ร่วมสร้างพื้นที่สุขภาวะยั่งยืน ลดพฤติกรรมเสี่ยงท้องวัยรุ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยลงพื้นที่ศึกษาดูงาน โคราชเมืองน่าอยู่ : คนเข้มแข็งท้องถิ่นแข็งแรง จ.นครราชสีมา พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงาน "โคราชเมืองน่าอยู่ : คนเข้มแข็งท้องถิ่นแข็งแรง" โดยมีนายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนฯ นำโดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 และผู้บริหาร สสส. ลงพื้นที่โครงการ "โคราชเมืองน่าอยู่ : คนเข้มแข็ง ท้องถิ่นแข็งแรง" เพื่อร่วมรับฟังการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ ณ โรงเรียนหินดาดวิทยา ต.หินดาด อ.ห้วยแถลง และ โรงเรียนสาหร่ายวิทยาคม ต.โนนตูม อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงจำเป็นต้องติดตาม ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นโจทย์สำคัญในการวางแผนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด เราน่าจะเอาสิ่งที่ สสส.สนับสนุนโครงการต่างๆ ออกมาโชว์ โครงการต่างๆ ที่ดีเราต้องเชิญชวนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมกัน เราต้องการสร้างพื้นฐานสังคมให้แข็งแรง ทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ขับขี่อย่างระมัดระวัง เป็นต้น
และโครงการที่ดีตอนนี้คือการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ และเด็กด้อยโอกาส ซึ่ง สสส. ไม่สามารถขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุน และเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ สะท้อนปัญหาและพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การวางมาตรการแนวทางป้องกันและแก้ไขร่วมกัน ผมเชื่อว่า ความแข็งแรงของชาวโคราช จะจุดประกายให้พื้นที่อื่นๆ เห็นความสำคัญของงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาประเทศ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้น
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ โดย จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องกว่า 1,000 โครงการ มีเครือข่ายทางสุขภาพกว่า 350 องค์กรในระดับพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะ เกิดนวัตกรรมรับมือการแก้ไขปัญหาชุมชนครอบคลุม 10 ประเด็น อาทิ ระบบการดูแลเด็กปฐมวัย การจัดการภัยพิบัติ การควบคุมยาสูบ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ระบบบริการสุขภาพรวมถึงสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเครือข่ายชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการจัดการป้องกัน และเฝ้าระวังในพื้นที่ เราผลักกันสังคมโดยการสร้างต้นแบบก่อน สิ่งที่นำร่องในแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน อย่างที่โคราชนำร่องในการแก้ไขปัญหาการตั้งท้องในวัยรุ่น เพราะที่โคราชมีองค์ประกอบพร้อม มีความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ครบครัน
สสส. ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน มีสุขภาวะทั้งกาย จิต ปัญญาและสังคม มีภูมิคุ้มกันในตัวเองต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งเสริมให้มีศักยภาพและมีโอกาสสร้างพื้นที่ในการแสดงตัวตน จนสามารถพัฒนาเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ชุมชนและสังคม ปัจจุบันเกิดแกนนำเด็กและเยาวชนในพื้นที่กว่า 300 คน ในการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ ค่ายเสริมไอเดียสร้างสรรค์ กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต จิตอาสา เชื่อว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญของชาวโคราชช่วยสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังมีกลไกการทำงานที่เชื่อมกับระบบ "ผู้ว่าฯ ช่วยได้" ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่นในระดับพื้นที่ ผ่านการรายงานในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอทำให้ จ.นครราชสีมา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบ และทำให้จำนวนท้องวัยรุ่นในพื้นที่ลดลง
ปัจจุบันสถานการณ์การท้องในวัยรุ่นของจังหวัดนครราชสีมาดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2564 อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 1.01 ต่อพันประชากร ลดลงจาก 1.16 ต่อพันประชากร ในปี 2562 สอดคล้องกับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่มีอัตราคลอดอยู่ที่ 21.06 ต่อพันประชากร ในปี 2564 ลดลงจาก 30.8 ต่อพันประชากร ในปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและปลอดภัย ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ
โดยอัตราการคลอดลดลง แต่กลับเริ่มพบว่าเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ในจังหวัดนครราชสีมา มีการตั้งครรภ์ซ้ำเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 12.89 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.42 ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนให้คุมกำเนิดกึ่งถาวร (ยาฝังคุมกำเนิด) เพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการท้องซ้ำ โดยในปี 2564 มีการคุมกำเนิด ร้อยละ 73.85 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.29 ในปี 2562 ความท้าทายของ จังหวัดนครราชสีมา คือการลดอัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นจาก 25 ต่อพันประชากร ให้เหลือ 12 ต่อพันประชากร