ละครสร้างเยาวชน
กับเทศกาลละครกรุงเทพ “ละครหลากสี มีดีที่หลากหลาย”
หวังว่าท่านผู้อ่านคงยังไม่เบื่อกันก่อนที่เดือนนี้หยิบยกเรื่องละครมาพูดคุยกันบ่อยๆ แต่เหตุที่หยิบมาพูดคุยกันบ่อยครั้งก็เนื่องมาจากเดือนนี้เป็นเดือนที่มีการจัด “เทศกาลละครกรุงเทพ” ขึ้นภายใต้ธีมว่า ละครหลากสี มีดีที่หลากหลาย เทศกาลละครกรุงเทพนี้มีการจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ณ.สวนสันติชัยปราการ ถ.พระอาทิตย์และครั้งนี้ก็จัดเป็นครั้งที่ 9 แล้ว แม้ว่าชื่อของเทศกาลละครนี้จะระบุว่า “กรุงเทพ” แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะให้คนละครหรือกลุ่มละครในกรุงเทพเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมแสดงงาน เพราะที่จริงแล้วเป็นเทศกาลแห่งการรวมตัวของคนละคร และกลุ่มละครต่างๆซึ่งคนละครจะรู้กันดีและเดินทางมาเข้าร่วมแสดงไม่ว่าจะมาจากภาคไหนก็ตาม และงานละครที่นำมาแสดงในเทศกาลนี้ก็จะมีความหลากหลายเรียกได้ว่ามีละครแทบจะทุกประเภททั้งละครเวทีแบบที่เป็นละครพูดละครที่เน้นการใช้ร่างกาย ละครเด็ก ละครเร่ ก็มีให้ชมกันจนไม่หวาดไม่ไหว
เมื่อเดินทางมาร่วมงานในเทศกาลละครกรุงเทพครั้งนี้ก็มีโอกาสพบปะเยาวชนทั้งที่มาดูละครและเยาวชนจากกลุ่มละครต่างๆ ที่มาร่วมแสดงละครในเทศกาลละคร แม้ว่าปีนี้ช่วงเวลาในการจัดเทศกาลนั้นจะน้อยกว่าทุกปีเพราะจัดเพียงสองสัปดาห์เท่านั้นและพื้นที่ในการแสดงละครตามร้านอาหารบริเวณถนนพระอาทิตย์จะเหลือเพียงไม่กี่ร้าน โปรแกรมการแสดงจากกลุ่มละครต่างๆ ก็ดูแล้วน้อยกว่าทุกปีแถมผู้ที่มาในสัปดาห์ที่สองยังไม่ค่อยได้รับความสะดวกในการดูโปรแกรมการแสดงเท่าไหร่เพราะแผ่นพับที่แสดงโปรแกรมอันเสมือนเป็นคู่มือในการชมละครในเทศกาลนั้นหมดเกลี้ยงแบบไม่มีมาเพิ่มเติมทำให้ต้องแสวงหาหนทางในการชมละครตามเวทีต่างๆ ด้วยตนเอง แต่สิ่งที่น่าดีใจและน่าสนใจจากที่พบเห็นในเทศกาลละครครั้งนี้ก็คือเด็กและเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมในฐานะผู้ชมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาเพราะสนใจ มาเพราะอาจารย์สั่งให้มาดูก็ล้วนเป็นเรื่องน่ายินดีทั้งนั้น ที่ละครจะได้มีโอกาสเข้าไปประทับอยู่ในหัวใจของเด็กและเยาวชนเหล่านี้ในฐานะสื่อแห่งการสร้างสรรค์แตกต่างไปจากฐานะสื่อบันเทิงไร้สารประโยชน์ที่หาชมได้ทั่วๆ ไปเพียงอย่างเดียว
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เขียนถึงกลุ่มละคร “ข้าวโพดข้าวเหนียว” กลุ่มละครลูกอีสานที่เดินทางมาไกลจากจังหวัดมหาสารคามเพื่อมาร่วมแสดงผลงานละครเรื่องสตอรี่ สีอีสาน ในเทศกาลละครครั้งนี้ อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาต้องเดินทางมาร่วมแสดงทั้งๆที่พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีทุนทรัพย์แต่ต้องร่วมกันลงขันด้วยทุนของตนเองซึ่งสำหรับเด็กต่างจังหวัดนั้นเงินพันกว่าบาทที่แต่ละคนต้องหามาลงขันร่วมกันเพื่อใช้ในการสร้างงานและการเดินทางมาร่วมเทศกาลละครครั้งนี้เป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลย
