‘ลวนลาม-คุกคาม’ภัยมืดระบบขนส่งสาธารณะ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


'ลวนลาม-คุกคาม'ภัยมืดระบบขนส่งสาธารณะ thaihealth


"เราก็เป็นพนักงานบริษัทธรรมดาคนหนึ่ง เลิกงานก็กลับบ้าน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ นั่งรถไฟฟ้าจากเพลินจิตจะไปสวนจตุจักร คนเยอะมาก พอถึงสถานีสยามมีคนลงเพื่อเปลี่ยนขบวน เราก็จะเดินเข้าไปด้านใน มีคุณป้าคนหนึ่งสะกิดเรียก บอกว่ากระโปรงเราขาด แวบแรกก็เข้าใจว่าสงสัยอะไรเกี่ยวมั้ง แต่พอหันกลับไปดู มันเป็นรอยถูกกรีด พอกลับถึงบ้านเอามาดูพบว่ารอยมันยาวประมาณเมตรกว่า"


เรื่องเล่าจาก วรวรรณ ตินะลา ที่ต้องบอกว่าเป็น "ประสบการณ์เลวร้ายยากจะลืม" เธอเป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อ "คุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ" เมื่อหลายปีก่อน ในมุมหนึ่งยังถือว่าโชคดีที่ไม่เป็นอะไรมากกว่านั้น และมี ผู้โดยสารหลายคนพยายามหาเข็มกลัดมาติดกระโปรงให้เธอใส่กลับบ้านไปก่อน แต่อีกมุมหนึ่ง ชีวิตของเธอหลังจากวันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล


วรวรรณ บอกเล่าเรื่องราวนี้ในงานแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อ ผู้หญิง (Safe City for Women) เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากลปี 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ว่าหลังจากนั้น สภาพจิตใจของเธอ "หวาดระแวง" คิดไปสารพัดอย่างตลอด เช่น จะเปลี่ยนแนวการแต่งตัวเพื่อหนีจากคนร้ายรายนี้ ดีไหม? แต่เปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นไปยั่วยุคนร้ายรายอื่นๆ หรือเปล่า? หรือจะเปลี่ยนเวลากลับบ้านให้ดึกกว่าเดิม แต่กลับดึกจะยิ่งอันตรายไหม? และถึงขั้นที่ลงทุนไป "เรียนศิลปะการต่อสู้" เพื่อป้องกันตนเอง


แน่นอนว่า วรวรรณ คงไม่ใช่คนเดียวที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ดังการเปิดเผยผลสำรวจที่ทำโดย วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สอบถามความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,654 คน ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับปัญหาการคุกคามทางเพศ แล้วพบว่า


กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 ระบุว่า ตนเองเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ และในจำนวนดังกล่าวเป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 45 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่เคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจนถึงวันที่ให้ข้อมูล ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการคุกคามทางเพศยังเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน


วราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างตอบว่าพบเจอมากที่สุด อันดับ 1 ลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง จ้องไปที่หน้าอก อันดับ 2 ถูไถถูกเนื้อต้องตัวทั้งที่ผู้คนในสถานที่และเวลานั้นไม่ได้แน่นจนต้องยืนเบียดกัน นอกจากนี้ยังมีการผิวปากแซว พูดจาแทะโลม ชวนคุยเรื่องลามก ไปจนถึงกรณีที่มีสถิติไม่มากนักแต่เป็นพฤติกรรมที่เข้าขั้นรุนแรง เช่น การโชว์อวัยวะเพศ การใช้อวัยวะเพศถูไถร่างกาย การแสดงการสำเร็จความใคร่ให้เห็น


ผจก.แผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สสส. กล่าวอีกว่า ร้อยละ 33  ของกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า แม้ตนเองไม่เคยถูกคุกคามทางเพศโดยตรง แต่เคยเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวบนระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อถามต่อไปว่าพบเห็นแล้วทำอย่างไร ร้อยละ 13 ของกลุ่มตัวอย่างที่เคยพบเห็นเหตุการณ์ ตอบว่านิ่งเฉยหรือเดินหนี ขณะที่ ร้อยละ 28 ตอบว่าแจ้งพนักงานประจำรถ และ ยังมีบางส่วนพยายามเข้าไปขัดขวางแทรกแซง ซึ่งยังเป็นเรื่องดีที่มีคนพร้อมจะแสดงออกว่าไม่ยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว


"ถามว่าเหตุเกิดที่ไหนมากที่สุด? แน่นอนอันดับต้นๆ คือรถโดยสารประจำทางเพราะมีผู้ใช้บริการมาก แต่ที่น่าสนใจคือบนรถมอเตอร์ไซค์ ในแง่ที่ผู้ตอบแบบสอบถามก็ไม่ได้ตอบว่าใช้บริการมากเป็นอันดับ 2 แต่เป็นสถานที่ที่ตอบว่าถูกคุกตามมากเป็นอันดับ 2 ต่อมาก็จะเป็นแท็กซี่กับรถตู้ ซึ่งก็เป็นพื้นที่ปิดหรืออาจจะอยู่ใกล้ชิดตามลำพังกับคนขับ และอันดับ 5 คือรถไฟฟ้า" วราภรณ์ กล่าว


'ลวนลาม-คุกคาม'ภัยมืดระบบขนส่งสาธารณะ thaihealth


ขณะที่ ยงค์ ฉิมพลี คณะกรรมการ ป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพเป็น "กระเป๋ารถเมล์"พนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง สังกัด ขสมก. พบเห็นพฤติกรรมคุกคามทางเพศอยู่เป็นระยะๆ อาทิ ผู้หญิงนั่งเบาะเดี่ยวชิดหน้าต่างแล้วผู้ชายยืนชิดในลักษณะใช้อวัยวะเพศถูไถไปที่ไหล่ของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงจะไม่สามารถหลบหลีกได้ ที่ผ่านมาต้องพยายามใช้คำพูดบางอย่างเพื่อให้ผู้กระทำยุติพฤติกรรมดังกล่าว โดยที่ต้องไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ เข้าใจผิดว่าแสดงกิริยาไม่สุภาพด้วย


"มันเป็นดาบสองคมเหมือนกัน ถ้าเราใช้วาจาไม่สุภาพแล้วถูกรายงานไปเราก็ถูกลงโทษ เราก็จะไปบอกกับผู้กระทำว่า..ขอโทษค่ะ! คุณพี่ จะลงที่ไหนคะ? ถ้ายังไม่ลงรบกวนช่วยขยับเข้าข้างในหน่อยได้ไหม?..ทำแบบนี้เพื่อจะไม่ให้มีบุคคลที่ 3 เข้าใจว่าเราไปไล่ผู้โดยสาร เพราะบางทีผู้โดยสารที่กระทำ เขาเกิดความอับอายเขาก็จะลงจากรถเลย ผู้โดยสารคนอื่นๆ ก็จะบอกว่าพนักงานไล่ผู้โดยสารลงแน่นอน" ยงค์ ระบุ


ด้าน จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ผู้แทนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองในแง่กฎหมายที่มีอยู่ เช่นคำว่า "อนาจาร" ก็ยังมีข้อ ถกเถียงว่า "พฤติกรรมอย่างไรเข้าข่ายบ้าง?" จึงอยากให้ระบุในกฎหมายให้ชัดเจน นอกจากนี้ "การติดตั้งกล้องวงจรปิด" บนระบบขนส่งสาธารณะก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้รถเมล์ของ ขสมก. มีแล้ว ก็อยากให้ขยายไปยังรถเมล์ร่วมเอกชน รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทุกประเภท


แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) ให้ความเห็นว่า ลำพังการมีกฎหมาย มีช่องทางร้องเรียน หรือติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม อาจไม่เพียงพอหาก "คนในสังคมไม่ช่วยกัน" ไม่เป็นหูเป็นตา ปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะก็อาจไม่ได้รับการแก้ไขให้ลดลงได้


"ถ้าเพื่อนร่วมทางเห็นสถานการณ์และยื่นมือเข้าไปช่วย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราเชื่อมั่นว่ามันจะสามารถยับยั้งปัญหาการคุกคามบนระบบขนส่งสาธารณะได้" ผจก.ฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ฝากข้อคิด


ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ยังมีการพูดถึง "บทเรียนจากต่างแดน" ผลการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า "คนร้ายจริงๆ มีไม่มาก" หรือพูดง่ายๆ คือ "หน้าเดิมๆ ทำซ้ำๆ" ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ "ทำแล้วไม่มีใครขัดขวาง" บ่อยครั้งเข้าเลยกลายเป็น "ย่ามใจ" ก่อเหตุได้แบบไม่เกรงกลัวหรือละอาย แต่ในทางกลับกัน ผู้กระทำจำนวนไม่น้อย ถ้าเห็นว่า "ทำแล้วมีคนเข้ามายุ่งเข้ามาแทรกแซง" ก็จะหยุดพฤติกรรมนั้นลงเมืองก็จะ "น่าอยู่" เพราะมีความปลอดภัย!!!


ปัจจุบันข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลวนลามหรือคุกคามทางเพศ ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานกระทำอนาจาร มาตรา 278  หากกระทำกับ ผู้มีอายุเกิน 15 ปีขึ้นไป ในลักษณะขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือหลอกลวงให้เข้าใจผิด กับ มาตรา 279  หากกระทำกับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้เด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ มาตรา 280 ยังระบุว่าโทษจะหนักขึ้นหากการกระทำนั้นทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายถึงขั้นสาหัสหรือถึงขั้นเสียชีวิต


นอกจากนี้ยังมีการแก้ไข มาตรา 397  จากเดิมที่มีเพียงข้อหาข่มเหงรังแกผู้อื่นให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญต่อหน้าธารกำนัล ข้อหาเดียว เพิ่มเป็น 1.ข่มเหงรังแก ผู้อื่นให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท 2.หากเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.หากผู้กระทำมีสถานะเป็นนายจ้าง ผู้บังคับบัญชา หรือมีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

Shares:
QR Code :
QR Code