ร้อยละ 81 ดื่มกับเพื่อนก่อนเกิดอุบัติเหตุ

 

ผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวทั้งสงกรานต์และปีใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติอย่างชัดเจน โดยเพิ่มเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกันทั้งการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรและการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่น

ผู้บาดเจ็บเพศชาย และผู้บาดเจ็บวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นในสัดส่วนสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

นอกจากนั้นยังพบว่า ในช่วงเทศกาลมีการเกิดเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหมู่ การบาดเจ็บที่มีคู่กรณี การบาดเจ็บในกลุ่มคนเดินถนนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างชัดเจน โดยเวลาในการเกิดเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงปกตินอกเทศกาลมีความใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างจากช่วงสงกรานต์ซึ่งมีจำนวนผู้บาดเจ็บในเวลากลางวันสูงกว่า

การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาล ทั้งในด้านจำนวนผู้บาดเจ็บที่ดื่มก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มเยาวชน การมีคู่กรณีดื่มสุราก่อนเกิดเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บที่ไม่ได้ดื่ม แต่มีคู่กรณีดื่มสุรา และระยะเวลาที่ใช่ในการดื่มก่อนเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บมีปริมาณการบริโภคเฉลี่ยที่จัดอยู่ในเกณฑ์สูงมาก

อย่างไรก็ตาม พบว่า ปริมาณการบริโภคเฉลี่ยของผู้บาดเจ็บรุนแรงในช่วงนอกเทศกาลสูงกว่าในช่วงเทศกาล เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ผู้บาดเจ็บดื่มก่อนเกิดเหตุสูงที่สุดทั้งในและนอกเทศกาล โดยผู้บาดเจ็บทั้งหมดได้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอง กว่าครึ่งนั้นซื้อจากร้านขายของชำ และประมาณ 3 ใน 4 ดื่มกับเพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ก่อนเกิดเหตุ โดยผู้บาดเจ็บประมาณ 2 ใน 3 ดื่มที่บ้านตนเอง และบ้านของเพื่อน นอกจากนี้ยังพบว่า เวลาในการเริ่มดื่มมีความสอดคล้องกับเวลาในการเกิดเหตุ

 

เมื่อพิจารณาจากการบริโภค จะพบว่า ผู้บาดเจ็บในช่วงปีใหม่มีสัดส่วนที่ดื่มในปริมาณน้อย (ต่ำกว่า 50 กรัมเอธานอล) สูงกว่าช่วงเวลาอื่น ในขณะที่ช่วงสงกรานต์และช่วงนอกเทศกาลมีสัดส่วนผู้บาดเจ็บที่ดื่มหนักมากกว่า 100 กรัมใกล้เคียงกัน

สุราสี เป็นเครื่องดื่มที่ผู้บาดเจ็บดื่มมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ (ร้อยละ 41.8) ในขณะที่ช่วงสงกรานต์ผู้บาดเจ็บดื่มเบียร์สูงสุด (ร้อยละ 49.9) ในขณะที่ช่วงเวลานอกเทศกาลนั้น ผู้บาดเจ็บร้อยละ 39.9 ดื่มเบียร์ก่อนเกิดเหตุ ซึ่งใกล้เคียงกับการดื่มสุราขาว

ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์มีสัดส่วนผู้บาดเจ็บที่ดื่มเครื่องดื่มมากกว่าสองชนิดสูงกว่าช่วงเวลาอื่น โดยผู้บาดเจ็บกว่า 3 ใน 4 จะดื่มกับเพื่อนก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ (ร้อยละ 81) ในขณะที่ผู้บาดเจ็บในช่วงปีใหม่มีการดื่มคนเดียวสูงกว่าช่วงเวลาอื่น นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บเกือบทั้งหมดซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มก่อนเกิดเหตุเอง และประมาณอีกหนึ่งในสามดื่มที่บ้านของคนอื่น โดยในกลุ่มผู้บาดเจ็บในช่วงปีใหม่ที่สัดส่วนซื้อเครื่องดื่มเองอยู่ที่ร้อยละ 87.2 ซึ่งมากกว่าช่วงสงกรานต์ ร้อยละ 85.8 และช่วงปกติ ร้อยละ 82.6

 

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

Shares:
QR Code :
QR Code