ลดปัญหาจมน้ำตายของเด็กไทย ด้วยบทเรียนโมเดลโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
การจมน้ำตายในเด็กเป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในเวทีประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริม
ความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13 th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเพิ่งปิดฉากลงไป เนื่องจากการจมน้ำกำลังกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 4 ของเด็กตั้งแต่อายุ 5-19 ปี ทั่วโลก
"การจมน้ำตายเป็นสาเหตุการตายลำดับต้นๆ ของเด็กทั่วโลกถึง 360,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง เพื่อลดอัตราการตายจากการจมน้ำของเด็ก ตามแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 เราทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันภัยเงียบดังกล่าว"
จัสติน สการ์ (Justin Scarr) ประธาน Royal Lifesaving Association กล่าว พร้อมเล่าถึงประสบการณ์ทำงานด้านการป้องกันการจมน้ำในเด็กของออสเตรเลียในเวทีอภิปรายหลักในหัวข้อ ความสำเร็จด้านการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ การจมน้ำ ผลกระทบ การเติบโต และปัญหาที่เพิ่มขึ้นว่า แม้ปัญหาการจมน้ำเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ง่ายๆ ก็ตาม แต่การจมน้ำตายในเด็กถือเป็นภัยเงียบที่สังคมเพิกเฉยและไม่ค่อยได้รับการรายงาน ดังนั้นจึงจำเป็น ต้องทำงานกับหลายภาคส่วน เพื่อให้เด็กได้รับการสอนให้ว่ายน้ำซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีความพร้อมของอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างเสื้อชูชีพ
ซึ่งการผลักดันมติสหประชาชาติเรื่องการป้องกันการจมน้ำเมื่อปี 2560 นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของฝ่ายการเมืองจากทุกภูมิภาคทั่วโลกที่จะร่วมมือกันลดการเสียชีวิตจาก "การจมน้ำ" ในเด็กให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม หากสำเร็จจะเป็นมติประวัติศาสตร์เพราะสหประชาชาติไม่เคยมีมติโดยตรงเกี่ยวกับการจมน้ำมาก่อน
สำหรับประเทศไทย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเสียชีวิตของเด็กๆ อันดับ 1 มาจากการจมน้ำ เพราะแค่จมน้ำเกิน 4 นาที ขาดอากาศหายใจทำให้สมองตายก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเจาะลึกลงไปถึงช่วงอายุของเด็ก พบว่า กลุ่มเด็กโต (ประถม) มีสถิติจมน้ำมากกว่าเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กเล็กยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ โดยผลสำรวจการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กวัยเรียนกลุ่มอายุ 5-9 ปีในปี 2558 พบว่า มีอัตราการตาย 6 ต่อ 100,000 คน แต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 200 รายต่อเดือน สำหรับเดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเมษายนตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่ เฉลี่ย 350 ราย ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2560 พบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายในเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวนถึง 700 ราย จุดเสี่ยง คือแหล่งน้ำละแวกชุมชนใกล้บ้าน เช่น บ่อขุด สระน้ำ คลอง และแม่น้ำในชุมชน
เพื่อลดอัตราการตายในเด็ก รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า การว่ายน้ำเป็นหนึ่งใน 10 ทักษะความปลอดภัยที่เด็ก ป.1-ป.3 ควรต้องมี เด็ก ๆ ควรได้รับการฝึกฝนให้มี ทักษะความปลอดภัยทางน้ำและการวิเคราะห์ความเสี่ยงในชุมชนเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่เด็กๆ ควรต้องทำได้ภายในอายุ 6-7 ปี
"เด็กๆ ควรเรียนรู้ที่จะลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ เนื่องจากสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เด็กมักจะเล่นกันใกล้ฝั่งและพลาดตกลงไปในน้ำ แต่ไม่สามารถที่จะลอยตัวขึ้นมาเพื่อจะเข้าฝั่งได้ เพราะฉะนั้นถ้าลอยตัวได้ 3 นาที เด็กจะสามารถ ช่วยตัวเองได้ ที่สำคัญเด็กต้องรู้ว่า การกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจม น้ำนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย และยึดหลัก 3 ข้อ คือ "ตะโกน โยน ยื่น" ตะโกน ให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยน สิ่งของที่อยู่รอบตัว เช่น ถังน้ำ แกลลอน เพื่อให้เพื่อนเกาะและสามารถใช้ลอยตัวได้ ยื่น สิ่งยาวๆ ให้เพื่อนจับแล้วดึงเข้ามาใกล้ฝั่งและ จุดที่เขายืนก็ต้องมั่นคงด้วย และการใช้ ชูชีพ เพื่อการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเรือชนิดใด จะว่ายน้ำเป็นไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฝึกให้เด็ก ใส่ – ถอด ชูชีพให้ถูกวิธี หัดลอยตัวเมื่อใส่ชูชีพให้ได้"
"ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูมีส่วนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ สอนให้รู้ว่าแหล่งน้ำไหนเสี่ยง ไม่ควรไป วิ่งเล่นใกล้ๆ โดยอาจจะพาเด็กเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน และพาเขาไปดูว่าจุดไหนที่อันตราย และจุดไหนที่ปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเข้าใจในเหตุและผลได้แล้ว" ผอ. สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด สสส. และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัวฯ ได้ร่วมกันเปิด โครงการทักษะความปลอดภัยทางน้ำ Stop Drowning Start Doing โดยสนับสนุน 30 โรงเรียนนำร่องทั่วประเทศนำ 5 ทักษะทางน้ำมาถ่ายทอดให้แก่ เด็กนักเรียน ซึ่งในอนาคตหากสามารถขยายให้เรื่องของทักษะทางน้ำให้อยู่ในการเรียนการสอนทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ก็จะ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก และเชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขความสูญเสียลดลงได้