ลดต้นทุนปลูกข้าวหอมมะลิ…ให้เกษตรกรไทย

หนีความยากจนซ้ำซาก

ลดต้นทุนปลูกข้าวหอมมะลิ…ให้เกษตรกรไทย 

               ภาคประชาสังคมอยากให้ชุมชนร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจะไม่มีทางทำสำเร็จได้ หากเรื่องนั้นไม่สามารถมาแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาความยากจน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในชุมชนดีขึ้น เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเกษตรกรจะรู้ว่าสิ่งที่ทำให้เขาเจ็บป่วยคือเรื่องของการใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลงทั้งหลาย แต่หากนั่นเป็นหนทางที่เขาคิดว่าจะทำให้เขาได้ เพิ่มผลผลิต นำไปสู่รายได้ของครอบครัวที่มากขึ้น เขาก็จะยอมเสี่ยงทำ เพราะเกษตรกรนั้นไม่มีทางให้เลือกมากนัก ทุกปีเราจะพบว่ามีเกษตรกรที่เสียชีวิตจากการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงไม่ต่ำกว่า 10 คนและอีกหลายร้อยคนเจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่มีสารพิษตกค้างในร่างกาย

 

               นอกจากนั้นยังพบว่าผู้บริโภคซึ่งเจ็บป่วยจากการบริโภคผลิตผลที่ปนเปื้อนสารเคมีและยาฆ่าแมลงมีสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นับรวมไปถึงระบบนิเวศของพื้นที่ทำการเกษตร เช่น ดินเสื่อมคุณภาพลง จนบางพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชผลได้อีกต่อไป หรือถ้าปลูกก็ได้ผลผลิตน้อย จนทำให้ ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผลผลิตกลับลดน้อยลง นี่จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย ภาวะหนี้สิน และความยากจนแบบ ซ้ำซาก เป็นแบบแผนวงจรชีวิตที่เกษตรกรไทยยากจะเอาชนะได้ เริ่มพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ภาวะวิกฤติของเกษตรกรไทยข้างต้นนั้นเกิดขึ้นในทุกที่ และเห็นผลได้ชัดเจน แม้แต่ ต.โนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ซึ่งประสบปัญหาด้านดินเค็ม ทำให้การทำนาข้าวไม่ค่อยประสบความ สำเร็จ ดังนั้นในเรื่องนี้ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงเล็งเห็นความสำคัญ ได้ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องลงไปในพื้นที่เพื่อให้แนวทางในการแก้ไขและช่วยเหลือ

 

               ทางด้านผู้ใหญ่สำราญ ธรรมมานอก ประธานเครือข่ายภูมิปัญญาไทย ต.โนนไทย เล่าให้ฟังว่า”เมื่อก่อนที่นี่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพได้ราคาดี จึงปลูกกันมาก ชาวบ้านก็ไปหักร้างถางพงที่ที่ยังเป็นพื้นที่ป่า เพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวให้มากขึ้นพอขยายออกไปป่าก็หมด ทำให้ฝนตกน้อยลง พอดีกับที่ดินตรงนี้มีความเป็นด่างสูง หรือเรียกว่า “ดินเค็ม” จึงมีเกลือผุดขึ้นมาที่หน้าดิน” เนื่องจากสภาพดินที่เป็นด่างทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และต้องใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยแม้บางคนจะไม่อยากใช้ แต่เมื่อนาแปลงใกล้เคียงฉีดยาฆ่าแมลงก็มาลงที่แปลงตนจนต้องใช้ไปด้วย บางคนไม่มีรายได้พอจะไปซื้อมาใช้ก็ต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อมาใช้ ในช่วงแรกก็ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่เมื่อใช้สารเคมียาฆ่าแมลงติดต่อกันหลายปี ทำให้ดินเสื่อมสภาพลงเป็นอย่างมาก ผลผลิตก็ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ภาวะหนี้สินกลับเพิ่มขึ้นมาแทน สภาพปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ใหญ่สำราญ ผู้ใหญ่บ้านพยายามหาทางแก้ไข “ตอนนั้นไปประชุมที่ไหนเขาก็พูดกันเรื่องปุ๋ยชีวภาพ และประโยชน์จากการทำเกษตรอินทรีย์ เราก็กลับมาคิดว่า ถ้าตำบลของเราทำแล้วจะแก้ปัญหาได้ไหมจะต้องทำอะไรบ้าง ก็พอดีกับที่สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม (sif) ได้เข้ามาทำกระบวนการแผนแม่บทชุมชน

 

               จึงนับเป็นการเริ่มต้นแบบมีส่วนร่วมในลักษณะของประชาคมตำบล ทำให้ชาวบ้านเห็นปัญหาร่วมกันและหาทางออกโดยการหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี โดยมีเกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินมาให้ความรู้ด้วย” จากการชักชวนของผู้ใหญ่ให้หลายๆ ครอบครัวทดลอง ซึ่งต้องใช้ความอดทนเพราะเห็นผลช้า แต่จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว หลายคนต้องรอคอยให้ดินที่เสื่อมสภาพปรับตัว ด้วยจิตใจที่หนักแน่น ค่อยๆ ทดลองทำ จนชาวบ้านได้ค้นพบว่าข้าวหอมมะลินั้นเป็นข้าวที่ปลูกได้ดีกับแปลงที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ และนี่คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของไม่กี่ครัวเรือนที่กล้าปรับเปลี่ยนวิถีของการทำมาหากิน เมื่อดินค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพ มีอินทรีย์วัตถุในดินมากขึ้น

 

