‘ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู’ Spark U 3 จว.ชายแดนใต้
ที่มา : เว็บไซต์ MGR Online
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ MGR Online
มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู รวมพลังปลุกใจเมืองใต้ สร้างพื้นที่สุขภาวะให้หัวใจเป็นหนึ่งเดียว สืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชายแดนใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณกำแพงข้างประตูวังยะหริ่ง จ.ปัตตานี ชาวบ้านจำนวนมากเข้าร่วมงาน “มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู” รวมพลังปลุกใจเมืองใต้ สร้างพื้นที่สุขภาวะให้หัวใจเป็นหนึ่งเดียว โดยแผนงานการสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน หรือ สสย. ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กลุ่มดอกไม้ยิ้มยะลา จัดงานมหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู เพื่อเป้าหมายสานสายใยหัวใจชาวใต้ให้ได้ไหวเต้น จุดประกาย Spark พลังเยาวชน พลเมืองคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาขยับปีก ฝันสร้างสรรค์ชีวิตสุขภาวะ โดยมี นายยูกิฟลี กาเร็ง ปลัดอำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และประชาชนในพื้นที่จำนวนมากเข้าร่วม
นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเปิดพื้นที่ชุมชนเป็น 4 ห้องแห่งการเรียนรู้ ห้องเรียนที่ 1 บ้านมะรวด ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ห้องเรียนที่ 2 บ้านป่าหลวง ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ห้องเรียนที่ 3 บ้านปูยู ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี และห้องเรียนที่ 4 บ้านท่าแร่ ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพัทลุงยิ้ม จ.พัทลุง สงขลาฟอรั่ม จะนะ สวนกง สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น เลย และร้อยเอ็ด ทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายมาร่วมลงพื้นที่เรียนรู้ห้องเรียนทั้ง 4 ที่ จ.ปัตตานี
ภาคีเครือข่ายยังได้นำวัฒนธรรมมาร่วมแสดงในเวทีเพื่อมาแลกเปลี่ยนอีกด้วย โดยมีทั้งมโนราห์จาก จ.พัทลุง คณะหมอลำหุ่น สินไซโมเดลจาก จ.ขอนแก่น กลุ่มหน่อไม้หวานจาก จ.เลย ในแต่ละห้องเรียนจะนำสิ่งดีๆ ในชุมชนมาเป็นเครื่องมือจุดพลัง Spark ให้เกิดแรงบันดาลใจ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างพลังมิตรภาพอันดีงาม และพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ร่วมลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรียนรู้ประวัติพื้นที่ปฏิบัติจริงทั้ง 4 ห้องเรียน 4 ชุมชน ก่อนที่แต่ละชุมชนจะยกห้องเรียนมาจัดแสดงร่วมกันที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนรมิตถนนหน้าวังเจ้าเมืองยะหริ่ง เป็นถนนสายวัฒนธรรม ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมการแสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และร่วมทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การทำผ้ามัดย้อม ประดิษฐ์งานหัตถกรรมท้องถิ่น เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านโบราณ และอื่นๆ อีกมากมาย
มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยสายใยด้วยหัวใจมลายู เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Spark U ใช่เลย ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 จากโครงการ Spark U ปลุกใจเมืองใต้ ในระยะที่ 1 ปี 2559-2560 โดยในปีนี้โครงการได้ดำเนินกิจกรรมปลุกใจเมืองใน 7 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส และ จ.ปัตตานี
พ.ต.ต.ไซด์ยิดอันวา อันดิสรุส นายกเทศมนตรีเทศบาลยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยสายใยด้วยหัวใจมลายู เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำร่วมกันกับ 4 ภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชน
“ทั้งหมดนี้เป็นการระลึกถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วัฒนธรรม และการละเล่น มีปรากฏอยู่ใน 7 หัวเมืองในอดีต และในอดีตพื้นที่ 3 จังหวัดมีการปกครองโดย 7 หัวเมือง หนึ่งใน 7 หัวเมืองนี้คือ ยะหริ่ง เป็นเมืองเก่า วัฒนธรรมทั้งหมดเรายังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันเดิมจากอดีตทั้งหมดอยู่ถึงปัจจุบัน”
กิจกรรมทั้งหมดก็ได้ปรากฏบนเวทีให้พี่น้องที่มาร่วมงานได้ชม ทั้งมโนราห์ ปันจักสีลัต ขับร้องเพลงอานาซีด การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก
นายริสมี ยีดารอมา ซึ่งได้นำภูมิปัญญาการสลักลายไม้จากบ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า การแกะสลักไม้ นับเป็นแหล่งเดียวที่มีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะแกะสลักไม้เป็นเครื่องใช้โบราณ ทั้งกระต่ายขูดมะพร้าว โต๊ะวางพระคัมภีร์อัล-กุรอาน (ฆาฮา) ภาชนะใส่กับข้าวของชาวประมงเวลานั่งเรือออกทะเล (จือปู)
ส่วนราคา เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับเนื้องานและขนาด ซึ่งจะขายได้เรื่อยๆ จากการนำไปจัดแสดงโชว์สินค้าในงานต่างๆ วันนี้ก็ได้นำมาจัดแสดงให้พี่น้องภาคีเครือข่ายที่มาจาก 4 ภาคได้เห็น เขาก็ตกใจกับสิ่งที่ได้นำมาโชว์ ซึ่งปัจจุบันงานฝีมือในลักษณะนี้ไม่ค่อยมีคนรุ่นหลังทำได้ แม้กระทั่งจะหาผู้ที่มาเรียน และฝึกฝนที่จะสอนให้คนรุ่นหลัง ปัจจุบันเรายังหาไม่ได้เลย
ส่วน นายปริพนธ์ วัฒนขำ กลุ่มหน่อไม้หวาน และเป็นเครือข่าย Spark U จ.เลย กล่าวว่า อยู่ภาคอีสาน วันนี้มาให้กำลังใจพี่น้องพิราบขาว และเครือข่าย Spark U ภาคใต้ ซึ่งได้นำวัฒนธรรมที่เป็นเพลงอีสาน และมีการแต่งเพลง Spark มลายูมาร้องด้วย เราแต่งกันที่นี่ และร้องที่นี่
“ได้เห็นวิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวใต้ รู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องราวเดียวกันจากทุกๆ ภาค กลุ่มพี่น้องชาวใต้มีความเข้มแข็ง แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่บอบบางก็ตาม คนที่ทำงานในด้านนี้ แล้วสภาพของความเป็นพื้นที่บางสิ่งบางอย่าง ก็ต้องเอาบริบทของพื้นที่เป็นตัวตั้ง มาเห็นก็ประทับใจ”