จากการพูดคุยกับเยาวชนในกลุ่มละครข้าวโพดข้าวเหนียวทำให้ทราบว่ากลุ่มละครนี้แยกตัวออกมาจากกลุ่มละคร msu act1 scene1ด้วยเหตุผลตามที่เคยกล่าวมาในสัปดาห์ที่แล้ว แต่แรงผลักดันที่สำคัญที่พวกเขาเลือกที่จะเดินทางมาร่วมแสดงงานในครั้งนี้นอกเหนือจากความรักในศิลปะการละครแล้วนั้นก็ยังเนื่องมาจากการที่ “กลุ่มละครของเราเคยได้ทำโครงการละครสรรค์สร้างเยาวชนสู่สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนและการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุก ยุทธศาสตร์ละครสำหรับเยาวชน ซึ่งในการทำโครงการครั้งนั้นนับเป็นก้าวแรกของกลุ่มละครของเราซึ่งเป็นโชคดีของพวกเราที่ ได้ทุนสนับสนุนจาก สสส.อันเสมือนเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของพวกเราและให้โอกาสพวกเราในการทำละครที่พวกเรารักและที่สำคัญนอกเหนือจากการทำละครที่เรารักแล้ว สสส.ให้โอกาสพวกเราได้นำสิ่งดีๆ จากละครไปแบ่งปันให้กับสังคมด้วยซึ่งการแบ่งปันผ่านละครนี้ก่อให้เกิดความสุขทั้งกับพวกเราผู้ให้และกับผู้คนในพื้นที่ต่างๆที่เราเดินทางไปมอบความสุขจากละครในโครงการของเราในครั้งนั้น คุณค่าของความสุขจากการให้และการรับเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้พวกเรามุ่งมั่นที่จะทำและนำละครไปใช้เพื่อพัฒนาสังคมต่อไป แม้ว่าโครงการละครสร้างเยาวชนสู่สังคมสุขภาวะของพวกเราจะจบไปแล้ว แต่พวกเราไม่อยากให้บทบาทในการสร้างสังคมด้วยละครของพวกเราจบไปเพียงแค่นั้น ดังนั้นเมื่อพวกเรามีโอกาสในการแบ่งปันพวกเราก็อยากที่จะร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นแม้ว่ามันจะไม่ยิ่งใหญ่และเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จากการสร้างสรรค์งานละครของพวกเราก็ตาม”
“เมื่อก่อนนี้ผมก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยที่มีโอกาสออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองในหอพัก ผมก็อยากเที่ยวอยากสนุก ก็เที่ยวไปเรื่อยๆไม่สนใจเรียนจนเกือบไม่ได้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยต่อ แต่เมื่อมาร่วมทำกิจกรรมละครผมมองเห็นคุณค่าของตัวเองและรู้สึกว่าเรามีประโยชน์กับผู้อื่น มันเป็นควาสมภาคภูมิใจที่เป็นแรงสนับสนุนให้ผมเริ่มปรับปรุงตัวเองทีละน้อยและไม่หันกลับไปใช้ชีวิตไร้สาระเหมือนก่อน” นี่คืออีกหนึ่งเสียงจากเยาวชนที่เดินเข้ามาร่วมทำงานในกลุ่มละครข้าวโพดข้าวเหนียว เสียงบอกเล่าเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนได้ดีในการนิยามคุณค่าทางศิลปะการละครที่มีต่อเยาวชนและมีต่อสังคม ละครสอนให้เยาวชนเหล่านี้รู้คุณค่าของตัวเอง รู่คุณค่าของศิลปะและที่สำคัญคือมีหัวใจแห่งการแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคม สิ่งนี้คือจิตสาธารณะอันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่สังคมทุกวันนี้กำลังโหยหาและต้องการ
สิ่งดีๆที่ได้ ผู้เขียนได้ฟังจากการคุยกับเยาวชนทำให้รู้สึกอิ่มใจและอยากขอบคุณ สสส.ที่เห็นคุณค่าของศิลปะ ให้โอกาสเยาวชนได้รู้จักตนเองและให้โอกาสพวกเขาในการนำสิ่งดีๆ ไปแบ่งปันสังคม และอยากให้สังคมได้รับรู้ว่าศิลปะมีศักยภาพและมีคุณค่ากับมนุษย์และสังคมไม่แพ้ศาสตร์อื่นๆ ที่ระบบการศึกษาและประเทศชาติเร่งพัฒนาแม้ว่าศิลปะอาจจะไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้มากเท่ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่อย่าลืมว่าอย่างน้อยที่สุดศิลปะเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เกิดความละเอียดอ่อนในหัวใจมนุษย์ เป็นหนทางแห่งความดีและความงามในการอยู่ร่วมกันซึ่งนำไปสู่สังคมแห่งความสุขได้ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update:19-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่