ลดปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง

สร้างพัฒนาการเด็ก

 

          เด็กจะดีหรือร้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัว ยิ่งปัจจุบันอัตราของการหย่าร้างของพ่อแม่มีสูง ผลกระทบย่อมตกมาที่ลูกเป็นธรรมดา

 

         

          โดยเฉพาะประเด็นหลักจะเป็นเรื่องขาดความรักความอบอุ่นและคนให้คำปรึกษา ผลที่ตามมาเป็นห่วงโซ่ ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้องออกไปหาสิ่งที่ขาดหายเพื่อเติมเต็มสิ่งเหล่านั้น ถูกบ้าง ผิดบ้าง และนำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย อย่างเช่น การใช้ความรุนแรง ขณะที่ภาครัฐที่พยายามจะเข้ามาแก้ไข แต่ก็ดำเนินการที่ปลายเหตุโดยปราศจากความเข้าใจ

 

          ทั้งที่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความเชื่อที่ผิดๆ ทั้งสิ้นของพ่อ แม่ ผู้ปกครองในการเลี้ยงเด็ก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวของผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหานี้ และมองว่าการระงับปัญหาในครอบครัว ต้องเริ่มที่การให้คำปรึกษาและความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อเจอวิกฤตชีวิต เป็นที่มาของ “มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว”

 

          วันชัย บุญประชา” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า มูลนิธิเกิดจากการรวมตัวในปี 2542 เพราะกระแสปฏิรูปการศึกษา จึงมีการจัดเวทีผู้ปกครองในโรงเรียนต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกันในเรื่องการศึกษาของลูก พร้อมพูดคุยเรื่องครอบครัวและปัญหาลูกหลาน ต่อมาจึงตั้งชมรมผู้ปกครองพ่อแม่ขึ้นมาและพัฒนามาเรื่อยๆ

 

          พอปี 2543 ได้จดทะเบียนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวขึ้นมา วัตถุประสงค์เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูก การดูแลสมาชิกในครอบครัว ในกรณีพบปัญหามีความทุกข์อย่างไร เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาพร้อมนำไปเป็นความรู้แก่ครอบครัวอื่นๆ

 

          พอเรามีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จึงเกิดทักษะในการดูแลบุตร สมาชิกและดูแลความสัมพันธ์ระ หว่างสามีภรรยา แต่พอดำเนินการจริง กลับพบว่าปัญหาไม่ได้มีแต่เฉพาะครอบครัว ยังมีหลายเรื่องที่ไม่สามารถจัดการได้ จึงมีการรวมกลุ่มไปเรียกร้องหรือบอกกล่าวให้สังคมและผู้มีอำนาจรัฐเข้ามาดูแล”

 

          ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว” กล่าวว่า ช่วงแรกจะเน้นเรื่องระบบการศึกษาของลูก และช่วงหลังจะเพิ่มการดูแลเรื่องสื่อที่สร้างผลกระทบ โดยเฉพาะจากโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เกมต่างๆ

 

          สำคัญที่สุดคือเรื่องสวัสดิการให้แก่ครอบครัวที่เลี้ยงเดี่ยว เกิดจากการหย่าร้าง และครอบครัวที่ลูกเกิดมาพิการต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ ที่ผ่านมารัฐจะมองเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องปัจเจก พุ่งเป้าไปที่เด็ก คนแก่ ผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว โดยไม่สร้างความแข็งแรงให้แก่ครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลคนกลุ่มนี้”

 

          วันชัย บอกว่า สมัยนี้ปัญหาครอบครัวเข้ามามากและเพิ่มปริมาณมากที่สุดคือ สัมพันธภาพของครอบครัว ปัจจุบันอัตราการหย่าร้างของพ่อแม่สูงมาก แนวโน้มครอบครัวไทยก็จะเป็นลักษณะนี้สูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเด็กขาดพ่อ ขาดแม่

      

          เด็กจะมีความรู้สึกขาดความรัก รวมทั้งพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ เพราะเขาจะรู้สึกว่าความรักที่เคยได้รับมันขาดหายไป เวลาขาดคนใดคนหนึ่งไปจะรู้สึกว่าตัวเองขาดรัก และอาจทำให้เกิดปัญหาเชิงพฤติกรรมตามมา จะเรียกร้องจะโหยหาความรัก”

 

          หากพ่อหรือแม่ที่ดูแลไม่สนองสิ่งเหล่านี้ได้ เด็กจะออกไปหาข้างนอก หากเจอสังคมที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดเรื่องเลวร้าย สอดคล้องกับสถิติจากสถานพินิจเด็กและเยาวชนที่ควบคุมเด็กที่กระทำความผิด พบว่าประมาณกึ่งหนึ่งมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน”

 

          วันชัย” กล่าวและว่า ปัญหาดังกล่าวของพ่อแม่มาจากเรื่องนอกใจถึงร้อยละ 80 และส่วนใหญ่มาจากฝ่ายชายที่ไปติดหญิงอื่น และภรรยาก็ทนไม่ได้ นำมาซึ่งการทะเลาะ เลิกกันตามมา ขณะที่ความไม่เข้าใจของสามีภรรยาก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น

 

          แนวทางแก้ไขต้องสร้างความสัมพันธ์ของพ่อแม่ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงจะแต่งงานต้องศึกษากันให้ดี และตกลงว่าจะเป็นผัวเมียคู่เดียว

 

          หากเกิดวิกฤตในครอบครัวอยากให้ทุกคนมีสติ กลับมาทบทวนว่าเราจะแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกันอย่างไร ปกติหากในครอบครัวที่มีผู้ใหญ่ อย่างเช่น พ่อตา แม่ยายอยู่ด้วย ก็จะช่วยตักเตือนให้กลับมาดูแลซึ่งกันและกันได้

