ลดตายบนถนน อย่าสนแค่เทศกาล

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ลดตายบนถนน อย่าสนแค่เทศกาล thaihealth


"อุบัติเหตุบนท้องถนน" ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยหากย้อนดูสถิติ "7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์" ของ 5 ปีล่าสุด พบว่า ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 364 ศพ บาดเจ็บ 3,559 คน อุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง ปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 442 ศพ บาดเจ็บ 3,656 คน อุบัติเหตุ 3,447 ครั้ง ปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 390 ศพ บาดเจ็บ 3,690 คน อุบัติเหตุ 3,690 ครั้ง ปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 418 ศพ บาดเจ็บ 3,897 คน อุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง และปี 2562 มีผู้เสียชีวิต 386 ศพ บาดเจ็บ 3,442 คน อุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง


และหากไปเทียบกับ "เทศกาลปีใหม่" ก็ไม่ต่างกัน โดยสถิติช่วง 7 วันอันตรายช่วงส่งท้ายปีเก่า – ต้อนรับปีใหม่ ของ 5 ปีล่าสุด พบว่า ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 341 ศพ บาดเจ็บ 3,117 คน อุบัติเหตุ 2,997 ครั้ง ปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 380 ศพ บาดเจ็บ 3,505 คน อุบัติเหตุ 3,379 ครั้ง ปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 478 ศพ บาดเจ็บ 4,128 คน อุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง ปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 423 ศพ บาดเจ็บ 4,005 คน อุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง และปี 2562 มีผู้เสียชีวิต 463 ศพ บาดเจ็บ 3,892 คน อุบัติเหตุ 3,791 ครั้ง


"การโหมกระพือสร้างกระแสเฉพาะช่วงเทศกาลอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา" โดยขอเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (Thai RSC) ที่อ้างอิงสถิติจากศูนย์รับแจ้งเหตุบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในที่นี้ขอใช้ตัวอย่าง 7 วันเช่นกัน แต่เป็นวันที่ 2-8 พ.ค. 2562 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 280 ศพ แม้จะดูน้อยกว่าช่วงเทศกาล แต่ก็ถือว่ายังเป็นจำนวนที่สูง ดังที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่รายงานประจำปี 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 9 ของโลก


อะไรคือสิ่งที่ควรพิจารณาในเรื่องนี้ ประการแรก "สาเหตุของอุบัติเหตุ..ในเทศกาลคือเมา นอกเทศกาลคือซิ่ง" แต่จะไปโทษว่ากฎหมายอ่อนก็คงไม่ได้ เพราะความผิดฐานเมาแล้วขับมีโทษอาญาตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 1 ปี (กรณียังไม่เกิดอุบัติเหตุ) ไปจนถึง 10 ปี (กรณีมีผู้เสียชีวิต) อีกทั้งยังมีโทษทางปกครองอย่างการระงับหรือเพิกถอนใบขับขี่ ส่วนการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็มีอัตราโทษคล้ายกัน ต่างกันบ้างตรงที่หากยังไม่เกิดอุบัติเหตุก็ยังไม่มีโทษจำคุกเหมือนเมาแล้วขับเท่านั้น คำถามคือที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพียงใด


ทั้งนี้หากเป็นไปได้ "ควรมีการเปิดเผยสถิติการดำเนินคดีทางจราจรในทุกเดือน" ซึ่งจะคล้ายกับการที่ สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยสถิติคดีจราจรช่วง 7 วันอันตราย 11-17 เม.ย. 2562 มีคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เข้าสู่ศาลชั้นต้น 27,828 คดี หรือ 30,397 ข้อหา โดย 3 อันดับแรกคือ เมาแล้วขับ 26,875 ข้อหา ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ 3,021 ข้อหา เสพยาเสพติดแล้วขับรถ 439 ข้อหา มีจำเลยทั้งสิ้น 29,845 คน แบ่งเป็นคนไทย 28,139 คน ชาวต่างชาติ 1,706 คน เชื่อว่าน่าจะช่วย "ป้องปราม" ได้ในระดับหนึ่งเพราะเห็นว่ามีการดำเนินคดีจริง


ประการต่อมา..ถึงเวลาแล้วที่ "การดื่มอย่างรับผิดชอบ (Drink Responsibility)" ต้องถูกพูดถึงกันอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาในประเทศไทยเรื่องนี้ยังไม่ได้ รับการชูขึ้นเป็นวาระสำคัญเท่าใดนักเมื่อเทียบกับการรณรงค์ให้เลิกดื่มอย่างเด็ดขาด ซึ่งพบว่าได้ผลไม่มากนัก เห็นได้จากยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


