ร่าง พ.ร.บ.ประกอบอาชีพฯ สุขภาพแรงงานนอกระบบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ร่าง พ.ร.บ.ประกอบอาชีพฯ สุขภาพแรงงานนอกระบบ thaihealth


ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงานมากถึง 38.3 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคนกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค ทั้งในภาคเกษตร ภาคการผลิต และการบริการ ซึ่งแรงงานนอกระบบ ถือเป็นกลุ่มอาชีพอิสระที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าแรงงานนอกระบบ


ทว่าแรงงานนอกระบบยังคงได้รับสิทธิการคุ้มครองทางสังคมน้อยมากหากเทียบกับแรงงานในระบบ เพราะด้วยข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและโรคอันเกิดจากการทำงานซึ่งไม่ได้รับการดูแลและแก้ไข ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบอยู่ในสภาพที่แทบจะย่ำแย่ การป้องกันหรือการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานในกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานอย่างจริงจังจึงจะประสบผลสำเร็จ


"การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในพื้นที่ชนบท ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ ยังคงเป็นเรื่องของสุรา บุหรี่ ความเครียด และการไม่ออกกำลังกาย" นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สาเหตุปัญหาสุขภาพของแรงงานนอกระบบ


อุปสรรคของการเข้าเข้าถึงสิทธิและความคุ้มครองนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานนอกระบบเป็นอาชีพอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรง กับใครหรือมีนายจ้างที่คอยจัดการให้ ซึ่งหากจะแยกลักษณะการประกอบอาชีพจะพบว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ระบบครอบครัวที่ไม่มีลูกจ้างหรือถ้ามี ก็จะได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคม 2. รูปแบบของผู้รับงานมาทำที่บ้าน และ 3. การรับจ้างในภาคบริการ ด้วยความเป็นอิสระนี้เอง ทำให้เมินเฉยต่อการจัดการตนเองและ สิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อความปลอดภัย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามขับเคลื่อนโครงการความปลอดภัยและ อาชีวะอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ด้วยการทำบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ แผนการทำงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมและการป้องกันโรคภาคแรงงานนอกระบบ พร้อมทั้งบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการสร้างเสริมภาพ โดยการทำงานในระยะแรกเราได้พิจารณากลุ่มอาชีพที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากกระจายในทุกพื้นที่และมีความเสี่ยงสูง จำนวน 5 กลุ่มอาชีพมาดำเนินการเพื่อการส่งเสริมป้องกันโรค ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มแกะสลักหิน กลุ่มตัดเย็บผ้า และกลุ่มคัดแยกขยะ


การทำงานที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากในเรื่องนี้ มีกลุ่มแรงงานเป้าหมายสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น แท็กซี่ ที่มีปัญหาในเรื่องของวัณโรค อาจจะเริ่มสร้างระบบการคัดกรองจากการต่อใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งในเรื่องนี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการ ในเรื่องของการคัดกรองโรคให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ภาครัฐต้องวางยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของคนในกลุ่มแรงงานนอกระบบให้ชัดเจน เช่น การนำเข้าสารเคมีหรือวัตถุอันตรายต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานโดยตรง ว่ามันคุ้มค่ากับภาษีที่รัฐ จะได้จากผู้นำเข้าหรือไม่ แต่เราต้องมาคอยเยียวยาและรักษาสุขภาพให้กลุ่มแรงงานที่ป่วยมากมายเพียงใด การส่งเสริมการเข้าถึงและการจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับแรงงานนอกระบบ ในระยะสั้นนี้ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พยายามสนับสนุนให้แรงงานเข้าถึงการจัดบริการอาชีวอามัย ตั้งแต่การพัฒนารูปแบบ ทดลองนำร่อง และขยายผล และในปี 2556 กรมควบคุมโรค มีนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนา และร่วมมือกับเครือข่ายภายในและนานาชาติ โดยให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สนับสนุนเครือข่ายระดับจังหวัดโดยเฉพาะ รพ.สต.ดำเนินงานจัดบริการภาคเกษตรกร ภายใต้ชื่อ "คลินิกเกษตรปลอดโรค" ตลอดจน ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการอาชีวอนามัยเชิงรุกมากขึ้น รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจากการทำงาน การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาอาสาสมัครอาชีวอนามัยชุมชน (อสอช.) ที่สำคัญคือการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูล ด้านโรคจากอาชีพกลุ่มแรงงานนอกระบบ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ซึ่งฐานข้อมูลจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบริหารจัดการปัญหาได้ง่ายขึ้น 