 

          รัฐยังสามารถช่วยได้อีกทาง หากพบว่าคู่ไหนมีเรื่องบาดหมาง มีความขัดแย้ง ต้องมีศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว จะเป็นโทรศัพท์สายตรงให้คำปรึกษา หรือมีเจ้าหน้าที่พร้อมจะให้คำชี้แนะ หรือมีผู้ที่สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ย หรือสร้างกิจกรรมในครอบครัว ในต่างประเทศเขาก็ทำเรื่องนี้ แต่เมืองไทยไม่สนใจเรื่องพวกนี้”

 

          ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ปัญหาอีกประการคือ พบพ่อแม่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นที่มีลูกโดยตัวเองยังเป็นผู้เยาว์ หรืออายุต่ำกว่า 20 ปี โดยพฤติกรรมไปคลอดลูกในโรงพยาบาลสูงขึ้นทุกปี และจากสถิติถือว่าประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก

 

          ผลที่ตามมาเนื่องจากพ่อแม่ยังเป็นเยาวชนอยู่จะไม่มีความพร้อมในการดูแลลูก ขณะที่ตัวเองก็ไม่มีการศึกษาในเรื่องครอบครัว การคุมกำเนิด การดูแลตัวเอง ขณะที่กระแสสังคมปล่อยให้เด็กได้รับอิสระเพิ่มมากขึ้น การที่เขาไปมีเพศสัมพันธ์ก็จะทำให้มีลูกสูงขึ้นตามมา และปัญหาที่ตามมาคือทักษะในการดูแลลูกก็จะน้อยลงตามไปด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ

 

          มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกำลังเดินหน้าผลักดันเรื่องสวัสดิการให้แก่ครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวพ่อแม่วัยรุ่น หรือมีลูกพิการ เพราะพวกเขาต้องการงบประมาณไปเกื้อหนุนทำให้ดูแลครอบครัวได้

 

          โดยสิ่งที่เขาต้องการคือ การประกันรายได้ให้ครอบครัวอยู่รอด ประกันเรื่องการศึกษาของลูก เช่น เมื่อลูกเกิดมาเป็นเด็กพิเศษ ทำอย่างไรจะได้รับการศึกษาและเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ และรับการกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้ได้หรือไม่ รวมทั้งยังมีเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวว่าจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงหรือไม่

 

          สิ่งที่พวกเขาอยากได้ที่สุด แต่ภาครัฐยังไม่เคยคิดคือ การประกันการเรียนรู้ในการดูแลครอบครัว เช่น ศูนย์การเรียนรู้และคำปรึกษาแก่ครอบครัวขึ้นครอบคลุมไปถึงตำบลทุกอำเภอ โดยมูลนิธิต้องพยายามไปผลักดันเรื่องนี้กับรัฐบาลให้ได้ โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยในการจัดงานสมัชชาครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ลงมารับข้อเสนอไปแล้ว”

 

          ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว” ยอมรับว่า ขณะนี้หน่วยงานที่ทำเรื่องครอบครัวมีจำนวนน้อยมากมีเพียง 2-3 แห่งในกรุงเทพฯ ถือว่าไม่เพียงพอ เพราะไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือบางพื้นที่แทบจะไม่มีเลย เพราะส่วนใหญ่มูลนิธิต่างๆ จะทำเรื่องเด็กเท่านั้น    อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่ดูแลครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนโดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณให้คล่องตัวมากกว่านี้ ขณะที่ประชาชนภาคพลเรือนมีความพร้อมรวมกลุ่มแล้ว แต่ปัญหาคือไม่สามารถหารายได้งบประมาณ พัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมได้ เพราะขาดผู้ให้การสนับสนุน ให้การดูแล และให้โอกาสพวกเขา

 

          “3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดูแลงานสุขภาวะครอบครัว จะเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องครอบครัวในโรงเรียนในชุมชนต่างๆ ตอนนี้มีการขยายผลได้มาก มีชุมชนประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศก็ทำเรื่องนี้ ทำให้เกิดเครือข่ายผู้ปกครองมากขึ้นตามไปด้วยเพื่อดูแลกันเอง และสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา”

 

          วันชัย” ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหานักเรียนนักเลงตีกันว่า การที่นักเรียนใช้ความรุนแรง บทสรุปมาจากพัฒนาการของเด็กที่เป็นวัยรุ่นต้องการความท้าทาย รวมถึงการเลี้ยงดูของครอบครัวไม่ดี และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเรื่องทะเลาะวิวาท โดยเฉพาะรุ่นพี่รุ่นน้องปลูกฝังกันมา

 

          การดูแลต้องครอบคลุมเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้แก้ปัญหาได้คือ ส่งเสริมพฤติกรรมทางบวก เช่น กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้มากๆ ให้เขาเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม ต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาช่วยให้สภาพแวดล้อมให้เป็นโรงเรียนที่ดี ไม่ใช่เกเร และการเลี้ยงดูและสร้างความรักกันในครอบครัวให้สมบูรณ์ สื่อสารความรู้สึกที่ดีให้มากขึ้นระหว่างพ่อ แม่ ลูก พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายครอบครัวในโรงเรียนด้วย

 

          หากทำตามนี้ได้ ไม่เพียงแก้ปัญหาความรุนแรงได้ จะทำให้เด็กดีเพิ่มมากขึ้น ทำประโยชน์ให้แก่สังคมอีกด้วย “ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว” กล่าวทิ้งท้าย

 

 

       

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

 

 

update : 18-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code