‘ลดเหล้า’เท่ากับ’ลดเรื่องร้าย’ตัวอย่างจาก’ชุมชนบ้านโป่งเทวี’

ที่มา : แนวหน้า 


'ลดเหล้า'เท่ากับ'ลดเรื่องร้าย'ตัวอย่างจาก'ชุมชนบ้านโป่งเทวี' thaihealth


"เข้าพรรษา" สืบเนื่องจากสมัยพุทธกาลมีพระสงฆ์ผู้ธุดงค์ไปเผยแผ่ศาสนาเผลอเหยียบต้นข้าวของชาวบ้านที่เพิ่งปลูกเมื่อเริ่มเข้าสู่ ฤดูฝน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดให้ พระสงฆ์จะต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงนี้เองเป็นเวลาที่พระสงฆ์บวชใหม่จะได้เรียนและทบทวนความรู้ในพระธรรมอย่างจริงจังจากพระผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ สังคมไทยจึงส่งเสริมให้ชายหนุ่มบวช ในช่วงเข้าพรรษา และหากไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่ลาสิกขาก่อนครบ 3 เดือน เรียกว่า "บวชเรียน" หลังจากนั้นจึงถือเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว สามารถออกไปทำงานสร้างครอบครัวได้


ข้างต้นนั้นคือการปฏิบัติตน ในช่วงเข้าพรรษาของนักบวช ส่วนฆราวาส นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตรและการถวายเทียนพรรษา (ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหลอดไฟตามยุคสมัย) ในวันเข้าพรรษาแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในระยะหลังๆ คือ "งดเหล้า เข้าพรรษา" ที่ประชาชนจะไม่ดื่มเครื่องดื่ม มึนเมาตลอดช่วง 3 เดือนพร้อมๆ ไปกับการจำพรรษาของพระสงฆ์ หลายรายออกพรรษาแล้วก็เลิกดื่มได้อย่างเด็ดขาด ส่วนอีกหลายรายแม้ยังเลิกไม่ได้ แต่การฝึกควบคุมจิตใจ ของตนให้ไม่ดื่มในช่วงเข้าพรรษา เมื่อออกพรรษาก็ลดการดื่มลงและดื่มอย่างมีสติมากขึ้น


หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวัฒนธรรมอย่างบ้านโป่งเทวี หมู่ 2 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชุมชนพยายาม ขับเคลื่อนการ "ลด-ละ-เลิก" เครื่องดื่ม มึนเมาอย่างจริงจัง ล่าสุดเพิ่งจัดพิธีปฏิญาณตนเลิกเหล้าเข้าพรรษา ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำความดีในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาแล้ว ยังได้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ทั้ง 2 พระองค์ด้วย


พรพรรณ ทาวงค์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งเทวี เล่าว่า ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ คือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน "ยิ่งเป็นวันสำคัญ มีงานบุญงานประเพณีก็ต้องเลี้ยงฉลอง" ทำให้การดำเนินโครงการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก "คนที่ดื่มจะบอกว่าไม่ติดเหล้า" แค่ดื่มเพื่อการสังสรรค์ หรือดื่มเพื่อผ่อนคลายเท่านั้น แต่หากการดื่มติดกันถี่ๆ หรือดื่มในปริมาณมากเกินไป ย่อมมีโทษต่อร่างกาย และบางครั้งก็ควบคุมอารมณ์ จิตใจไม่ได้ เกิดความคึกคะนองเกินเหตุ


ซึ่งในช่วงแรกชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำโครงการนี้ แต่พอชี้แจงให้เห็นว่า "การลดเหล้าคือการลดภาระค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศพที่เจ้าภาพ ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า "และยังช่วยลด ภาวะเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพ" ลดผลกระทบ ที่เกิดกับครอบครัวของผู้ดื่มสุรา ส่วนงานบุญ งานประเพณี บางครั้งก็มีดนตรี รำวง การเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ย่อมมีอยู่บ้าง หากกติกาของหมู่บ้านไม่ให้เลี้ยงภายในวัด และพยายามขอความร่วมมือไม่ให้เลี้ยงในปริมาณมากเกินไป ชาวบ้านก็เข้าใจ เหลือบางคนที่ไม่ตระหนัก ยังคงดื่มเป็นปกติ


"มีตัวอย่างให้เห็นคืออดีตกำนันที่เป็นคนในหมู่บ้านโป่งเทวี เป็นบุคคลกว้างขวางมีเพื่อนฝูงมาก เมื่อออกงานสังคม หรือมีเพื่อนแวะเวียนมาหาก็จะดื่มสังสรรค์กันเป็นประจำ จ่ายเงินเลี้ยงเหล้าเพื่อนครั้งละ ร่วมพันบาท วันหนึ่งจากที่เป็นคนแข็งแรงก็ล้มด้วยโรคเส้นเลือด ในสมองตีบ กลายเป็นอัมพฤกษ์ ต้องทำกายภาพบำบัด จึงค่อยฟื้นฟูร่างกายได้ แต่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านเริ่มตื่นตระหนก และรู้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือภัยเงียบต่อสุขภาพ และในการตรวจสุขภาพทั่วไปอาจ ไม่พบปัญหา มักจะมีอาการปุบปับ" พรพรรณ กล่าว