ลดตายบนถนน อย่าสนแค่เทศกาล thaihealth


ตัวอย่างเรื่องเล่าที่น่าสนใจจากโครงการ "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขับเคลื่อนการสร้างมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยชุมชนเพื่อหวังลดอุบัติเหตุ อาทิ สิงห์ทอง หนุนนำสิริสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย ที่ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยากในการห้ามไม่ให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ แต่สามารถปลูกฝังพฤติกรรมการดื่มที่ลดความเสี่ยงลงได้


"เราสร้างนิสัยด้วยการจำกัดพื้นที่การดื่ม เช่น ดื่มในบ้านไม่ต้องออกไปไหน ดื่มแต่พอเหมาะ หรือในกลุ่มเพื่อนก็ควรจะมีสัก 1-2 ราย ที่ต้องร่วมสังเกตอาการ ถ้าไม่ไหวก็ต้องให้หยุด และห้ามเดินทางเป็นอันขาด เราทำเช่นนี้มาหลายปีติดต่อกัน ทำในทุกช่วงที่มีโอกาส และทำให้สถิติอุบัติเหตุของเราในช่วงเทศกาลของปี 2561 เป็นศูนย์" นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย กล่าว


เช่นเดียวกับ สุพรรณ ชัยมี นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในชุมชนมีการใช้ "สถาบันครอบครัว" เป็นด่านแรกในการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ดื่มไม่ให้เดินทางไปไหน ด้วยเชื่อว่าถ้าดื่มอยู่กับบ้านก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่หากเตือนแล้วไม่ฟังก็จะประสานกับตำรวจท้องที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมการดื่มเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ


รวมถึง ทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า "ช่วงเวลาสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมักเป็นช่วงรอยต่อของการดื่ม กล่าวคือเมื่อตั้งวงดื่มแล้ว เครื่องดื่มไม่พอ จะออกมาซื้อใหม่" ซึ่งประเด็นนี้ถูกเน้นย้ำผ่านเสียง ตามสาย ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้เห็นว่าคือช่วงเวลาของการเกิดเหตุมากที่สุด รวมถึงในช่วงเทศกาล ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลพระแท่นจะตั้งจุดตรวจ เพื่อให้บริการสถานที่นอนพัก เครื่องดื่ม ผ้าเย็น คลายความเมื่อยล้า ซึ่งเป็นการตั้งจุดความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจกับผู้คนไปพร้อมกัน


อีกด้านหนึ่ง "มอเตอร์ไซค์หรือจักรยานยนต์ (จยย.) เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเสมอมา" เรื่องนี้เข้าใจได้เพราะเพราะสังคมไทยนั้นผู้คนต้องขวนขวายหารถส่วนตัวมาใช้เนื่องด้วยระบบขนส่งมวลชนไม่สะดวก แต่ด้วยความที่รายได้คนไทยไม่สูงนัก มอเตอร์ไซค์จึงเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงง่ายที่สุดเพราะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับรถยนต์ 4 ล้อ ดังข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า จำนวนยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ใหม่ประจำปี 2561 อยู่ที่ราว 1.9 ล้านคัน และยอด จดทะเบียนสะสมนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาถึง ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ราว 20.8 ล้านคัน


บทความ "มุ่งเป้าความปลอดภัย จยย. ลดเจ็บ-ตาย ติดอันดับโลก" เผยแพร่โดยสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตั้งข้อสังเกตไว้ 1.ระบบการทำใบขับขี่ ที่ชั่วโมงอบรมน้อยเกินไป การสอบข้อเขียนไม่ครอบคลุมความรู้ที่จำเป็น รวมถึง ไม่มีการสอบภาคปฏิบัติบนถนนจริง 2.พฤติกรรมการขับขี่ที่เป็นสาเหตุถึงร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด ไม่สวมหมวกนิรภัย ฯลฯ และ 3.อุปกรณ์ความปลอดภัยเช่น เบรก ABS ที่ต้องมีมาตรการให้ติดตั้งออกมาจากโรงงาน เป็นต้น


ทั้งนี้ต้องย้ำว่า "อย่าทำแค่ช่วงเทศกาล" เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความสูญเสียบนท้องถนน ไม่ว่าการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างความตระหนักรู้ เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดทั้งปีจึงจะได้ผล

Shares:
QR Code :
QR Code