ลดขยะชายฝั่งบ้านบางปู

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ลดขยะชายฝั่งบ้านบางปู thaihealth


ชุมชนชายฝั่งทะเลเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดซึ่งกำลังประสบปัญหาขยะล้นชุมชน จนต้องรวมพลังแก้ไขเพื่อบ้านของพวกเขาเอง


ต่อให้ไม่มีข่าวการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษที่ครึกโครมเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเรื่องจำนวนขยะก็ยังเป็นปัญหาหนักอกของประเทศไทยอยู่ดี


ในปี 2559 ประเทศไทยมีขยะอุตสาหกรรมถึง 37.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ ความสามารถของประเทศในการกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไป ทำได้เพียงร้อยละ 44 เท่านั้น เช่นเดียวกับขยะอุตสาหกรรมอันตรายซึ่งกำจัดได้เพียงร้อยละ 40 จากจำนวนทั้งหมด


ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเล ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุถึงขยะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งประเทศไทยว่ามีจำนวนขยะมากถึง 2.83 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก 339,600 ตัน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 อีกทั้งในจำนวนนี้มีขยะพลาสติก ราวๆ 51,000 ตัน


ปลายทางของขยะเหล่านั้นหนีไม่พ้นการไหลสู่ท้องทะเลและภาพใหญ่ นอกจากสะท้อนปัญหาแล้ว ยังทำให้ชุมชนเล็กๆ อย่างที่บ้านบางปู หมู่ 8 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องการมีส่วนร่วมและ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง ทำให้เรื่องขยะที่เคยเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องรับผิดชอบของคนบางกลุ่ม ถูกพูดถึง อยู่บ่อยๆ


วีรยุทธ อยู่สุข ผู้ใหญ่บ้านบ้านบางปู บอกว่า พวกเขาจะเชื่อมโยงให้คนในชุมชนเห็นว่าหากทะเลมีขยะ นั่นหมายถึงแหล่งทำกินของพวกเขาประสบปัญหาไปพร้อมๆ กันด้วย เช่นเดียวกับบรรดาโรงแรม รีสอร์ท ในละแวก ที่แม้จะไม่ได้หากินกับการจับสัตว์น้ำแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมขยายผลได้ถึงคุณภาพชีวิต ทัศนียภาพและเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยว


"ทุกครั้งที่มีการออกเรือประมง จะมีการซื้ออาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะข้าวกล่อง น้ำเปล่า ติดไปไว้รับประทานบนเรือ เมื่อทานเสร็จแล้ว ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวดน้ำเปล่า ก็จะถูกทิ้งลงทะเล ทำให้ทะเลเต็มไปด้วยขยะ ยิ่งเมื่อน้ำทะเลขึ้นขยะเหล่านี้ก็จะไหลลงสู่ทะเล เวลาน้ำลงขยะบางส่วนก็จะถูกน้ำพัดกลับมาติดชายฝั่ง เกิดความสกปรกอย่างมากและนอกจากขยะที่ถูกทิ้งจากบ้านเรือนริมคลองแล้ว ขยะที่เกิดจากการออกเรือประมงที่มีมากกว่า 200 ลำ ยังเป็นปัญหาที่ชุมชนบ้านบางปู แก้ไม่ตก" หนึ่งในชาวบ้านสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมก่อนหน้านี้


เมื่อเกิดปัญหา เราต้องเปิดใจคุยกันว่าสิ่งนี้จะกระทบกับชุมชนเราอย่างไรบ้าง จึงได้เข้าร่วมโครงการ "ร่วมสร้างชุมชน และท้องถิ่นให้น่าอยู่"ภายใต้การสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)นำมาสู่การตั้งสภาผู้นำชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ชาวชุมชนตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาขยะทั้งบนบกและในทะเลอย่างจริงจัง


"นอกจากการไม่ทิ้ง และสร้างวินัยที่ปลูกฝังกันแต่เด็กแล้ว เอาแค่เรื่องง่ายๆ อย่างการออกทะเล เราได้ขอความร่วมมือให้เจ้าของเรือพกถุงดำไปบนเรือด้วย กำชับลูกน้องโดยเฉพาะที่เป็นแรงงานต่างด้าวว่า เวลาทานอาหารเสร็จ เศษข้าวก็เขี่ยลงทะเลเป็นอาหารปลาได้ แต่ส่วนอื่นๆ ก็ให้ทิ้งลงในถุงดำที่เตรียมไว้ แล้วค่อยเอามาทิ้งถังขยะที่บนบก หรือเอาง่ายๆ  ก็ใช้ตาข่ายของอ้วนเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาใส่ขยะแทนถุงดำก็ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการห้องพักก็ต้องกำชับนักท่องเที่ยวและบริหารจัดการพื้นที่รอบๆของตัวเองให้ดี"


พาขวัญ แสงขาว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านบางปู บอกว่า นอกจากการออกเรือร่วมกันเก็บขยะในทะเลแล้ว ทางสภาผู้นำชุมชนยังสร้างกิจกรรมออกตรวจเยี่ยมกลุ่มเรือประมงด้วย ทั้งนี้เพื่อไปดูว่ามีการใช้ถุงดำเก็บขยะบนเรือหรือไม่ ทั้งตอนออกเรือและตอนกลับขึ้นฝั่ง กลุ่มชาวบ้านจะคอยให้คะแนน และนำข้าวของเครื่องใช้เล็กๆ น้อยไปมอบให้เป็นสินน้ำใจที่ช่วยให้ความร่วมมือ จนเกิดความร่วมมือกันและเป็นสังคมเล็กๆ ของคนที่อยากให้บ้านของตัวเองสะอาดขึ้น


"เราสร้างกลุ่มอนุรักษ์ ร่วมกันลงพื้นที่ ไปสำรวจ ไปร่วมพูดคุย ไม่ได้คิดว่าจะจ้องจับผิดกันแต่อย่างใด ทุกคนต้องช่วยกันลดขยะในคลองและในทะเลให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับกิจกรรมเก็บขยะ ที่แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เขาสามารถช่วยทำให้ดีขึ้นได้"


หากพลิกดูตัวเลขที่มาของแหล่งขยะในทะเล จะพบว่ามวลขยะเหล่านี้ล้วนประกอบด้วยที่มาจาก2แหล่งใหญ่หลักๆ นั่นคือกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน, แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง, บริเวณท่าเรือ, การท่องเที่ยว ชายหาด ขณะที่เหลือคือขยะจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล, การประมง, การท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลถึงระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย


ในวันที่ขยะในท้องทะเลและชายฝั่งอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ชาวบ้านชุมชนบ้านบางปู จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงร่วมแรงร่วมใจ เพื่อไม่ขอซ้ำเติมปัญหา


เพียงคนละเล็กคนละน้อย เริ่มจากใกล้บ้าน บนเรือที่พวกเขาทำมาหากิน กับผู้คนที่พวกเขาเชื่อมโยง เพียงเท่านี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

Shares:
QR Code :
QR Code