ลงแขกดำนาข้าว แบบ New Normal
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
ชาวนา จ.ขอนแก่น พร้อมใจสืบสานประเพณีลงแขกดำนาข้าว สร้างความสามัคคี โดยในปีนี้จัดกิจกรรมแบบ New Normal เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโควิด-19
ที่วัดป่าพุทธญาณรังษี ริมถนนเลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ร.ท.ณรงค์ศักดิ์ ลิ้มวงษ์ทอง อธิบดีอัยการภาค 4 เป็นประธานเปิดกิจกรรมลงแขกดำนาบุญ ประจำปี 2563 ซึ่งคณะกรรมการวัดป่าพุทธญาณรังษี ร่วมกับคนในชุมชนได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยถือฤกษ์ในช่วงวันเข้าพรรษา ทำการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ลงในพื้นที่แปลงนาบุญของทางวัด จำนวน 3 ไร่ ซึ่งในช่วงของการลงแขกดำนานั้น ได้จัดให้มีพิธีขอขมาบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ในการให้นาข้าวปีนี้นั้นได้ผลผลิตให้ได้มากที่สุด ตามแนวทางที่ทางวัดกำหนดคือ การปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ
ทั้งยังคงจัดให้มีวงกลองยาวพื้นบ้าน มาร่วมบรรเลงขับกล่อมให้กับผู้ที่มาร่วมลงแขกดำนา ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนและผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในวัดแห่งนี้ ต่างพร้อมใจกันมาลงแขกดำนากันร่วมกว่า 50 คน ซึ่งผู้ที่มาร่วมดำนาในแปลงนาข้าวนาบุญแห่งนี้นอกจากจะร่วมฟ้อนรำเพื่อขอขมาเจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่แล้ว ยังคงร่วมกันดำนา ที่ทั้งร้อง ทั้งรำ ทั้งดำนา และเต้น ไปด้วย สร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ความรัก ความสามัคคี บนวิถี New Normal อย่างเข้มงวด
พระอาจารย์พันธวัฒน์ ธมมวฑฒโน เลขานุการวัดป่าพุทธญาณรังษี กล่าวว่า แปลงนาข้าวนาบุญ บนพื้นที่ 3 ไร่ของทางวัดแห่งนี้ได้จัดทำขึ้นต่อเนื่องเป็นที่ 3 ติดต่อกัน เดิมในปีที่ผ่านมาวัดได้ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ แต่ปีนี้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการปลูกข้าวของทางวัดนั้นปลอดภัยจากสารเคมีด้วยวิถีอินทรีย์ 100 % ซึ่งเมื่อดำนาตามหลักวิชาการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการดูแลและบำรุงรักษา ซึ่งญาติธรรมของทางวัดที่เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเกษตรและการทำพืชผักสวนครัว
ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในในหลวง ร.9 นั้นจะมากำกับและควบคุมดูแลร่วมกันกับคณะกรรมการของวัด ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตแล้วข้าวปลอดสารพิษของวัดจะนำมาจำหน่ายเพื่อนำไปเป็นทุนในการปลูกในปีต่อไป รวมทั้งการแจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นสนองพระราชดำริในองค์สมเด็จพระสังฆราชอีกด้วย
การลงแขกดำนา เป็นการคงไว้ซึ่งวิถีของคนชนบท ซึ่งวัดของเรานั้นยังคงความเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนนั้นสามารถมาพักผ่อน มาสนทนาธรรมมาเรียนรู้ในพระธรรมคำสั่งสอน และดำเนินกิจกรรมของสงฆ์ในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ดังนั้นการจัดสรรพื้นที่ให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างคลังอาหารไว้ในเขตตัวเองด้วยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ควบคู่กับการนำเอาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ประจำถิ่นมาผสมผสาน ทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่วัดร่วมกับชุมชนและผู้ที่สนใจจะร่วมกันสืบทอดและสืบสานประเพณีต่อไป
พระอาจารย์พันธวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า จะเห็นได้ว่าในการลงแขกดำนาวันนี้ทุกขั้นตอน เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ผู้ที่เข้ามาในเขตวัดจะต้องถูกตรวจคัดกรอง จากเจ้าหน้าที่ อสม. ที่มาตรวจวัดไข้ การให้บริการหน้ากากอนามัย การให้บริการเจแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยเฉพาะกับการเว้นระยะห่างในการจัดกิจกรรมแม้กระทั่งการดำนาที่ทุกคนก็ต้องยืนห่างกันเพื่อความปลอดภัย ตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดด้วย