ลงพื้นที่หมอชิตตรวจเข้มสถานีโดยสารปลอดน้ำเมา

 

“กรมขนส่ง”ผนึกเครือข่ายงดเหล้า ลงพื้นที่ตรวจเข้มหมอชิต รับมือปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนา กระตุกผู้ขับขี่ ผู้โดยสารปฏิบัติตามกฎหมายไม่ดื่มบนรถ บขส.ต้องปลอดน้ำเมาทุกชนิด ชี้หากฝ่าฝืนจับดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด เชื่อมาตรการนี้รับมืออุบัติเหตุเจ็บ-ตายสงกรานต์ได้

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “สถานีขนส่งปลอดเหล้า…ห้ามดื่มบนรถ” โดยลงพื้นที่ตรวจสถานีขนส่งหมอชิต ห้ามไม่ให้มีการขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งติดสติกเกอร์ที่รถบขส.ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เพื่อให้ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และประชาชนเกิดการรับรู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์

นายจิรุตม์ กล่าวว่า ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจำกัดการเข้าถึง จำกัดพื้นที่ในการดื่ม ซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ จากงานวิจัยล่าสุดพบว่าคนไทย สามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลาเพียง 4.5 นาที ดังนั้นหากสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่งปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงควบคุมไม่ให้มีการดื่มบนรถ บขส. รถร่วมบริการต่างๆที่อยู่ในการกำกับดูแลของ บขส. มั่นใจว่าปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การก่อเหตุรำคาญ ย่อมลดลงได้ การรณรงค์ในวันนี้เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้ พนักงาน บขส.พนักงานรถร่วมบริการต่างๆ และประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสาร ปฏิบัติตามกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถและห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณรัฐวิสาหกิจ เพราะบขส. เป็นรัฐวิสาหกิจ

“ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้ประชาสัมพันธ์ กฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถอย่างกว้างขวาง รวมถึงการเผยแพร่สติกเกอร์ และป้ายประชาสัมพันธ์ไปทุกสถานีขนส่งผู้โดยสาร ทั้ง บขส.และ ขสมก. ทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจกฎหมายมากขึ้น สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มั่นใจว่าจะช่วยตอกย้ำให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนได้รับรู้และเข้าใจกฎหมาย มีส่วนร่วมสนับสนุนและปฏิบัติตามให้มากที่สุด เนื่องจากมาตรการนี้มีส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุอย่างมาก “รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่ง จำกัด กล่าวว่า บขส.เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยบริการด้านความปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆที่มีวันหยุดยาว อาทิ สงกรานต์ และปีใหม่ ปัจจุบัน บขส.มีรถโดยสาร จำนวน 854 คัน พนักงานบนรถโดยสาร 1,500 คน สถานีขนส่งผู้โดยสารในการกำกับดูแล7สถานี และสถานีที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนมาก ซึ่งแต่ละปีมีผู้ใช้บริการ บขส.ประมาณ 40 ล้านคน ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายกำหนดให้บนรถเป็นพื้นที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกำหนดให้บริเวณรัฐวิสาหกิจเป็นพื้นที่ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทาง บขส. โดยความร่วมมือจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสสส.ได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการกำหนดให้สถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศเป็นพื้นที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี

“หากพบว่ามีการฝ่าฝืน แอบนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มบนรถโดยสาร หรือนำขึ้นมาดื่มโดยไม่รู้ บขส.ได้กำหนดแนวทางในการว่ากล่าวตักเตือน เพื่อขอความร่วมมือก่อน ในเบื้องต้น และหากยังไม่เป็นผลก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินคดีตามกฎหมายทันที อย่างไรก็ตาม สถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศในวันนี้ต้องเป็นสถานีปลอดเหล้า เช่นเดียวกับปั๊มน้ำมันที่ไม่มีการขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเมื่อมีกฎหมายนี้ออกมาก็ทำให้ง่ายขึ้นในทางปฏิบัติ เป็นการจำกัดการเข้าถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลดปัญหาและไม่รบกวนการพักผ่อนบนรถของผู้โดยสารท่านอื่นด้วย”นายวุฒิชาติ กล่าว

ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า ความจำเป็นในการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เนื่องจากสงกรานต์ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ดื่มแล้วขับ แต่คนที่ดื่มบนรถขณะเล่นน้ำสงกรานต์ หรือระหว่างเดินทาง ก็มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ใช้รถยนต์ เช่น รถปิกอัพ หากเทียบกับรถประเภทอื่นๆ พบว่า ปี 2554 คนตายจากปิกอัพ 47 ราย ปี 2555 เพิ่มเป็น 67 ราย ที่สำคัญคือ ผู้เสียชีวิตจากปิกอัพ เพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่าและเป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุหมู่ของรถปิกอัพที่ขนคนไปเล่นน้ำสงกรานต์มีการพลิกคว่ำ หรือเทกระจาด จนทำให้ยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์บนยานพาหนะ บนพื้นที่สาธารณะ บนถนน ถือเป็นการดื่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสูงกว่าการดื่มในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาเฉียบพลัน

“เชื่อว่าการประชาสัมพันธ์ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ซึ่งรวมถึง รถ บขส. ด้วย ตลอดจนการไม่ให้ขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนรับทราบและเห็นถึงความสำคัญ ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดเอาจริงเอาจัง ที่สำคัญคือต้องตัดไฟแต่ต้นลม มิใช่เพิกเฉยปล่อยให้พฤติกรรมการดื่มบนรถเกิดขึ้นจนเป็นคนกลุ่มใหญ่ซึ่งจะจัดการได้ยาก ต้องปรามตั้งแต่ต้น หากบังคับใช้กฎหมายจริงจังจะช่วยหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้รถใช้ถนนช่วงที่มีประชาชนเดินทางท่องเที่ยว เป็นจำนวนมากได้” นายธีระ กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code