ร่วมใจไขปัญหาสุรา-ยาสูบ
ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเพื่อน และคนรอบข้างเท่านั้น ที่เป็น ปัจจัยกระตุ้นให้บุหรี่ และสุรา เป็นปัจจัย 5 ที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของคนไทย แต่สภาพสังคมในชุมชนและท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่ สร้างนักสูบ และนักดื่มหน้าใหม่ให้เกิดขึ้น
แฟ้มภาพ
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งมิตรภาพ และการเข้ากลุ่มส่วนมากมักจะเริ่มต้นจากวงเสวนาภายในชุมชนที่อยู่อาศัย การดื่มสุรากลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ และวงสุรามักจะมาพร้อมกับการพบปะ สังสรรค์ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาทั้งสุรา และยาสูบ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างจิตสำนึก และรณรงค์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเริ่มตั้งแต่ใน พื้นที่ชุมชน ที่ต้องเริ่มเปิดมุมมองเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน ก่อนพัฒนา ไปสู่การวางแนวทางการ ลด ละ เลิก ให้กับสมาชิกในชุมชน
หนึ่งในความเคลื่อนไหว ของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ลด ละ เลิก สุรา และบุหรี่ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ หรือ สสส. เดินหน้าทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และสมาชิกของชุมชน ที่ตระหนักถึงอันตรายของอบายมุข ที่เข้ามาใกล้เด็ก และเยาวชน ในชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดกับกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และการประกาศเจตนารมณ์ในการรณรงค์ดื่มไม่ขับ
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) กล่าวถึง ผลสำรวจเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับครัวเรือน ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค. 2558 ใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 1,881 แห่ง 15,503 หมู่บ้าน/ชุมชน 1,610,198 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 4,250,971 คน
พบสถิติที่น่าตกใจว่า มีครอบครัวที่มีสมาชิกสูบบุหรี่มากถึง 244,640 ครัวเรือน โดยแต่ละครอบครัวมีสมาชิกสูบบุหรี่ เฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน นอกจากนี้ ข้อมูลการเจ็บป่วยพบว่า ร้อยละ 36.87 เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคปวดข้อและข้อเสื่อม ร้อยละ 25.95 ร้อยละ 15.86 โรคเบาหวาน ร้อยละ 10.43 โรคถุงลมโป่งพอง และโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ภูมิแพ้ เป็นต้น
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้การทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ตรงเป้าหมายมากขึ้น และพบว่า ครัวเรือนที่มีผู้สูบบุหรี่มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการลด ละเลิก บุหรี่ จำนวน 70,674 ครัวเรือน หรือ ร้อยละ 86.20 โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้ลด ละ เลิก บุหรี่ คือ ห่วงสุขภาพของคนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย
ในขณะที่ผลสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุจราจร ระดับครัวเรือนว่า มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 258,222 ครัวเรือน โดยมีสมาชิกดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 1 คน จำนวน 182,294 ครัวเรือน ซึ่งกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นก็เป็นอีกประเด็นที่น่าห่วง และต้องเร่งรัดลดจำนวนนักดื่มลงเช่น สร้าง "คนต้นแบบครัวครัวปลอดภัย" ในอปท.ที่เข้าร่วม 2.ระดับชุมชนและหมู่บ้าน สร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงโทษการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้น
"การผลักดันให้องค์กรส่วนท้องถิ่นได้มีบทบาทในการจัดการปัญหาเรื่องบุหรี่และ สุรา จะต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อกัน กระตุ้นให้เพื่อนในชุมชนลดการสูบบุหรี่-ลดดื่มด้วยความเข้าใจ สิ่งที่น่าสนใจคือ การให้ท้องถิ่นดำเนินการเรื่องการรณรงค์ด้วยตนเอง กลไกนี้จะทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำมา ช่วยรณรงค์การควบคุมยาสูบในระดับประเทศได้อีกด้วย" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สสส.ได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบ เพื่อนำนวัตกรรมการส่งเสริม และรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก บุหรี่ และ สุรา มาเผยแพร่เป็นกรณีศึกษา และจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ และวิทยากร ลงพื้นที่เป้าหมายต่างๆ เพื่อร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ และให้ชาวบ้านได้มี ส่วนร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาสุรา และบุหรี่ และขยายผลสู่ชุมชนข้างเคียงต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