ร่าง พ.ร.บ.ประกอบอาชีพฯ สุขภาพแรงงานนอกระบบ thaihealth


ส่วนในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการคุ้มครองในระยะยาวต่อเนื่อง นพ.สุเทพ กล่าวว่า เราพยายามผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้ร่างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยกฎหมายนี้จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองเรื่องสุขภาพอนามัยได้ดีขึ้น


ขณะที่ นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เพราะแรงงานนอกระบบเป็นอาชีพอิสระทำให้การบริหารจัดการเป็นไปได้ยาก เช่น ไม่มีนายจ้าง ไม่มีสวัสดิการ หลากหลายอาชีพและมีบริบท แตกต่างกัน เคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนงานบ่อย ไม่มีสถานที่ทำงานชัดเจน ไม่มีความรู้หรือ ขาดการป้องกันอันตรายจากการทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงงานนอกระบบเข้าไม่ถึงบริการอาชีวอนามัย จากการคัดกรองสุขภาพของคนงาน ที่ทำงานนอกระบบได้ตามเป้าหมาย 4.2 แสนราย จากจำนวนทั้งหมด 21.4 ล้านคน พบว่า แรงงานนอกระบบยังเผชิญต่อปัญหาโรคไม่ติดต่อ และมีความเสี่ยงในอัตราที่น่าเป็นห่วง โดยกลุ่มอาชีพเกษตรกร ยังมีผลตรวจเลือด ที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูง 36.7% กลุ่มคนขับแท็กซี่ มีปัญหาเรื่องของโรควัณโรค ในอัตราเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คนงานแกะสลักหิน มีปัญหาเรื่องของการได้ยิน 96% และมีพังผืด ในปอด 100% คนงานเย็บผ้าตามบ้าน เสี่ยงต่อ ปัญหาฝุ่นฝ้ายในระดับปานกลางถึงสูง 52% คนงานเก็บขยะทั่วไป มีปัญหาสุขภาพเสี่ยงต่อ โรคติดต่อ 26.42% ขณะที่คนเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงต่อสารเคมีโลหะหนักปนเปื้อนสูง 66.05%


"เราไม่อยากให้งานอาชีวอนามัย เป็นเรื่องของการฟื้นฟู เราอยากให้เป็นเรื่องของงานส่งเสริมและป้องกัน ซึ่งจะเป็นผลดี ในระยะยาวทั้งตัวแรงงานนอกระบบและ ภาครัฐ" นพ.ปรีชา กล่าวทิ้งท้าย


ทางด้าน นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการโครงการพัฒนานโยบายและกลไกการเข้าถึงอาชีวอนามัย สสส. กล่าวว่า จากการทำงานเพื่อการส่งเสริมป้องกันโรคให้กับแรงงานนอกระบบมานานกว่า 12 ปี พบว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องของความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้ โดยจะพบว่า กระทรวงแรงงานได้ผลักดันให้เกิดการออมตามมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ก็พบว่าผู้ที่เข้ามาสมัครจำนวนมากคือ ผู้สูงอายุ และก็ลาออกไป ขณะที่วัยทำงานยังสมัครไม่มากนัก


อย่างไรก็ตามก็มีความก้าวหน้าในอีกหลายด้านที่ทำให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีเจ้าภาพในการดูแลเริ่มมีระบบในการเข้ามาดูแลมากขึ้น โดยกระทรวงแรงงานมีแผนกที่เรียกว่าคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และมียุทธศาสตร์ และแผนงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพแรงงานนอกระบบ โดยขณะนี้มีแผนส่งเสริมร่วมกันเป็นฉบับที่ 2 แล้ว รอเสนอเข้า ครม. จึงเชื่อว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบเพื่อการคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้น


สิ่งที่เราเน้นย้ำและพยายามทำกัน คือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางที่สามารถบอกถึงข้อมูลด้านสุขภาพองค์รวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้จากหน่วยงานที่จะเข้าช่วยเหลือ และการพัฒนากลไกพื้นที่ระดับย่อย เช่น ผู้นำ อสม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดบริการสาธารณสุข เชิงรุกให้มากขึ้น และท้องถิ่นเองต้องช่วยบันทึกและจัดเก็บข้อมูลฐานอาชีพของ แต่ละคนด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด


"ภายใต้โครงการทั้งหมด เราจะมุ่งเน้น ในเรื่องของ Selfcare คือ ทำอย่างไร ให้ภาคแรงงานนอกระบบมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการตนเองและสภาพแวดล้อม เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน" นางอรพิน กล่าว


ในกลุ่มคนวัยทำงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญ ในการสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานนอกระบบย่อมมีความจำเป็นด้วยเช่นกัน ซึ่งการจัดบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย จะประสบความสำเร็จได้ทุกฝ่ายๆ จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และช่วยกันผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code