าใจสังคม เพราะว่า มันเป็นผลของการตีกลับไปกลับมา ‘ละครเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นเช่นนั้น-สังคมเป็นอย่างไร ละครก็เป็นเช่นนั้น’ ไม่ใช่ว่าละครน้ำเน่าจะเป็นสื่อที่สังคมต่อต้าน  พี่ยุ่น กล่าวทิ้งท้ายว่า "อย่างน้อยที่สุดละครเรื่องนั้นในสายตาผู้ชมไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มันก็มอบความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”


ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า? thaihealth


ละครน้ำเน่า จะสร้างประโยชน์อย่างไร?


“ละครมีความสนุก แต่มันก็มีอะไรที่เป็นศิลปะ มีความดีงามใส่เข้าไป” อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ (อ.แดง) นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาส บอกเล่ามุมมองของตนเองต่อว่า ในละครบางเรื่องสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า มีแต่ฉากที่รุนแรง โหดร้ายที่เกินมนุษย์ แต่ไม่ได้มอบประโยชน์อะไรให้กับสังคม ซึ่งแท้จริงแล้วละครควรจะสอนคนดู และควรตัดวงจรละครน้ำเน่าออก


“ละครที่เราเรียกว่าน้ำเน่าคนก็ดู แต่ถ้าเราแทรกความรู้ ความดีงามสอดเข้าไปให้กลมกลืนกับน้ำเน่า ทำให้เห็นว่าการกระทำไม่ดีจะส่งผลเช่นไร แล้วหากทำดีจะเป็นเช่นไร เพราะน้ำเน่าคือน้ำนิ่ง เราเอาเหตุผลใส่ไป เอาผลกระทบใส่ไป ก็เปรียบเสมือนการสอนคน” อ.แดง กล่าวสรุป


สื่อทีวีมีอิทธิพลมากในการเติมเต็ม ชักจูง และชักนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งบทบาทของสื่อโดยเฉพาะละครหลายเรื่องมีประโยชน์ต่อสังคมมาก โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสุขภาพให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา การที่สื่อเข้ามามีส่วนร่วมจะช่วยพัฒนาได้ในทุกมิติให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code