ผช.ผญบ.บ้านโป่งเทวี กล่าวอีกว่า ในหมู่ 2 มีประชากร 942 คน เมื่อรวมกับหมู่ 5 จะมีทั้งหมดราว 2,000 คนเศษ เมื่อสำรวจก็พบว่า "มีคนที่ติดเหล้าไม่ถึง 10 คน นอกเหนือจากนั้นคือคนที่ดื่มเพื่อสังคม" หรือดื่มแบบ นานๆ ครั้ง โดยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนลด ละ เลิกเหล้า จึงไม่ใช่เพียงกระตุ้นจิตสำนึกให้ตระหนักถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพให้พวกเขาด้วย พยายามศึกษาแต่ละคน ที่มีวิถีชีวิต ต่างกัน ทำไมเขาต้องดื่มเหล้า สาเหตุมาจากอะไร แล้วค่อยๆ ดึงเข้ามาเรียนรู้ ร่วมงานกับคนในชุมชนให้มากขึ้น


ขณะที่ ถนอม วงค์รักษาศิลป์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งเทวี ระบุว่า เมื่อก่อนในหมู่บ้านจะมีเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้องตลอด งานบุญ งานบวช "แห่นาคเข้าวัดก็แห่ไปดื่มไปด้วย" แม้กระทั่งการ ไปทำไร่ไถนา ก็มีเลี้ยงผีด้วยเหล้าไหไก่คู่ แล้วลงเอยด้วยการดื่มเหล้าในช่วงหยุดพัก อ้างคลายอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ หรือเพิ่มพลังหลังจากเหนื่อยล้ากับการงานมาทั้งวัน ทำให้มองเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น "เด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียนหลังจากผู้ปกครองดื่มจนมึนเมาแล้วประสบอุบัติเหตุ" ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้


'ลดเหล้า'เท่ากับ'ลดเรื่องร้าย'ตัวอย่างจาก'ชุมชนบ้านโป่งเทวี' thaihealth


"ทางอำเภอและหน่วยงานราชการต่างๆ เน้นย้ำให้ทุกชุมชนในพื้นที่เมาไม่ขับ จึงปรึกษาแกนนำในหมู่บ้าน และด้วยความที่หมู่ 2 กับหมู่ 5 เดิมเคยเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ปัจจุบันแม้จะแยกออกไปแต่ยังคงความเป็นเครือญาติ ใช้วัด โรงเรียน สุสาน รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เมื่อมีปัญหาก็จะร่วมกันหาทางออก ดังนั้นเมื่อหมู่ 2 เริ่มขับเคลื่อนทำโครงการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ งานประเพณี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทางหมู่ 5 ก็ร่วมทำกิจกรรมแบบปริยาย"ผู้ใหญ่ถนอม กล่าว


หลังการประชุมของชุมชนที่มีทั้งชาวบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) วัดและโรงเรียน ต่างเห็นตรงกันว่าชุมชนบ้านโป่งเทวีต้อง ลด ละ เลิกเครื่องดื่มมึนเมาให้ได้ เพราะที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีแขกมาเยือน อยู่เสมอ ถ้าคนในชุมชนยังดื่มเหล้าเมายา คนภายนอกมาเห็นเข้าย่อมถือเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจว่าชุมชนในฐานะเจ้าบ้านจะช่วยดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างไร


ผู้ใหญ่ถนอมเปิดเผยว่า หลังดำเนินโครงการ "คนที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อแม่เพราะไม่มีเงินไปซื้อเหล้า หรือการทะเลาะระหว่างคนในครอบครัวเมื่อพ่อบ้านดื่มเหล้าลดลง" ครอบครัวที่สมาชิกลดละเลิกเหล้ามีความสุข เสียงหัวเราะพูดคุย เย้าแหย่เข้ามาแทนที่เสียงทะเลาะวิวาท หรือในงานต่างๆ เช่น "ในงานศพ เดิมคน ที่ดื่มเหล้าก็จะตั้งหน้าตั้งตาดื่มเป็นหลัก ไม่ค่อยช่วยเหลืองานการใดๆ" พอตกลง กันว่าไม่เลี้ยงเหล้า เหมือนได้แรงคนทำงานเพิ่ม ซึ่งงานศพแต่ละครั้งค่า ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น เมื่อเจ้าภาพไม่ต้องเลี้ยงเหล้าย่อมประหยัดรายจ่ายได้มากพอสมควร


"แกนนำและคนในชุมชนยังไม่วางใจ คอยช่วยกันสอดส่องคนที่ลดละเลิกเหล้าในชุมชน ถ้าหันกลับไปดื่มอย่างหนักอีกก็จะมีการลงโทษโดยมีกติกาของหมู่บ้านรองรับ อาทิ การไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของโครงการ ต่างๆ ในหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งสมาชิก ฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งแม้ตอนนี้จะยังเลิกไม่ได้ 100% แต่ความพยายามในการลด ละ จะนำไปสู่การเลิก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้า" ผญบ.บ้านโป่งเทวี กล่าวย้ำ


ด้วยเห็นว่า "ลดเครื่องดื่มมึนเมาเท่ากับลดทุกอย่าง" ไม่ว่าจะลดการทะเลาะวิวาท ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ลดอุบัติเหตุ วันนี้ชาวชุมชนบ้านโป่งเทวี ยังเตรียมขยายผลสู่โครงการ "ลด-ละ-เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญและกิจกรรมทางการเกษตร" เพราะชาวบ้านที่นี่กว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นอีกระยะของ "โรดแมป" ทำให้บ้านโป่งเทวีเป็นชุมชนปลอดเหล้า ในท้ายที่สุด


สำหรับเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2561 เริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษา 28 ก.ค. ถึงวันออกพรรษา 24 ต.ค. ขออวยพรให้ทุกคนที่ตั้งใจงดเหล้า "ให้ตับได้พักบ้าง" ตลอด 3 เดือนนี้ ประสบความสำเร็จ และขอให้ต่อยอดไปถึงขั้น "ลด-ละ-เลิก" ได้ตลอดทั้งปีและตลอดไป

Shares:
QR Code :
QR Code