ลดทุกข์ เพิ่มสุข′ ตามหลักปรัชญาพอเพียง
ชี้ “ชุมชน” ต้องทำเอง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ได้จัดงานตลาดนัดความรู้ชุมชน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคม
นายประยงค์ รณรงค์ ครูภูมิปัญญาไทย เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชนในภาคพื้นเอเชียจะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2547 ได้ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “พลังปัญญาสู่สุขสภาวะชุมชน” ว่า เมื่อพูดถึงการสร้างสุขภาวะในชุมชน ในฐานะคนทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน ที่เน้นการนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนในชุมชน ผ่านการผสมผสานกับเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำเร็จได้ยาก หากเรามีความคิดต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มจากการสร้างสุขภาวะในตัวเองก่อนที่จะไปถึงชุมชนได้
“เพราะฉะนั้นการทำให้ความทุกข์ลดลง ส่วนหนึ่งต้องแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าทุกคนยังเดือดร้อนเรื่องการอยู่การกินการอยู่ ความสุขคงเกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกันเราจะมุ่งแต่ปากท้องไม่สนใจสังคมก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ เราต้องทำงานพัฒนาคู่ขนานกันไป คือ ต้องทำเรื่องเศรษฐกิจให้ชาวบ้านมีอยู่มีกิน และพัฒนาสังคมด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในสังคม และหากจะสร้างให้เกิดความยั่งยืนแล้ว ต้องเพิ่มเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย” นายประยงค์ กล่าว
นายประยงค์ยังกล่าวว่า หากเรานำทรัพยากรมาสร้างเศรษฐกิจอย่างเดียว จะทำให้ทรัพยากรหมดไป ฉะนั้นเราต้องพัฒนาทรัพยากรและเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและประชาชน ความสุขจะเกิดขึ้นได้เพราะทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา เห็นได้จากชุมชนเรียงไม้ อ.ฉวาง ที่พัฒนาโดยเน้นด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ด้วยการลดความทุกข์ ก็จะเพิ่มความสุขไปเอง จนทำให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนตลอดชีวิต
นอกจากนี้ นายประยงค์ได้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของระบบบริหารที่อาจไม่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ซึ่งควรนำไปสู่มาตรการประสานความร่วมมือของ “กลุ่มคนที่มีความรู้แต่ไม่มีปัญญา” กับ “กลุ่มคนที่มีปัญญาแต่ไม่มีความรู้” เข้าด้วยกัน
“ถ้าเราทำให้คนมีความรู้แต่ไม่มีปัญญามาทำงานแลกเปลี่ยนความรู้ประสานงานกับคนที่มีปัญญาแต่ไม่มีความรู้ ก็จะช่วยขับเคลื่อนงานภูมิปัญญาชุมชนได้ เพราะงั้นถ้าเร่งสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อจัดการทรัพยากรร่วมกันแล้วก็จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่องในทางเศรษฐกิจและสังคม จนทำให้เกิดเป็นชุมชนเศรษฐกิจเข้มแข็งได้จริง” นายประยงค์กล่าว
นายประยงค์กล่าวต่อไปว่า ศูนย์การเรียนรู้ควรจะมีอยู่ทุกตำบลในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องมีอาคารถาวร เพียงแค่มีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ คือ 1. ภูมิปัญญาความรู้ 2.คนอยากเรียนรู้ 3.มีผู้รู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และ 4.การจัดการความเรียนรู้อย่างเหมาะสม ก็สามารถตั้งเป็นแผนแม่บทได้ ศาลาวัดก็เป็นได้ ใต้ต้นไม้ก็เป็นได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาคารใหญ่โต และควรเป็นการทำงานของคนในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อที่พวกเขาจะได้นำความรู้ประสบการณ์มาปรับใช้จากภูมิปัญญาได้อย่างเหมาะสม แต่ที่ผ่านมาการทำแผนที่ผ่านมาแนวทางมักไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่และวิถีชีวิตในแต่ละชุมชน
“หากคนในชุมชนไม่มีความสามารถในการจัดการทรัพยากร และไปจ้างคนนอกมาจัดการทรัพยากร แล้วเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นเพียงลูกจ้าง ก็ทำให้เกิดปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในจัดการทรัพยากร และอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ “พลังปัญญา” ทำไปสู่แผนปฏิบัติการเพื่อสร้างและส่งเสริม “สุขสภาวะชุมชน” ได้จริงอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพต่อไป” นายประยงค์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 16-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร