“ละครสะท้อนปัญญา” พัฒนาสุขภาวะเยาวชน

 

 “ละครสะท้อนปัญญา” พัฒนาสุขภาวะเยาวชน

          เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ 11 – 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปนั่งชม “ละครสะท้อนปัญญา” การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนด้วยศิลปะการละคร โดย “มูลนิธิสื่อชาวบ้าน” (กลุ่มละครมะขามป้อม) ร่วมกับ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) ที่ห้องจัดแสดงนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

 

          ภาพเด็กๆ วัยใส รุ่นหนุ่มรุ่นสาว สรวลเสเฮฮา เจือด้วยรอยยิ้ม ทั้งในช่วงชมละครของเพื่อนกลุ่มอื่น หรือหลังจากละครของกลุ่มตัวเองเสร็จสิ้นลง ก็ทำให้หัวใจคนมองเป็นสุขได้

 

          เนื้อหาจากบทสะท้อนผ่านตัวละครที่โลดแล่นบนเวที “เรื่องของ ดา กานดาผู้ไม่เคยพอ” ที่รังสรรค์โดย “กลุ่มมดตะนอย” จาก จ.เชียงราย บอกเล่าถึงเรื่องราวเด็กสาวที่ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อไปกับวัตถุนิยม โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ โน้ตบุ๊กตัวจิ๋ว เครื่องแต่งกายหรูหรา และเพื่อนเทียมที่ยึดถือค่านิยมผิดๆ นำไปสู่การบีบคั้นพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายไป

 

          ละครเสียดสีสังคมไทยในยุคเลือกสี ภาพของแม่ผู้แก่ชราชักชวนแจ๋วก้นครัวไปสนามหลวงเพราะไม่มีอะไรจะทำ ขอแค่มีเต๊นท์บังแดดฝน มีข้าวกิน มีน้ำดื่ม แถมเงินติดกระเป๋ากลับบ้าน ทั้งที่ฟังคำปราศรัยบนเวทีไม่รู้เรื่อง ในขณะที่ลูกชายผู้มีเลือดประชาธิปไตยเข้ม หาไยดีต่อเหตุการณ์ปัจจุบันไม่..กลายเป็นเงาสะท้อนที่แสนเจ็บปวดของสังคมไทย

 

          “พฤหัส พหลกุลบุตร” หรือ “ก๋วย” แกนหลักของมูลนิธิสื่อชาวบ้าน ในฐานะหัวหน้าโครงการละครสะท้อนปัญญา เล่าว่า โครงการนี้เริ่มต้นจาก สสส.และมะขามป้อม ที่ทำงานร่วมกันมานานหลายสิบปี เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความคิดที่จะสะท้อนปัญหาสังคมออกสู่สาธารณะ สสส. จึงเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ซึ่งก็คือ เด็ก ที่มะขามป้อมคุ้นเคยเพราะคลุกคลีใกล้ชิด และทราบดีว่าเด็กมีศักยภาพพอที่จะเล่าเรื่องราวผ่านบทละครดีดี

 

          “เด็กมีมุมมองที่จะสะท้อนสังคมได้ดี แต่ที่ผ่านมาอาจไม่มีโอกาสนำเสนอผ่านช่องทางที่เหมาะสม เราจึงจัดโครงการนี้ขึ้นใน 3 ภูมิภาค คือ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือเป็นแห่งสุดท้าย นำเด็กจาก 7 ทีม เข้าค่ายปรับระบบตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนเข้าสู่กระบวนการเตรียมบท สร้างบท ฝึกซ้อม และออกแสดงในชุมชน ตลาดสด สถาบันการศึกษาต่างๆ ก่อนที่แต่ละกลุ่มจะมาแสดงสดให้เพื่อนๆ ได้ชมเป็นครั้งสุดท้าย”

 

          ก๋วย บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะก้าวมาถึงวันนี้ วันที่กระบวนการเรียนรู้จบลง คงเหลือเวลาคัดตัวแทนเพื่อนจาก 3 ภูมิภาค 25 ทีม เข้าสู่รอบสุดท้าย 6 – 7 ทีม เพื่อจัดแสดงใหญ่ระหว่างวันที่ 21 – 22 สิงหาคมนี้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิลด์

 

          “จะมี 3 ทีมเท่านั้นที่จะได้รางวัล บทละครยอดเยี่ยม ทีมยอดเยี่ยม และละครยอดเยี่ยม เพื่อเป็นกำลังใจ ผลักดันให้เด็กเหล่านี้ ก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็งใน..โลกแห่งละคร”

 

          ภาพเด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ เหยื่อของสังคม ทั้งความคิดและการแสดงออก ที่มีความแรง สวย เริ่ด เชิด หยิ่ง ใส่กันในวันแรกที่เข้าค่าย กลายเป็นพัฒนาการที่ทรงพลัง เข้าใจตัวเอง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และโตขึ้น เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับผู้ทำหน้าที่ชี้แนะอย่าง..ก๋วย

 

