ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภัยคุกคามของโลก

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภัยคุกคามของโลก thaihealth


7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ร่วมหารือวางรางฐานการสร้างความเข้มแข็งงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงโรคติดต่อไม่เรื้อรัง


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามพันธกิจที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสส. กับองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (World Health Organization, South-East Asia Region Office : WHO-SEARO) ในการสร้างความเข้มแข็งด้านงานสร้างเสริมสุขภาพ


เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้- ตะวันออก ระหว่างปี 2558-2560 โดยมี 7 ประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมประชุม ได้แก่ เมียนมา อินโดนีเซีย กัมพูชา ภูฏาน มัลดีฟส์ ศรีลังกา และติมอร์ เลสเต นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้บริหารองค์การสร้างเสริม สุขภาพของสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ร่วมให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพอีกด้วย


ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภัยคุกคามของโลก thaihealth


"พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ สสส. ประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นภัยคุกคามของโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในภาคพื้นเอเชียใต้-ตะวันออก สูงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 55 ของการตายทั้งหมด หรือเกือบ 8 ล้านคนต่อปี ส่งผลกระทบต่อประเทศรายได้ต่ำและปานกลางอย่างมาก


"สสส. และ WHO-SEARO จะร่วมกัน วางรากฐานการพัฒนาศักยภาพการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้- ตะวันออก โดยพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพของทั้ง 7 ประเทศ ผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการระดับประเทศ และเกิดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืนต่อไป"


ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภัยคุกคามของโลก thaihealth


ด้าน "ดร.สุวจี กู๊ด" ผู้ประสานงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมองค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก กล่าวว่า เรื่องของสุขภาพจะมองแค่เพียงมิติเดียวไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงทุกมิติ ทั้งด้านกฎหมาย นโยบายทางด้านการค้า หรือภาวะทางการเมือง เพื่อลดปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน เช่น ระบบการค้าเสรี เทคโนโลยี หรือเรื่องกลไกการเงินที่ยั่งยืน จากการใช้ภาษีบุหรี่และเหล้า ต้องสร้างกลไกทางการคลังให้ยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างความรู้ตั้งแต่ระดับบุคคลเป็นต้นไป


หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้ ทุกประเทศต่างมีความคาดหวังไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องการจะเห็นประชาชนในประเทศของตนเองล้มตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และปรับปรุงการบริหารจัดการอีกสักระยะเวลาหนึ่ง


แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นอัตราการเสียชีวิตที่น้อยลงจนเห็นได้ชัด เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีของประชากรทั่วโลกต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code