ลดเสี่ยงบนถนนด้วยกลไกแนวราบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ลดเสี่ยงบนถนนด้วยกลไกแนวราบ thaihealth


แฟ้มภาพ


คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าไหร่นักกับยอดตัวเลขความสูญเสียบน ท้องถนนที่ต้องมานั่งตามลุ้นกันทุกเทศกาล เมื่อทุกอย่างสามารถจัดการ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้


หากย้อนกลับไปดูยอดผู้เสียชีวิตบนถนนเมื่อปี พ.ศ.2559 จะพบว่า การเดินทางในวันนี้ของคนเรานั้นทั้ง "น่ากลัว"  และ "ใกล้ตัว" กว่าที่คิด เพราะความตาย ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเมื่อปีที่ผ่านมานั้น มีทั้งสิ้น 22,356 คน หรือเฉลี่ยเรามีคนตายบนถนนราว 62 คนต่อวัน


ตัวเลขนี้คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 คนต่อแสนประชากร โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย และกลุ่มอายุ  15-29 ปีเป็นช่วงอายุที่เสียชีวิตมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนอีกไม่ต่ำกว่า  5,000 คนต้องพิการเมื่อเกิดเหตุขึ้น


ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย เมื่อรายงานของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตการเสียชีวิต ของคนไทยก็ระบุเอาไว้เหมือนกันว่า ถนนเป็นความเสี่ยง 1 ใน 5 ที่ทำให้คนไทย เสียชีวิตมากที่สุดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา


ลดเสี่ยงบนถนนด้วยกลไกแนวราบ thaihealth


ในการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข ของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการปฐมนิเทศเพื่อการศึกษาดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต ถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัย บนท้องถนน ถือเป็นหนึ่งในวาระระดับโลก โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ประเทศสมาชิกลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศไทย ก็รับมาดำเนินงานเป็นวาระแห่งชาติ


"สิ่งที่น่าห่วงคือ ในทุกวันจะมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และมี 25 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข และความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า  2 แสนล้านบาทต่อปี"


ที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับ  2 ของโลกเรื่องการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แต่ถึงอย่างนั้น คำว่า "อุบัติเหตุจราจร" แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเพราะดวงไม่ดี หรือชะตาถึงฆาต แต่สามารถลดความเสี่ยงกระทั่งป้องกันเหตุสุดวิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างขับขี่บนท้องถนนได้


"จากการสำรวจพบว่า คนไทย 1 ใน 3 ยอมรับว่าเคยดื่มแล้วขับในปีที่ผ่านมา"  นี่เป็นชุดข้อมูลสำคัญอีกเรื่องที่สะท้อนถึง สาเหตุการเกิดความเสี่ยงบนท้องถนนสำหรับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ลดเสี่ยงบนถนนด้วยกลไกแนวราบ thaihealth


นอกจากการมีคนเมาอยู่บนท้องถนน เหตุความสูญเสียบนการจราจรยังถูกทับถมด้วยปริมาณพาหนะที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งทุกวันมีรถออกใหม่ 2,300 กว่าคัน จดทะเบียนตอนนี้กว่า 35 ล้านคัน ขณะที่เครื่องตรวจวัด ความเร็วมีเพียง 1-2 เครื่องต่อจังหวัดเท่านั้น นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ ผู้จัดการ สสส.คนเดิม อยากให้ดูระบบการจัดการเพื่อลดความสูญเสียของ จ.ภูเก็ต ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยบนถนน


"ภูเก็ต เคยติดอันดับมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นลำดับ 1 ใน 5 ของประเทศเมื่อปี 2540-2549 ด้วยการทำงานที่เข้มแข็ง โดย สสส. สนับสนุนการทำงานผ่าน คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด หรือ สอจร. มีทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจร ทำให้วิเคราะห์และแก้ไขได้ตรงเป้าหมายชัดเจน และทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต สามารถลดอัตรา การตายเกือบ ร้อยละ 50"  ดร.สุปรีดาบอก


ในท้องถิ่นที่สำคัญอีกจุดก็คือ การสร้างวงเวียนสุรินทร์-นริศรทำให้การบาดเจ็บบริเวณทางแยก ลดจาก 17-36 รายระหว่างปี 2556-2559 เหลือ 0 ในปี 2560 และการแก้ไขจุดเสี่ยง 16 จุด ทำให้ยอดการบาดเจ็บ ที่จุดแก้ไขลดลง 57 ราย เสียชีวิตลดลง  8 ราย ระหว่างปี 2558-2559 นี่เป็นส่วนหนึ่ง ของการ "แก้ไขจุดเสี่ยง" โดยอาศัยฐานข้อมูลร่วมกัน และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ทำให้ภูเก็ตได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Awards ด้านความปลอดภัยทางถนนเมื่อปี 2558


อีกส่วนที่สำคัญก็คือ การดูแลภายหลังจากเกิดเหตุแล้ว เพราะความสูญเสียกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มักเกิดขึ้น ณ จุดเกิดเหตุ ระบบ หน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่ร่วมกันทั้งหน่วยพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินที่ รพ.วชิระภูเก็ต จึงพัฒนาระบบมาเพื่อ แก้ปัญหานี้


ลดเสี่ยงบนถนนด้วยกลไกแนวราบ thaihealth


ศูนย์รับแจ้งเหตุนี้จะรับเรื่องเหตุฉุกเฉินทั้งอุบัติเหตุ และไม่ใช่อุบัติเหตุผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ในการสอบถามเหตุการณ์ ตำแหน่งที่เกิดและประเมินความรุนแรงเพื่อประสานรถพยาบาลในจุดที่ใกล้ที่สุดเข้าไปรับผู้ป่วย ซึ่งในรถพยาบาลทุกคัน จะมีการติดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อให้ประเมินได้ว่าอีกกี่นาทีจะถึงสถานพยาบาล


นอกจากนั้น ยังมีการนำเอาระบบ เทเลเมดิซีน(Telemedicine) มาใช้ โดยแพทย์ จะสามารถเห็นภาพผู้ป่วย เสียงจากภายในรถพยาบาล สัญญาณชีพ และข้อมูลอื่นๆ  ที่จำเป็นช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอาการ ผู้ป่วยได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล ทำให้สามารถเตรียมพร้อมในให้การรักษาผู้ป่วย ได้ทันทีเมื่อรถพยาบาลเดินทางถึงโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าระบบเครือข่ายจะแข็งแรงสักเพียงไหน หรือกลไกการทำงานจะละเอียดสักเท่าไหร่ ก็ยังไม่สู้กับการเอาใจใส่เบื้องต้นจากตัวผู้ขับขี่ยวดยานบนท้องถนนเอง เพราะที่สุดแล้ว เหตุการณ์บาดเจ็บ 100 เหตุการณ์ มักมาจากตัวคน 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งแวดล้อม และถนนอีก 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


สิ่งที่น่าห่วงคือ ในทุกวันจะมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และ มี 25 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการ จากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต

Shares:
QR Code :
QR Code