ลดอุบัติเหตุบนถนน ภารกิจนี้ยังไม่ปิดจ๊อบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
เทศกาลปีใหม่ไทยผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่ติดตามเทศกาลต่างๆ มาตลอดทุกปีคือ "อุบัติเหตุบนท้องถนน" ส่งผลให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ออกมารณรงค์ในเรื่องของการขับขี่เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนหวังลดอุบัติเหตุให้น้อยลง
ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยตัวเลขเสียชีวิตจากข้อมูลใบมรณบัตรเฉลี่ย 14,000-15,000 คนต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 หรือเฉลี่ย 20,000 รายต่อปี นับเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 5 แสนล้านบาท
ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 13 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ภายใต้หัวข้อลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน ระดมสมองป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน หลังพบอุบัติเหตุคร่าชีวิตปีละกว่า 20,000 ราย
งานนี้จัดขึ้นจากความร่วมมือของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สนับสนุน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรมูลนิธิ
นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนัก เพราะทราบดีว่าแต่ละปีคนไทยกว่า 14,000 คน ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และอีกกว่า 5,000 ราย ต้องพิการ ซึ่งเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมตามมาปีละ 2 แสนล้าน ทางรัฐบาลเน้นย้ำให้ป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ 4 ห้าม 2 ต้อง ได้แก่ ห้ามขับเร็ว ห้ามดื่มเมาขับ ห้ามง่วงขับ ห้ามโทร.ขับ และต้องคาดเข็มขัด ต้องสวมหมวกนิรภัยเมื่อขี่จักรยานยนต์
สำหรับการสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 13 เพื่อเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องการลงทุนผ่านเสาหลักต่างๆ และสอดคล้องกับทิศทาง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งเน้นให้ทุกประเทศเพิ่มความเข้มแข็งของระบบบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายและที่สำคัญคือมีแนวทางและแผนงานในการลงทุน
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืนว่า การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 8-10 ปี ข้างหน้า จะมีมูลค่าสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ช่วง 20 ปีย้อนหลัง เราไม่ได้ลงทุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเลย โครงสร้างพื้นฐานสุดท้ายที่เห็นเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็คือสนามบินสุวรรณภูมิ ฉะนั้นเมื่อไม่ได้ลงทุนตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหารถติด โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ระบบการเชื่อมต่อของคมนาคมก็ไม่เชื่อมต่ออย่างสนิท อีกด้านหนึ่งคือการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ
สำหรับการลงทุนมี 2 ประเภท 1.การลงทุนที่ใช้เงิน คือแล้วแต่การจัดสรรว่าจะนำเงินจากรัฐหรือเอกชน มาลงทุนเพื่อสร้างสิ่งที่ถาวร 2.การลงทุนที่ไม่ใช้เงิน คือ จิตสำนึกและการศึกษา แน่นอนว่าการศึกษาต้องใช้เงิน แต่จิตสำนึกมันจะถูกปลูกฝังในเรื่องระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ต้องมองทั้ง 2 ด้าน นอกจากเรื่องของการลงทุนที่เราอยากเห็นความสะดวกสบายแล้ว ต้องมองในเรื่องของการลงทุนที่ไม่เคยเห็น คือการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย การสร้างตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่ามันต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
4 ประเด็นสำคัญในหัวข้อที่ต้องการนำเสนอ นายอาคมกล่าวว่า 1.ความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องของระบบการขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องการการลงทุนในด้านก่อสร้าง ปัจจุบันนี้ในกรุงเทพฯ มี 2 ปัญหา คือ ปัญหารถติดกับปัญหาอุบัติเหตุ โดยอุบัติเหตุเกิดจากรถหลายประเภท เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนให้กลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้ได้ คือปรับพฤติกรรมการเดินทางให้มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น
"ในแคมเปญช่วงเทศกาลต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ย้ำอยู่ตลอดเวลาก็คือขอความร่วมมือให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ลดการขับรถออกต่างจังหวัด เพราะระบบขนส่งสาธารณะมีการคุมเข้ม ตั้งแต่เรื่องของการตรวจวัดแอลกอฮอล์ สารเสพติด ตรวจเช็กประวัติคนขับรถ ชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งตรวจเช็กในเรื่องของสภาพความพร้อมของรถยนต์ นอกจากนี้ รถสาธารณะถูกบังคับใช้ในเรื่องของการใช้จีพีเอสหมดแล้ว" รมว.คมนาคมกล่าว
2.เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ถนนที่ตัดใหม่หรือขยาย รวมทั้งซ่อมบำรุง ต้องประเมินแนวคิดในเรื่องของการออกแบบ ต้องมีดีไซน์ในเรื่องของถนน อีกปัญหาที่พบคือเรื่องน้ำท่วม เพราะฉะนั้นต้องออกแบบให้ครบถ้วน ทั้งในเรื่องของมาตรการความปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ โครงการใหม่จะต้องมาพร้อมกับมาตรการความปลอดภัย จุดที่เกิดอุบัติเหตุต้องเสริมในเรื่องป้ายเตือนต่างๆ
3.การปลูกจิตสำนึก โดยรณรงค์ตามปกติจะรณรงค์ 2 ครั้งต่อปีในช่วงเทศกาล แต่จริงๆ แล้วการรณรงค์จะต้องทำทั้งปี กวดขันวินัยการจราจรให้ทั่วถึง
4.การบังคับใช้กฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เคยมีเรื่องหนึ่งที่บังคับสวมหมวกกันน็อกในการใช้จักรยานยนต์ ประมาณสัก 20 ปีที่แล้ว ซึ่งมันได้ผล ในวันนี้ทำให้เราต้องทำอีก อยากฝากทิ้งท้ายว่า การรณรงค์ควรต้องทำต่อเนื่อง
ภายในงานยังมีภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดบูธนิทรรศการเสริมสร้างแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งมีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน เข้าร่วมกว่า 1,500 คน และร่วมรับทราบทิศทางนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานหลัก พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน