ลดพุงลดโรค ต่อยอดภารกิจพิชิตอ้วน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ขอนแก่น ต่อยอดภารกิจพิชิตอ้วนส่งเสริมสุขภาพ ผ่านกิจกรรมลดพุง ลดโรค
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมพงษ์ จิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และนางจินตนา ศรีธรรมมา หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ และบุคลากร สสจ.ขก. ได้จัดกิจกรรมตรวจประเมินภาวะสุขภาพผู้บริหารจังหวัดขอนแก่น ในเวทีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดขอนแก่น ตามโครงการลดพุง ลดโรค ประจำปี 2559 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารและผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก โดยมีนิทรรศการ "ลดพุง ลดโรค" แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่
1. Fat Check Station โซนนี้จะแนะนำให้รู้จักโรคอ้วนลงพุง และวิธีการเช็กตนเองอย่างง่าย ๆ ด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดรอบเอว
2. You are What You Eat มาสำรวจพฤติกรรมการกินในชีวิตประจำวัน เรียนรู้วิธีการอ่านฉลากโภชนาการ และรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น กับร่างกายจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (ทัวร์อวัยวะ)
3. Fit Fight Fat แนะนำทางรอดจากโรคอ้วนลงพุง ด้วยหลัก 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ การแนะนำการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นลดหวาน มัน เค็ม และการกินถูกส่วน 2:1:1 เพิ่มผัก/ผลไม้ และการแนะนำรูปแบบการออกกำลังกายที่หลากหลาย
ด้าน นายสมพงษ์ จิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากสถิติพบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบปี 2547 และปี 2552 พบว่าผู้ที่มีภาวะอ้วน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.7 เป็นร้อยละ 34.7 ส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 26.1 เป็นร้อยละ 32.1 และหากย้อนดูข้อมูลของประเทศไทยในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีคนอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า นอกจากนี้ในกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-12 ปี มีภาวะอ้วนถึงร้อยละ 12.6 และมีพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลสูงถึง 10 ช้อนชา/วัน ดังนั้น การลดภาวะอ้วน และน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์และเป้าหมายสำคัญในการทำงานของ สสส.
"ค่านิยมในการบริโภคและวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปได้รับอิทธิพลจากตะวันตกตามกระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารโปรตีน อาหารรสหวาน อาหารเค็มและไขมันสูงที่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ล้วนๆ อาหารรสจัด เช่น มันจัด หวานจัด เค็มจัด กินผักและผลไม้น้อย เดินน้อยลงขาดการออกกำลังกายโดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กจนถึงคนวัยสูงอายุ ทำให้พลังงานในร่างกายไม่สมดุลกันระหว่างการได้รับเข้ามากับการใช้ไป ร่างกายจึงเปลี่ยนพลังงานที่เหลือใช้กลับไปเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในถุงน้ำดี และมะเร็ง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง จึงควรมีการปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อให้มีการใช้พลังงานให้สมดุลกัน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง การจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ พิชิตอ้วน พิชิตพุง เพื่อให้มีการปรับพฤติกรรมการบริโภคและพฤติกรรมการออกกำลังกายในการควบคุมภาวะน้ำหนักเกินที่ถูกต้อง เน้นที่การปฏิบัติโดยส่งเสริมให้ประชากรที่ศึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ตลอดไป ซึ่งโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ ว่าผลสำเร็จของการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายเกิดผลลัพธ์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว และลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ" นายสมพงษ์ สสจ.ขอนแก่น กล่าว.