               ชาวบ้านสามารถลดต้นทุนได้ด้วยการผลิตปุ๋ยชีวภาพได้เองและการฟื้นฟูดินด้วยวิธีต่างๆ จนในที่สุดการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ใหญ่สำราญเล่าว่า “เมื่อก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20-26 ถังต่อไร่พอเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ เป็นเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ชาวบ้านก็จะได้ข้าว 26-30 ถังต่อไร่ บางคนได้สูงถึง 55 ถังต่อไร่ ซึ่งถือว่าน่าพอใจมากๆ” จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นชาวบ้านสามารถลดหนี้สินในครัวเรือนลงได้ บางครอบครัวสามารถปลดหนี้ที่เคยมี แล้วเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบพอเพียงได้ จากนั้นสมาชิกได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายภูมิปัญญาไทย ต.โนนไทย และมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาชีพเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน โดยสร้างศูนย์เรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดวิธีการทำปุ๋ยชีวภาพ สร้างโรงผลิตปุ๋ย และการทำปุ๋ยอัดเม็ดเพื่อจำหน่ายให้กลุ่มและบุคคลภายนอกที่สนใจ ต่อมาเกิดเป็นโรงเรียนชาวนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเกษตรอำเภอ มีการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับปัญหาทางออก และวิธีการที่เป็นกลเม็ดเคล็ดลับในการทำนา ใช้พื้นที่ในท้องไร่ท้องนาของสมาชิกคน ใดคนหนึ่งเป็นห้องเรียน หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป เพื่อเป็นการเรียนรู้จากพื้นที่จริงๆ แต่การขยายแนวคิดนั้นจำกัดอยู่บางหมู่บ้านเท่านั้น ต้นปี 2547 เครือข่ายภูมิปัญญาไทย ต.โนนไทย ได้จัดทำ “โครงการลดต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ” โดยเข้าร่วมกับโครงการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อสานต่อการทำกิจกรรมดีๆ และขยายผลไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น ผลผลิตก็เพิ่ม-สุขภาพคนก็ดี ความรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพ และวิธีการทำนาแบบธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านสามารถขยายแนวความคิดและถ่ายทอดกระบวนการปลูกข้าวหอมมะลิให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถลด  รายจ่ายและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งเพิ่มรายได้แล้ว พวกเขายังนำความรู้ที่ได้จากเกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่ไปพัฒนาที่ดินเกี่ยวกับเรื่องของการตรวจวิเคราะห์ดิน

 

               เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าการปรับปรุงดิน การบำรุงดินนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อีกทั้งมีการแนะนำให้ปลูกต้นไม้ทนดินเค็ม และการปลูกหญ้าแฝกตามคันนา เพื่อช่วยให้ดินมีสภาพที่ดีอยู่เสมอ สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดชัดเจนอีกเรื่องที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ก็คือว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านมักจะเจ็บป่วยเพราะการใช้สารเคมี บางคนไปตรวจก็พบสารตกค้างในร่างกายที่ทำให้เป็นโรคอื่นๆ ตามมา เราจึงทดลองให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งพบว่าครั้งแรกมีสมาชิกที่มีสารพิษตกค้างในร่างกายในระดับที่อันตราย 3-4 คน แต่ 3 เดือน หลังจากที่เปลี่ยนมาทำเกษตรแบบ  ธรรมชาติตามที่ทางเครือข่ายแนะนำ เราได้เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจอีกครั้ง พบว่าคนที่มีสารพิษตกค้างในร่างกายนั้น สารพิษลดลง และบางคนก็ไม่พบเลย เมื่อได้เห็นผลอย่างนั้น ชาวบ้านที่ยังลังเลอยู่ก็เข้ามาร่วมกับทางเครือข่ายมากขึ้น” ร่วมฟื้นวัฒนธรรม มุ่งสู่ชุมชนต้นแบบ แต่เดิมนั้นชาวนามีวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความร่วมไม้ร่วมมือกันของชุมชน จากการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตของข้าวหอมมะลิแล้ว ชาวบ้านยังแนวคิดที่จะเพิ่มทุนทางวัฒนธรรมที่จะสามารถทำควบคู่กันไปได้ด้วย เมื่อสมาชิกในชุมชนได้พบปะให้คำแนะนำในการทำการเกษตรซึ่งกันและกันแล้วจึงได้ฟื้นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันมาแต่อดีตด้วย การลงแขกไถนาหว่านของคนในหมู่บ้านในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม จึงกลับมาอีกครั้ง

 

               และเมื่อข้าวออกรวงจนสุกได้ที่ ก็มีการลงแขกเกี่ยวข้าวนาหว่านในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีการขอแรงสีข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง และจากช่วงพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม ก็มีการจัดงาน”กินเข่าใหม่ปลามัน” (“เข่า” หมายถึง “ข้าว”เป็นการออกเสียงสำเนียงโคราช) หรืองานกินข้าวเย็น เป็นการจัดงานรื่นเริงเลี้ยงฉลองหลังจากการตรากตรำทำนามาทั้งปี ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมของชาวนาในแถบจังหวัดนครราชสีมา

 

               ผู้ใหญ่สำราญกล่าวในตอนท้ายว่า “เราได้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยใช้ความรู้ต่างๆ มาฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิ การปรับปรุงดินการผลิตปุ๋ยชีวภาพ และความรู้ด้านต่างๆ ที่เกษตรกรควรมี เราจึงมุ่งหวังที่จะพัฒนาผู้นำที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของตำบลของเรา ยกระดับตำบลโนนไทยให้เป็นตำบลต้นแบบของการทำงานแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร เพื่อให้ชาวนาหรือเกษตรกรไทยสามารถแก้ปัญหาและหลุดพ้นจากความยากเป็นคำกล่าวอ้างที่พูดถึงกันทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะความยากจนที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยและนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราอยากให้รู้ว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน กว่าจะถึงวันที่พวกเขาเอาชนะความยากจนได้นั้น…ต้องใช้เวลา

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

 

update: 09-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code