ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์ ในกลุ่มวัยรุ่น

      วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านร่ายกาย จิตใจและสังคม การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของวัยรุ่น จะแสดงออกถึงพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและทำให้เกิดปัญหาตามมา


/data/content/26463/cms/e_bcfkmovwy139.jpg


      พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่พบมากเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นคือการคบเพื่อน สังคม ความอยากลอง การทะเลาะกับผู้ปกครอง ซึ่งนำสู่พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาต่างๆ มากมาย ได้แก่ ปัญหากับผู้ปกครอง การทะเลาะวิวาท ปัญหาการเรียน อุบัติเหตุ และการใช้จ่าย เป็นต้น


      นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ มีความวิตกกังวล สมาธิสั้น และมีการใช้สารเสพติดอื่นมากกว่าเด็กวัยรุ่นที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 1.6- 3.0 เท่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อโรคเอดส์ และการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์มากขึ้น


     นายไพบูลย์ ชาวสวนศรีเจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร (วสส.) จังหวัดตรัง กล่าวว่าพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และแทรกซึมอยู่ในสังคมเป็นจํานวนมาก เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดที่สามารถซื้อหาได้ง่าย และไม่ผิดกฎหมาย ประกอบกับสังคมเห็นว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ ทั้งในและต่างประเทศ


     นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่าในปัจจุบัน ประชากรโลกมีการดื่มสุราเป็นจํานวนมากและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 2.5 ล้านคน ก่อให้เกิดความพิการและทุพพลภาพ 2.25 ล้านคน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาระโรคอันดับหนึ่งของโลกและมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคและการบาดเจ็บมากกว่า 60 ชนิด


     "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเด็นทางสังคมและการพัฒนาต่างๆ รวมถึงความรุนแรง การถูกทอดทิ้งและการล่วงละเมิดในเด็ก ตลอดทั้งการขาดงาน ในปี 2005 มีการบริโภคแอลกอฮอล์เทียบเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์โดยเฉลี่ยประมาณ 6.13 ลิตรต่อคนในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และสุรานอกระบบอีกประมาณร้อยละ 30 ของการบริโภคทั้งหมดในผู้ใหญ่" นายไพบูลย์ กล่าว


     นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่าจากการจัดอันดับโลกโดยองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 40 ของโลก โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดกลั่น สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แนวโน้มอัตราการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปี 2532 อัตราการดื่มเฉลี่ย 20.2 ลิตรต่อคนต่อปี และปี 2546 มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 58.0 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า


     นายไพบูลย์ ยังเล่าต่อไปอีกว่าจำนวนประชากรที่ดื่ม จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2547 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ดื่มแอลกอฮอล์ มีจำนวน 16.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แยกเป็นชาย 13.58 ล้านคน หรือร้อยละ 55.5 ของเพศชายอายุ 15 ปีขึ้น เป็นหญิง 2.57 ล้านคนหรือร้อยละ 10.3 ของเพศหญิง


     "ในจำนวนนี้เป็นผู้ดื่มสุราเป็นประจำหรือดื่มสม่ำเสมอประมาณ 8.8 ล้านคน แยกเป็นชาย 8.03 ล้านคน เป็นหญิง 7.6 แสนคนจำนวนนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ อย่างน้อย 260,000 คน หรือประมาณวันละ 700 คน สำหรับการบริโภคของวัยรุ่นชายวัย 11-19 ปี ที่บริโภคเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์มีจำนวนประมาณ 1.06 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 21.2 ของประชากรในกลุ่มอายุนี้" นายไพบูลย์ กล่าว


      จากการสำรวจพฤติกรรมของเยาวชน ของจังหวัดตรังปี 2552 พบว่าอายุที่เยาวชนเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดย/data/content/26463/cms/e_aefnprst5679.jpgเฉลี่ยในเพศชาย 13.6 ปี เพศหญิง 14.2 ปี มีประวัติเคยดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเพศชายร้อยละ 62.2 และเพศหญิงร้อยละ 31.1 ในจำนวนที่ดื่ม ร้อยละ 72.9 ในเพศชายและร้อยละ 42.7 ในเพศหญิงดื่มเป็นบางวัน


     นอกจากนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนอายุ 15-19 ปี ในปี 2552 พบว่าความชุกของเยาวชนในจังหวัดตรังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 58,469 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย ในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 14.9 พบปัญหาที่เกิดจากการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


     ปัจจุบันสถานการณ์การเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนจังหวัดตรัง โดยเฉพาะเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งผู้ชายและผู้หญิง และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ได้แก่การตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยรุ่นสูงขึ้น เยาวชนมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับยาเสพติดสูงขึ้นทั้งในลักษณะผู้เสพและผู้ค้า และพบอัตราออกกลางคันระหว่างเรียนในระดับสูงของภาคใต้และประเทศ (การประชุมสมัชชาจังหวัดตรัง, 2555)


      "จากสถานการณ์ดังกล่าว วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการด้านสุขภาพแก่พื้นที่ของจังหวัดตรังและใกล้เคียง เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงได้เขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อป้องกัน ลด ละและเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มวัยรุ่น จังหวัดตรัง เพื่อให้เยาวชนในจังหวัดตรังได้มีความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนที่ดื่มสามารถลด ละและเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนจังหวัดตรังต่อไป" นายไพบูลย์ กล่าว


      โครงการนี้เป็นโครงการนำล่องที่ดำเนินการกับกลุ่มวัยรุ่นในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดตรัง โครงการจะช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนไทยมีความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพของตนเองให้ปราศจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักเรียนจะได้รับทักษะชีวิตที่เหมาะสมซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยเสริมสร้าง และกระตุ้นให้เด็กและเยาชนไทยมีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองในการดำเนินชีวิตที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่างๆ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่ตามมาหลายๆ ด้าน โครงการนี้สามารถเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการได้ศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป


      นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่าสำหรับพื้นที่การดำเนินการนั้น ประกอบด้วยโรงเรียนวิเชียรมาตุ อ.เมือง โรงเรียนกันตังพิทยากร อ.กันตัง และโรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข อ.นาโยง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ โดยจะไปสิ้นสุดโครงการ ในวันที่ 31 มกราคม 2558 เมื่อโครงการแล้วเสร็จ หรือเมื่อทุนของ สสส. หมดลง จะมีการดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร ด้วยทุนของใคร กลุ่มหรือองค์กร/หน่วยงานใดในชุมชนจะรับผิดชอบต่อไป


      การดำเนินโครงการดังกล่าวของ วสส.ตรัง ถือเป็นอีกก้าวที่จะปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ ในการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นของจังหวัดตรัง ในอันที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายของเยาวชนให้แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในอันที่จะเติบโตก้าวสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดและประเทศชาติต่อไปในอนาคต


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code