          “ดล” หรือ “ดลยา เปี่ยมสุวรรณ์” สาวน้อยวัยใสในคราบหนุ่มน้อย เล่าว่า ตัวละครที่ได้รับจากเรื่อง เจ้าขุนทองจะกลับมาหรือ จากทีมหมูกรอบเทพ เป็นเรื่องราวการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยในอดีตกับปัจจุบัน อยากสะท้อนสังคมไทยปัจจุบันว่า การเสพข่าวที่ออกมาไม่ควรเชื่อทั้งหมด ต้องค้นคว้าข้อมูลข่าวสารจากหลายด้าน เพราะประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ใช่เชื่อจากใครคนใดคนหนึ่งที่มาพูดกรอกหู ซ้ำๆ

 

          “กว่าจะมาถึงวันนี้ เราผ่านการตบตีกันในกลุ่มเพื่อน เพราะต้องทำงานร่วมกันทั้งวันทั้งคืน ทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนมากขึ้น รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม รู้ว่าเพื่อนคนไหนทำอะไรได้ดีเพื่อที่จะได้มอบหมายงานนั้นให้ทำ จากความเครียดก็กลายเป็นความจริงจังแต่สนุกสนาน กลายเป็นมิตรภาพที่พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นและสังคมในยามบอบช้ำ”

 

          ดล บอกว่า วัยรุ่นปัจจุบันไม่ค่อยมองอนาคต จะมองแต่ตรงหน้า เช่น พรุ่งนี้จะสอบหรือต้องส่งงาน ก็จะขอเล่นเกมก่อนแล้วค่อยทำ ซึ่งบางทีไม่ได้นอนเพราะมัวไปสนุกแค่ชั่วคราวเลยกลายเป็นความทุกข์ ซึ่งไม่ต่างจากมุมมองต่อบ้านเมือง วัยรุ่นยุคนี้ไม่ค่อยสนใจอะไรนอกจากเรื่องตัวเอง

 

          ขณะที่ “กอล์ฟ” หรือ “ธนุพล ยินดี” ตัวแทนจากกลุ่มละครข้าวนึ่ง (เชียงดาว) ผู้รับบทแม่มดใจร้าย เล่าว่า นำเสนอเรื่อง ภาวะโลกร้อน เพราะกลุ่มคนที่ออกมารณรงค์ให้ทุกคนตระหนัก แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้จริงจัง ยังคงใช้น้ำมัน ใช้กระดาษกันกลาดเกลื่อน แล้วจะไปหวังอะไรกับคนที่ยังไม่ได้คิดที่จะทำอะไร ทุกคนต้องเร่งมือลด ละ เลิก ที่จะทำให้โลกร้อนได้แล้ว

 

          “ตั้ว” “ประดิษฐ ประสาททอง” เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน บอกว่า ในฐานะกำกับศิลป์ วิทยากรด้านการละครครั้งนี้ ภูมิใจในตัวเด็กๆ เพราะพัฒนาการจากวันแรกจนถึงวันนี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะระยะเวลา 3 เดือน ที่ไม่ต่อเนื่องนักขอให้คะแนนร้อยละ 70 ผลงานของเด็กน่าพอใจ การถ่ายทอดและชี้แนะจุดแข็ง จุดบกพร่อง บวกกับกำลังใจว่าศิลปะเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน เด็กๆ ก็จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีในอนาคต ขอเพียงมีเวทีให้พวกเขาได้ยืน

 

          “ต้องเข้าใจว่าการละครต้องใช้เวลา ฝึกฝน และผ่านภาคปฏิบัติที่เข้มข้น บ่มเพาะประสบการณ์ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เด็กๆ ขาดหายคือการหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในแง่เทคนิค การนำเสนอเรื่องราว เนื้อหาที่ต้องการสื่อ เชยไปหรือยัง การนำเสนอต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม เพราะละครร่วมสมัยต้องมีชีวิต จับต้องได้ มีผลกระทบต่อประชาชนที่เด่นชัด”

 

          ส่วน “ผศ.วิลาวัณย์ เศวตเศรนี” จากภาควิชาศิลปะการละคร คณะวิจิตรศิลป์ มช. บอกว่า สสส. จัดทำโครงการดีๆ เชื่อมโยงและรวมกลุ่มเด็กมานำเสนอปัญหาสังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสให้เด็กมีพัฒนาการสูงขึ้น แม้ว่าการนำเสนออาจขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง แต่ก็เป็นเวทีให้เด็กได้แสดงออกทางความคิด เปิดโลก เปิดตัวตน

 

          “สิ่งที่ยากของการทำละครคือ การรวบรวมความคิด ขยันซ้อม แต่ทุกคนต้องศึกษาดู ฟัง เลือกเสพละครให้มากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงและสะท้อนเรื่องราวให้คนดูมีความรู้สึกร่วม ละครมีองค์ประกอบมากมายผ่านการนำเสนอที่น่าสนใจ”

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 15-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาอื่นๆ ในคอลัมน์คลิกที่นี่

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code